Published: 08.08.2022

ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ และหลายครั้งไอเดียก็พรั่งพรูออกมาแบบไม่รู้ตัว แต่ไม่แน่ใจว่าไอเดียไหนที่จะตอบโจทย์และใช้งานได้จริง หรือบางครั้งพอต้องการไอเดียกลับเค้นเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก Thailand Policy Lab จึงขอแชร์ชุดเครื่องมือและกระบวนการในการเริ่มต้นหาไอเดียเพื่อออกแบบโครงการ นโยบาย หรือแผนงานอะไรก็ตามที่คุณทำอยู่ เครื่องมือที่จะช่วยไอเดียของคุณมีความเข้าใจผู้ใช้งาน (user) และตรงเป้าหมาย เพื่อให้ไอเดียของเราทำให้เพื่อนมนุษย์มีชีวิตหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นได้จริง

ชุดเครื่องมือนี้แบ่งออกเป็น  3 ขั้นตอนผ่าน 5 เครื่องมือ ขั้นตอนแรกเริ่มจากใส่ความเป็นมนุษย์ให้ไอเดีย (Empathize) ผ่านเครื่องมือ Hopes and Fears ที่จะช่วยถอดรหัสและรับฟังความหวังและความกลัว เพื่อเข้าใจเพื่อนมนุษย์หรือผู้ใช้นโยบาย คิดไอเดียที่ช่วยลดความกลัวและทำให้ความหวังนั้นเป็นจริง 

ขั้นตอนต่อมาเข้าสู่กระบวนการทำความเข้าใจปัญหา (Define) ผ่านสองเครื่องมือ คือ Iceberg Model หรือภูเขาน้ำแข็ง เพื่อให้เห็นรากสาเหตุของปัญหา และ Priority Matrix ที่จะช่วยจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหา เพื่อให้เราเลือกแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันสถานการณ์

เมื่อเราได้เห็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนที่สามคือ การเริ่มคิดไอเดีย (Ideate) ผ่านคำถาม How might we? และ Mini Canvas เครื่องมือนี้จะช่วยทำให้ไอเดียมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเครื่องมือสุดท้าย Future Triangle ช่วยตรวจสอบไอเดียตัวคิดแรงผลัก/ แรงฉุดรั้ง/ ภาพในอนาคต เพื่อประเมินไอเดียโปรเจกต์ก่อนลงมือทำ

Hopes and Fears: ถอดรหัสความหวังและความกลัว เพื่อเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในการคิดโครงการ

เครื่องมือชิ้นนี้ช่วยดึงความรู้สึกลึกๆ ในมิติของความหวังและความกลัว ที่ผู้คิดโครงการมีต่อประเด็นหรือปัญหานั้นๆ หรือลองคิดถึงความหวังและความกลัวของผู้ใช้นโยบาย เพื่อนำไปสู่การคิดไอเดียที่มีความเข้าใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น  โดยความกลัวจะช่วยสะท้อนปัญหาในปัจจุบันและอนาคต ส่วนความหวังจะคลี่ความต้องการ หรือสิ่งที่คนอยากเห็น อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งความหวังเหล่านี้สะท้อนช่องว่างของปัจจุบันที่ยังไม่เกิดขึ้น (ถ้าเกิดขึ้นจะทำให้ชีวิตดีขึ้น) หรือโอกาสของโปรเจกต์นั่นเอง

วิธีการใช้ 

แบ่งกระดาษออกเป็นสองส่วน ความหวัง และ ความกลัว เขียนความหวังและความกลัวต่อประเด็นนั้น ซึ่งเป็นได้ทั้งความรู้สึกส่วนตัว ความรู้สึกในฐานะองค์กร ความรู้สึกในฐานะสมาชิกของสังคม จนถึงลองคิดแทนผู้ใช้นโยบาย หากทำกิจกรรมนี้แบบเป็นกลุ่ม ให้ใช้บทสนทนาเป็นตัวเชื่อมเพื่อดึงเอาความหวังและความกลัวของแต่ละคนออกมาและแชร์เพื่อหาความกลัว และความหวังร่วม 

เทคนิคการใช้

หากทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ให้แต่ละคนเขียนลงบนโพสท์อิท โดยใช้สองสีแยกความหวังและความกลัว เมื่อแชร์ต่อกลุ่ม สามารถกรุ๊ปโพสท์อิทเป็นกลุ่มที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เพื่อหาความรู้สึกร่วมได้ง่ายมากขึ้น 

Iceberg Model: โมเดลภูเขาน้ำแข็ง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุปัญหาเชิงลึก

ภาพของภูเขาน้ำเเข็งช่วยสื่อถึงระดับและและที่มาที่ไปของปัญหานั้นๆ ตั้งแต่ระดับเหนือผิวน้ำที่มองเห็นได้จนถึงใต้ผิวน้ำที่เรามองไม่เห็น ซึ่งเปรียบได้กับปัญหาที่ส่วนใหญ่มักสะท้อนเพียงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ในปัจจุบันที่สังเกตเห็นได้ แต่แท้จริงแล้วทุกปัญหาล้วนมีสาเหตุที่ซ่อนอยู่ลึกลงไป เครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้ออกแบบได้ทำความเข้าใจปัญหา โดยการขุดลึกลงไปในชั้นของโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม จนถึงความเชื่อและจิตใต้สำนึก ทำให้เห็นว่าปัญหาที่เห็นนั้นอาจเป็นหรือไม่ได้เป็นอย่างที่คิด หรือปัญหาที่พบเจอนั้นมีสาเหตุมาจากอีกหลายปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงกัน  การใช้เครื่องมือนี้จะช่วยคลี่ให้เห็นบริบทและระดับของสาเหตุของปัญหา เพื่อช่วยให้ผู้ออกแบบสามารถคิดไอเดียที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดและเข้าใจโครงสร้าง

วิธีการใช้

ตั้งต้นด้วยปัญหาหรือประเด็น จากนั้นค่อยๆไล่ลำดับหาสาเหตุของปัญหานั้นผ่านการตั้งคำถาม เช่น เกิดจากอะไร เพราะอะไร ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ ไล่ลำดับลงไปเรื่อยๆ ในระดับโครงสร้าง ระบบสังคมที่ส่งผลให้เกิดปัญหานั้น สู่ระดับวัฒนธรรม ความเชื่อที่ส่งต่อกันมาในสังคม และจิตใต้สำนึก ซึ่งปัญหาในแต่ละดับจะนำไปสู่ไอเดียที่แก้ปัญหาในมิติที่แตกต่างกัน เช่น การเลือกปัญหาในชั้นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำ ช่วยให้ได้ไอเดียแผนงานสำหรับแก้ปัญหาระยะสั้น การจับปัญหาในระดับโครงสร้างช่วยให้ได้ไอเดียในการ่วมงานกับหน่วยงานอื่นๆ แก้ระบบการทำงาน การจับปัญหาในระดับความเชื่ออาจนำไปสู่ไอเดียที่สร้างค่านิยมใหม่ๆ ให้กับสังคม

ดูตัวอย่างได้ที่นี่

เทคนิคการใช้

ใช้โพสท์อิทเขียนปัญหา แล้วคิดแบบแตกรากของสาเหตุหรือที่มาที่ไปด้วยคำถามว่าเพราะอะไร ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ไล่ลำดับลงไปเรื่อยๆ โดยปัญหาหนึ่งอาจแตกได้หลายรากสาเหตุแล้วไล่ลงไปจนสุด

จากนั้นค่อยกรุ๊ปโพสท์อิทตามประเด็น วิธีนี้จะช่วยให้เห็นว่าบางปัญหากลับมาจบที่รากเดียวกัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นระดับความเชื่อร่วมบางอย่างของสังคมที่ส่งต่อกันมา

Priority Matrix: แผนผังจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของไอเดียโปรเจกต์

เมื่อเราได้เห็นบริบทและรากสาเหตุของปัญหาที่อยากแก้ไข แต่ขณะเดียวกันทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเวลา แรงงาน งบประมาณ ล้วนมีข้อจำกัด แล้วปัญหาไหนควรได้รับการแก้ไขก่อน? เครื่องมือ Priority Matrix จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ออกแบบจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหา ผ่านการจัดลำดับลงในแผนผัง

วิธีการใช้

แบ่งกระดาษออกเป็นสองแกน แกน X คือความเร่งด่วน (Urgency) แกน Y คือ ผลกระทบ (Impact) แล้วจัดลำดับของปัญหาโดยคำนึงถึงสองหัวข้อนี้ ความเร่งด่วนมากที่สุดอยู่ด้านขวาสุดของแกน X ผลกระทบมากสุดอยู่ด้านบนสุดของแกน Y จากนั้นนำทั้งสองหัวข้อมารวมกัน จะได้ปัญหาที่มีความสำคัญและความเร่งด่วนมากที่สุด อยู่ด้านในพื้นที่ขวาบน โดยสองแกนนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเกณฑ์ของแต่ละองค์กรหรือโครงการ

How might we? และ Mini Canvas: ตั้งคำถามความน่าจะเป็นเพื่อคิดไอเดียโปรเจกต์

หลังจากทำความเข้าใจ และได้ปัญหาที่เร่งด่วนและมีผลกระทบสูงมาแล้ว ขั้นนี้จะเริ่มสู่การคิดระดมหาไอเดีย ผ่านคำถาม How might we? โดยคำถามนี้จะประกอบด้วยสองส่วนคือ How might we? “จะเป็นอย่างไรถ้าเราทำ …….? ” ในมุมมองของการเชิญชวน มองหความน่าจะเป็นในการทำ/สร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา ที่ช่วยมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะทำความหวังให้เกิดขึ้นได้จริง และ How might we? ในมุมของ “ทำอย่างไร” ผ่าน mini canvas เพื่อนำไอเดียสร้างสรรค์มาคิดให้ครอบคลุมถึง วัตถุประสงค์ แผนการดำเนินงาน ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ไอเดียของเราสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดย Mini Canvas แบ่งเป็น 5 ประเด็น


1. ทำอย่างไร
2. ทำกับใคร
3. ทำเพื่อใคร
4. ทำเพื่อจุดประสงค์อะไร
5. ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

และช่วยสรุปไอเดียออกมาเป็นหนึ่งประโยคที่เข้าใจได้ง่าย และใช้งานได้จริง

วิธีการใช้

Mini Canvas เป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นในการใช้ และสามารถนำไปใช้จัดกระบวนการเวิร์กช็อปได้หลายรูปแบบ เช่น ตอบคำถามไล่ลำดับไปทีละช่อง (ไล่ตามคอลัมน์) เริ่มจากทำอะไรบ้าง แล้วลิสต์ไอเดียออกมา ทำเพื่อใครบ้าง ไล่ไปเรื่อยๆ แล้วนำมาสรุปรวมเป็นไอเดีย ด้วย Idea Summary Template หรือวิธีที่สองคือ คิดไปที่ละแถว (row) โดยสามารถคิดเริ่มจากช่องไหนก็ได้และสลับลำดับช่องไปมาได้  แต่ต้องคิดให้หนึ่งไอเดียมีคำตอบครบทุกช่อง จากนั้นแต่ละแถวจะได้ออกมาเป็นไอเดียโปรเจกต์

Future Triangle: ตัวคิดแรงผลัก/ แรงฉุดรั้ง / ภาพในอนาคต เพื่อประเมินไอเดียโปรเจกต์ก่อนลงมือทำ

การคิดแบบ Future Thinking  มีปรัชญาว่า ”ทุกไอเดียเป็นไปได้” เพียงแต่บางไอเดียเกิดขึ้นได้ทันที บางไอเดียต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดขึ้น Future Triangle จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบปัจจัยในปัจจุบันและอนาคตที่ส่งผลต่อไอเดีย ช่วยให้ผู้ออกแบบได้คำนึงถึงปัจจัยที่ซ่อนอยู่ที่จะส่งผลให้ไอเดียเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต  เปรียบเสมือนการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่าน 3 หัวข้อ คือ ปัจจัยผลักดัน ณ ปัจจุบัน (Push) ปัจจัยเหนี่ยวรั้ง ณ ปัจจุบัน (Weight) และแรงดึงจากอนาคต (Pull) เมื่อเห็นปัจจัยทั้งสามด้านแล้ว ทำให้ผู้คิดไอเดียสามารถกลับไปประเมินและปรับไอเดียโครงการให้สอดรับกับปัจจัยเหนี่ยวรั้งที่อาจฉุดหลังเราไว้ และใช้แรงผลักดันในปัจจุบันและแรงฉุดในอนาคตมาช่วยให้โปรเจ็คบรรลุเป้าหมายไดเร็วหรือมีประสิทธิภาพขึ้น

วิธีการใช้

วาดภาพสามเหลี่ยม ส่วนฐานทั้งสองข้างเป็นปัจจัยของปัจจุบัน ด้านหนึ่งคือ ปัจจัยผลักดัน ณ ปัจจุบัน (เชิงบวก, Push) อีกด้านคือ ปัจจัยเหนี่ยวรั้ง ณ ปัจจุบัน (เชิงลบ, Weight) และมุมด้านบนคือ แรงดึงจากอนาคต (Pull) ตั้งไอเดียไว้ตรงกลางด้วยความเชื่อว่าไอเดียนี้จะเกิดขึ้นจริง จากนั้นเริ่มเขียนปัจจัยต่างๆ ลงในแต่ละมุมของสามเหลี่ยม แบ่งเป็น

ปัจจัยผลักดัน ณ ปัจจุบัน (+, Push) คือ ปัจจัยเชิงบวกที่ส่งผลดีต่อไอเดีย โดยเริ่มคิดจากคำถาม เช่น อะไรคือแนวโน้มในปัจจุบันที่สนับสนุนให้แนวทาง/ไอเดียเกิดขึ้นได้จริง

ปัจจัยเหนี่ยวรั้ง ณ ปัจจุบัน (-, Weight) คือ ปัจจัยที่ส่งผลลบให้ไอเดีย เหนี่ยวรั้งให้ไอเดียเกิดขึ้นได้ยาก ใช้คำถามกระตุ้น เช่น อะไรคือตัวถ่วง/ฉุดรั้งให้ไอเดียเกิดขึ้นได้ยาก 

แรงดึงจากอนาคต (Pull) ในหัวข้อนี้เป็นได้ทั้งปัจจัยเชิงบวกและลบต่อไอเดีย รวมทั้งภาพในอนาคตที่เราต้องการให้เกิดขึ้นได้จริง เช่น เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะส่งผลดีต่อนโยบาย ทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงทำให้เป็นข้อจำกัดที่จะต้องเจอ ภาพฝันที่ต้องการไปถึง โดยทั้งสามมิตินี้ จะช่วยให้ผู้ออกแบบเห็นภาพในอนาคตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งคิดวิธีป้องกันปัญหาล่วงหน้า และดึงเอาทรัพยากรในอนาคตมาเป็นสปริงบอร์ดในการสนับสนุนไอเดียได้อีกด้วย

ชุดเครื่องมือทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยจุดประกายให้เราสามารถคิดไอเดียเพื่อออกแบบโครงการหรือนโยบายได้อย่างสร้างสรรค์และเข้าใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยวิธีการใช้และลำดับขั้นตอนในการใช้เครื่องมือนั้นมีความยืดหยุ่น แต่ละเครื่องมือสามารถนำไปปรับใช้และปรับวิธีการใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ ได้ตามความเหมาะสมและเป้าหมายของแต่ละองค์กร

ดาวน์โหลดชุดเครื่องมือระดมไอเดียสร้างสรรค์เพื่อสร้างโปรเจกต์

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top