บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Written By
Published: 22.06.2022

เป็นเรื่องปกติที่นักนโยบายอยากแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด แต่แน่ใจแค่ไหนว่าสิ่งที่เรากำลังจะแก้คือรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง? กระบวนการ Sense & Frame หรือการรู้สึกถึงปัญหาและวางกรอบให้ชัดเจน จะเป็นแนวทางที่สำคัญในการเริ่มต้นกระบวนการ เพราะนักออกแบบนโยบายจะได้เห็นว่าบริบทของปัญหาคืออะไร และที่มาของปัญหาอยู่ตรงไหน จากนั้นจึงจะคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ หรือวางรูปแบบของวิธีคิดได้อย่างเป็นระบบ

พูดจาภาษาเนิร์ดไปหน่อยอาจจะงง ลองดูตัวอย่างข้างล่างแล้วอาจจะเข้าใจมากขึ้น

สมมติว่าเราอยากจะเข้าใจประเด็นเรื่อง “การลดลงของจำนวนประชากร” เพื่อหาทางแก้ไขให้ตรงจุด การสรุปเร็วๆ ไปว่าเกิดจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปโดยรัฐต้องเข้าไปสนับสนุนให้พลเมืองของตัวเองมีลูกมากขึ้นอาจยังไม่ถูกต้องนัก เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ และยังไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นพอที่จะยืนยันว่าวิธีนี้ได้ผลจริง

ถ้าอย่างนั้นเราลองกำหนดให้ระดับของปัญหาเป็นเหมือนเรือที่อยู่ในรูป และความซับซ้อนเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งดังภาพกันดู

เราลองมาดูที่ภูเขาน้ำแข็งก่อน

ชั้นบนสุด กำหนดให้เป็น สถานการณ์: เราเห็นอะไรที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมตอนนี้ ทั้งในพื้นที่ของตัวเอง และแนวโน้มจากพื้นที่อื่นทั่วโลก เช่น การลดลงของจำนวนประชากร การลดลงของอัตราการเกิด อายุที่เพิ่มมากขึ้นของผู้สูงอายุ

ชั้นที่ 2 กำหนดให้เป็น รูปแบบของปัญหา: อะไรคือปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้กันนะ? มีสิ่งใดบ้างที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเทรนด์ได้กลายเป็นรูปแบบของปัญหาไปแล้ว เช่น คนรุ่นใหม่ชอบอยู่คนเดียวมากขึ้น หรือถ้าแต่งงานไปแล้วก็ไม่อยากมีลูกถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อม แตกต่างจ่างคนสมัยก่อนที่การมีลูกเป็นเหมือนหน้าที่ของพ่อแม่ ไม่ว่าจะมีความพร้อมมากแค่ไหนก็ตาม

ชั้นที่ 3 กำหนดให้เป็น โครงสร้าง: สามารถเกิดจากอะไรก็ได้ เช่น นโยบาย หรือค่านิยมโดยไม่มีกฎตายตัวว่าโครงสร้างต้องมาในรูปแบบไหน อาจเป็นโครงสร้างทางสังคม หรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ข้อนี้จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบของปัญหาที่ส่งอิทธิพลต่อกันในด้านในด้านหนึ่ง หรือสัมพันธ์กันในหลายส่วน เช่น ค่าเงินเฟ้อทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเพิ่มภาระของตัวเองด้วยการมีลูก หรือ อยากให้ลูกเกิดมาในสังคมที่มีคุณภาพ และต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ถ้าอย่างนั้นไม่มีจะดีกว่า เพราะกลัวว่าลูกของตัวเองจะกลายเป็นประชากรไร้คุณภาพ รวมทั้งทัศนคติของการมีลูกยังเปลี่ยนไปด้วยในหลายเจเนเรชั่นที่ผ่านมา

ชั้นที่ 4 กำหนดให้เป็น แบบจำลองวิธีคิด: สามารถเป็นได้ทั้งสมมติฐาน ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ หรือความคาดหวังที่ฝังรากลึกในสังคม ช่วยให้โครงสร้าง (ด้านบน) สามารถยึดเหนี่ยวเอาไว้ได้ตลอดเวลา เช่น ค่านิยมเรื่องการมีลูกของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป นิยามของคำว่าครอบครัวที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้มองว่าครอบครัวต้องมีพ่อแม่ลูก แต่มองว่าครอบครัวสามารถมีแค่คนสองคน และสัตว์เลี้ยงก็เป็นครอบครัวได้ด้วย ความเชื่อเช่นนี้สามารถกระเทือนไปถึงยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่งผลให้จำนวนประชากรลดลง

และสำหรับ ‘เรือแห่งระดับของปัญหา’ เราสามารถแบ่งออกง่ายๆ ได้เป็น 3 ระดับ นั่นก็คือ

  • Simple หรือปัญหาที่แก้ได้ง่าย ส่งผลกระทบกับคนจำนวนไม่มาก เช่น ถ้าเรือแล่นช้า แค่กางใบก็ทำให้เร็วขึ้นได้
  • Complicated หรือปัญหาที่ซับซ้อน แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ เช่น เครื่องยนต์เรือมีปัญหา แต่ช่างสามารถซ่อมได้ตามหลักการ
  • Complex หรือปัญหาที่ซับซ้อนมาก เกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม และต้องแก้ด้วยวิธีที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ เช่น เรือในทะเลมีจำนวนมากจนแออัด จนต้องจัดระเบียบกันใหม่เพื่อไม่ให้เกิดการล่าช้า ซึ่งเรือแต่ละลำต้องพูดคุยกันเพื่อผลประโยชน์ที่ลงตัวของทุกคน

ถ้ามองดูในรูปดีๆ ก็จะรู้ว่าหนึ่งปัญหาประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างและการแก้ไขอย่างยั่งยืนนั้นเกิดจากการเข้าใจที่มาและรากสาเหตุของมัน ลองเอาวิธีนี้ไปวิเคราะห์ปัญหาที่เจออยู่ก็ได้ เธอเองก็เป็นได้นะ….. นักนโยบายผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top