บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 16.12.2021

ในงาน Policy Innovation Exchange เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Gina Belle ผู้อำนวยการของมูลนิธิ Chôra (คอร่า) ได้พูดถึงการใช้ Portfolio Approach (การวิเคราะห์ส่วนประกอบ) เข้ามาแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน

โดยมูลนิธิ Chôra (คอร่าเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติดัตช์ ซึ่งก่อตั้งมาเพื่อพัฒนาและสนับสนุนทางด้านนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์หรือการเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรมสำหรับสังคม โดยทำงานกับหลายหน่วยงาน ภาคเอกชน เมือง และประเทศต่างๆ มูลนิธิ Chôra เน้นการเปลี่ยนแปลงระบบให้ยืดหยุ่นต่อปัญหาและความท้าทายต่างๆ เช่น ผลกระทบทางสังคม ระบบการเงิน และสภาพอากาศ 

กรอบการทำงานของ Chôra ได้กำหนดการออกแบบระบบสังคมใหม่ออกมาเป็น 3 ขั้นตอน 1.การประเมินปัญหา 2.การเรียนรู้จากแนวทางพอร์ตโฟลิโอ และ 3. การตั้ง “งบประมาณของความเป็นไปได้” ที่ช่วยให้สังคมสามารถมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาและการออกแบบนโยบาย ที่สามารถเป็นตัวเร่งของการเปลี่ยนแปลงระบบได้

การแก้ไขปัญหาแบบเส้นตรง จะทำให้เกิดปัญหาใหม่โดยไม่ตั้งใจ

ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญกับปัญหาต่าง  ที่ซับซ้อนและไม่หยุดนิ่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในทุกด้าน และเรื่องที่ซับซ้อนมากไปกว่านั้นก็คือ ปัญหามักเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดอยู่กับที่ ไม่ประพฤติตัวเป็นเส้นตรง มีความอ่อนไหวต่อเวลา และก่อให้เกิดผลที่คาดไม่ถึงเสมอ ปัญหาเหล่านี้จึงต้องการให้ผู้กำหนดนโยบายคุ้นชินกับความไม่แน่นอน เพราะหากยังแก้ไขปัญหาเป็นแนวเส้นตรงเช่นเดิม จะทำให้พบกับความล้มเหลวหรือการสร้างปัญหาใหม่ที่ไม่ได้ตั้งใจ  

Gina Belle กล่าวว่า มนุษย์ชอบคิดว่าความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่อยู่ไกลตัวจากเราทุกคน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งสำหรับมูลนิธิ Chôra จึงมองว่าแนวทางพอร์ตโฟลิโอเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่อยู่ในภาวะความไม่แน่นอน

ในภาวะที่ไม่แน่นอน เราต้องแก้ไขปัญหาผ่านการเรียนรู้

แนวทางพอร์ตโฟลิโอของ Chôra  เชื่อว่า ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานขัดกับสัญชาตญาณของตัวเอง ที่ต้องการมุ่งจะแก้ไขเพียงอย่างเดียวโดยไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ทดลองและเรียนรู้ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ โดยไม่ตั้งใจ

ลักษณะของปัญหาที่ซับซ้อน เราจะไม่รู้วิธีการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก และมักใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมโดยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบจริง ด้วยชุดชุดสมมติฐานและกระบวนทัศน์ที่อาจทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่แรก 

หากพูดให้เห็นภาพคือ แนวทางการแก้ไขปัญหาทั่วไปจะมองเป้าหมายเหมือนเกมปาเป้า คือมีเป้าหมายเพียงเป้าเดียว และตามมาด้วยการประเมินย้อนหลัง แต่ในความเป็นจริง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องควรเกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการเริ่มแรก เพราะบางครั้งเราจะเห็นเค้าลางของปัญหาตั้งแต่เริ่มกระบวนการ อย่างเช่น การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนสูง

ทาง Chôra จึงเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ก่อนลงมือทำ ซึ่งการใช้แนวทางนี้จะต้องยอมรับ และอ่อนน้อมถ่อมตนว่ามันอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ตรงตามที่ต้องการเสมอไป ซึ่งจะต้องหัดเรียนรู้ที่จะพูดว่า “เราทำไม่ได้ และไม่มีคำตอบทั้งหมด 

เน้นการเรียนรู้และดัดแปลงได้ 

พอร์ตโฟลิโอสามารถเทียบเท่าได้กับระบบการดำเนินการ การเรียนรู้ และการแก้ปัญหา ซึ่งออกแบบมาเพื่อสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ โดยเริ่มต้นจากการเชื่อมช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นที่รู้จักและไม่รู้จักเข้าด้วยกัน เช่น การส่งนักสำรวจออกไปนอกโลกเพื่อนำสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนกลับมายังโลกเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

แนวทางพอร์ตโฟลิโอจึงเน้นการสำรวจ เรียนรู้ และเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่รู้จัก อีกทั้งยังสามารถนำสิ่งที่มีอยู่แล้วในระบบรวมกับชุดการเรียนรู้ใหม่เพื่อดูว่าสามารถทำอะไรร่วมกันได้เพื่อเร่งการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง 

ใช้พอร์ตโฟลิโอช่วยพัฒนาธรรมาภิบาลของมาลาวี

มูลนิธิ Chôra ได้เข้าไปช่วยมาลาวีในการพัฒนาธรรมาภิบาล ซึ่งมาลาวีเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน และติดอันดับ 1 ใน 15 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในโลก ระบบธรรมาภิบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการพัฒนาประเทศ การทำพอร์ตโฟลิโอจึงได้เข้ามาเป็นแนวทางเพื่อแก้ไขเรื่องความไม่สงบ และส่งเสริมเรื่องการกำกับดูแล

ทีมงานเริ่มต้นด้วยการแสดงภาพการเปลี่ยนแปลง ที่มีชื่อเรียกว่า “คำแถลงความตั้งใจ” (Statement of Intent) เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับเป้าหมายและความซับซ้อนของปัญหา และเป็นการตอกย้ำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังทำร่วมกัน กระบวนการนี้มีความตั้งใจและจุดเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ 3 ประการ ได้แก่ (1) สถาบันที่รับผิดชอบ (2) ภาคประชาสังคมที่มีส่วนร่วม (3) การให้บริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ 

จากนั้นจะเน้นเรื่องของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) และการแสดงภาพระบบสังคมปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจที่มากขึ้น และช่วยลดความซับซ้อนของปัญหา หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนในการจัดทำแผนที่กิจกรรมต่างๆ ในส่วนที่อยากจะเข้าไปแทรกแซงและได้ โดยระบุความไม่แน่นอน อย่างเช่น การทับซ้อนกัน หรือโอกาสและทางเลือกใหม่ เพื่อสังเกตและค้นพบปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ ในพื้นที่ที่มีปัญหา 

สะท้อนความรู้สึกจากกระบวนการต่าง   

อีกหนึ่งขั้นตอนของการเรียนรู้คือการสะท้อนความรู้และมุมมองใหม่ๆ จากกระบวนการที่ผ่านมา (Sensemaking) ด้วยคำถามดังต่อไปนี้ 

  • เหตุใดเราจึงมุ่งความสนใจไปที่ชุดกิจกรรมต่าง ในช่วงเวลานี้? 
  • กิจกรรมมีความเกี่ยวข้องและสอดคล้องกับประเภทของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่หรือไม่?
  • ผลลัพธ์ของกิจกรรมสอดคล้องกับความตั้งใจของเรามากน้อยแค่ไหน?
  • กิจกรรมช่วยให้เราเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ได้มากน้อยเพียงใด?

คำถามเหล่านี้ใช้เพื่อนำไปสู่การอภิปรายกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ใหม่ ๆ และได้รับมุมมองที่แตกต่างกันจาก 3 มุมมอง ได้แก่ มุมมองของ UNDP มุมมองของระดับภาคส่วน และมุมมองของทั้งระบบ 

ทางมูลนิธิได้มีจุดประสงค์ที่ว่า ภายในสิ้นปี 2021 นี้ พอร์ตโฟลิโอต้องได้รับพัฒนาแบบไดนามิกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ฝังแน่นอยู่ในสำนักงานในแต่ละประเทศ และสิ่งนี้จะช่วยทำให้พวกเขาเกิดความคล่องตัวต่อแนวทางของตนมากยิ่งขึ้น 

บนโลกที่ความซับซ้อนและความไม่แน่นอนปรากฎในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ความสามารถในการระบุระดับความซับซ้อนเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดการตอบสนองที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่ตรงไปตรงมา หรือความท้าทายในการปรับตัว ที่ล้วนจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบใหม่ แนวทางพอร์ตโฟลิโอจึงเป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น ผ่านการเรียนรู้ในขณะที่มีส่วนร่วมกับระบบ มีส่วนร่วมกับความไม่แน่นอน และสามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งระบบสังคม 

 

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top