บทความ , อินโฟกราฟิก / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 02.03.2023

ในโลกที่หมุนไปไว เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และซับซ้อนขึ้นทุกวัน ยามที่เราต้องคาดการณ์ผลกระทบในอนาคตของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัว หลายครั้งเราไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถคาดการณ์ผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงได้ครอบคลุม และหากเราเริ่มต้นอย่างไร้ทิศทาง จึงเป็นไปได้ว่าผลกระทบที่เราประเมินออกมา อาจไม่สมบูรณ์แบบ ผิวเผิน และทำให้เรายิ่งหลงทาง

ตรงนี้เองที่ “วงล้อแห่งอนาคต” (Futures Wheel) เข้ามาช่วยเราได้

วงล้อแห่งอนาคต เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นผลกระทบได้ครอบคลุมและเป็นระบบขึ้น และเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งที่ช่วยในกระบวนการระดมสมอง เพื่อให้เรามองเห็นผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของการตัดสินใจ หรือของเหตุการณ์ และเทรนด์ใดๆ ก็ตาม

วิธีการใช้วงล้อแห่งอนาคต

วงล้อแห่งอนาคต เป็นเครื่องมือที่คิดค้นขึ้นโดยเจโรม เกลนน์ ในปี ค.ศ. 1972 การใช้เครื่องมือนี้มี 5 ขั้นตอนการคิดวิเคราะห์ผลกระทบดังต่อไปนี้

  1. ระบุปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการวิเคราะห์ผลกระทบ

แน่นอนว่าขั้นตอนแรกคือการกำหนดให้แน่ชัดว่า เรากำลังจะวิเคราะห์ผลกระทบของปัญหาหรือเหตุการณ์ใด เช่น นักนโยบายที่กำลังทำงานด้านประชากรในประเทศไทย อาจกำหนดปัญหาหลักว่าคือ “จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงในสังคมไทย”

2. ระบุผลกระทบทางตรง หรือ ผลกระทบลำดับแรก (first-order consequences)

ขั้นตอนต่อมาคือการระบุผลกระทบลำดับแรกที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาที่เราระบุไว้ในขั้น 1. ผลกระทบลำดับแรกนี้อาจเป็นผลกระทบที่เราเห็นได้ชัดเจน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นผลกระทบทางตรงจากปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ผลกระทบลำดับแรกของ “จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงในสังคมไทย” ได้แก่ สัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมที่มากขึ้น / จำนวนแรงงานที่ลดน้อยลง / จำนวนประชากรที่ลดน้อยลง เป็นต้น

 3. ระบุผลกระทบทางอ้อม หรือ ผลกระทบลำดับที่สอง (second-order consequences)

หลังจากที่ได้ระบุผลกระทบทางตรงแล้ว ในขั้นนี้ผู้ที่ใช้เครื่องมือวงล้อแห่งอนาคต จะต้องระบุผลกระทบลำดับที่สอง กล่าวคือ ผลกระทบที่เป็นผลพวงจากผลกระทบในลำดับที่หนึ่งนั่นเอง เช่น

จำนวนแรงงานที่ลดน้อยลง (1) >> รายได้จากภาษีลดน้อยลง (2) 

สัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมที่มากขึ้น (1) >> อัตราการพึ่งพิงเพิ่มสูงขึ้น (2) >> ประชากรวัยทำงานมีภาระในชีวิตมากขึ้น (3) >> ประชากรวัยทำงานไม่สามารถตั้งตัวได้ (4)

จะสังเกตได้ว่าในขั้นตอนที่ 3 นี้ ผู้ที่ใช้เครื่องมือควรระบุผลกระทบลงลึกไปอีกเรื่อยๆ จากลำดับที่สอง ไปสาม หรืออาจไปถึงลำดับที่สี่หรือห้า 

4. วิเคราะห์และจำแนกนัยยะของผลกระทบ

หลังจากที่ผู้ใช้เครื่องมือได้ระบุลำดับของผลกระทบขั้นต่างๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมาวิเคราะห์และจำแนกนัยยะของผลกระทบ โดยอาจนั่งลิสต์ผลกระทบที่เราได้เขียนลงไปออกมาอีกรอบหนึ่ง และจัดกลุ่มผลกระทบที่อยู่ในหมวดเดียวกันเพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์ต่อได้ง่ายขึ้น เช่น จำแนกว่าผลกระทบที่ลิสต์มาทั้งหมดอยู่ในหมวดใด อาทิ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรืออื่นๆ

5. ถึงเวลาหาทางออก

หลังจากได้ลิสต์ผลกระทบ และได้วิเคราะห์แยกแยะผลกระทบเหล่านั้นแล้ว ถึงเวลาที่นักนโยบายจะต้องคิดต่อว่าจะหาทางออกอย่างไรให้ปัญหา คิดต่อว่าผลกระทบทางลบใดที่จำเป็นต้องป้องกันหรือแก้ไข หรือผลกระทบทางบวกใดที่เราสามารถขยายผลทางบวกให้ดีขึ้นได้

เทคนิกในการใช้เครื่องมือวงล้อแห่งอนาคต

  • ใช้สีมาช่วยจำแนกลำดับของผลกระทบ จะช่วยให้เห็นภาพรวม และแยกแยะระหว่างผลกระทบทางตรงและทางอ้อมได้ง่ายขึ้น
  • อย่าลืมว่า ผลกระทบสามารถมีได้ทั้งทางบวกและทางลบ

ระหว่างที่ใช้เครื่องมือ สามารถลองตั้งคำถามต่อไปนี้:

  • อะไรคือปัญหาที่หนักหนาที่สุดที่สังคมกำลังเผชิญ?
  • อะไรคือเทรนด์ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรมที่เราสนใจ และสงสัยว่ามันจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างไร?
  • เราพลาดมองไม่เห็นผลกระทบด้านไหนไหม?
  • ผลกระทบต่างๆ เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

 

ที่มา:

https://www.mindtools.com/a3w9aym/the-futures-wheel

https://medium.com/10x-curiosity/a-future-planning-exercise-the-futures-wheel-794b5d012096



งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top