บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 02.11.2022

ในปี พ.ศ. 2532 ประเทศนิวซีแลนด์ออกพระราชบัญญัติการเงินสาธารณะฉบับใหม่ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศจนการคอรัปชั่นเกิดได้ยากขึ้นมาก แม้แต่นักการเมืองยังออกมาบอกว่า ถึงแม้พวกเขาอยากจะอยากโกงก็โกงไม่ได้ เพราะมีระบบการตรวจสอบที่ดีมาก ก่อนหน้านี้นิวซีแลนด์ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จนเกิดการปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐทั้งหมด เพราะอยากให้งบประมาณประจำปีถูกใช้จ่ายไปอย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิรูปในครั้งนั้นเปลี่ยนนิวซีแลนด์ให้กลายเป็นประเทศที่รัฐบาลมีความโปร่งใสเป็นลำดับต้นๆ ของโลก พวกเขาใช้เวลาแค่ 2 ปีพลิกเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม 

การโกงจึงไม่ใช่เรื่องของ คน แต่คือ ระบบ

นักนโยบายในหลายประเทศรู้แล้วว่ายิ่งเปิดระบบการทำงานและวิธีคิดของรัฐบาลให้โปร่งใสมากขึ้นเท่าไหร่ ปัญหาคอรัปชั่นก็จะลดลงได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะไม่ใช่ว่าผู้คนไม่อยากโกง แต่โกงไม่ได้ อีกอย่างคือ การคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่ในบางครั้งมาในรูปแบบของการประสานผลประโยชน์ระหว่างนายทุน และชนชั้นปกครองซึ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้กับคนกลุ่มเดียว แต่กลับลดความเข้มแข็งและอำนาจของประชาชนลงเรื่อยๆ แนวทางการปฏิบัติที่ดีคือประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐบาล เช่น ออกแบบนโยบาย ตรวจสอบการใช้งบประมาณ ซึ่งนักนโยบายมีหน้าที่เปิดไฟในห้องมืดให้เห็นการทำงานในทุกมิติ และให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย เพราะระบบการตรวจสอบที่ดีจะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเอาไว้

ในประเทศเอธิโอเปีย หน่วยงานที่ขับเคลื่อนโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมได้เข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อพัฒนาบริการสาธารณะต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง เช่น โรงเรียน และศูนย์สุขภาพ ในช่วงแรก ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้เพราะไม่เชื่อใจรัฐบาล พวกเขารู้สึกว่าการเมืองในช่วงที่ผ่านมาวุ่นวาย และมีความหวาดกลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ โครงการนี้ต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 3 ปีเพื่อสร้างความกล้าให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้อย่างแท้จริง มีความไว้วางใจเพิ่มมากขึ้น และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขเรื่องปริมาณการคอรัปชั่นที่ลดลงเพราะไม่ใช่เป้าหมายของโครงการ แต่โครงการนี้ก็สามารถสร้างการตระหนักรู้ถึงบทบาทในงานบริการที่ดีโดยรัฐซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งหลักของรัฐนั่นเอง

ตั้งค่าใหม่ให้ประเทศ เปิดให้เห็นวิธีคิดจนถึงวิธีทำ

เมื่อรู้แล้วว่าระบบที่ดีจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ดี แล้วอะไรจะเป็นหลักการเริ่มต้นของนักนโยบายที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลง? หัวใจสำคัญคือประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง เปิดกว้าง และเข้าถึงพลเมืองทุกกลุ่ม ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทั้งการช่วยออกแบบระบบ แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ ระหว่างกันเพื่อก้าวข้ามข้อท้าทายใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่มีนโยบายไหนที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกคนได้ทุกมิติด้วยนโยบายเดียว นักนโยบายจึงควรมีเครื่องมือใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อใช้เป็นตัวช่วยสำหรับออกแบบนโยบายที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

ห้องปฏิบัติการณ์นโยบายของประเทศอังกฤษอธิบายลักษณะของนักนโยบายสาธารณะในยุคปัจจุบันไว้ว่า ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ

รับฟังแนวคิด และหาวิธีทำงานใหม่ๆ

การรับฟังแนวคิดใหม่ๆ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนจะทำให้นักนโยบายได้รับข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ อยู่เสมอ และช่วยให้มองเห็นปัญหาจากมุมมองที่แตกต่างออกไป กระบวนการคิดเชิงออกแบบ และการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอนเป็นตัวอย่างของแนวทางใหม่ๆ ที่สามารถช่วยให้มองเห็นปัญหาจากมุมมองของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

เปิดใจ

การเก็บข้อมูลที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่สิ่งสำคัญกว่าสำหรับนักนโยบายคือต้องต้องเปิดใจรับฟังทั้งสิ่งที่รู้อยู่แล้วและสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน การสร้างนโยบายสาธารณะคือการตระหนักว่าไม่มีใครเป็นผู้รู้เพียงคนเดียว หากนักนโยบายเมื่อไอเดียที่น่าสนใจอยู่แล้ว หน้าที่ต่อไปก็คือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และเตรียมใจให้พร้อมอยู่เสมอว่าบางอย่างที่คิดไว้อาจจะไม่ถูกต้อง รับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นให้มากๆ การทำสิ่งนี้ซ้ำๆ จะทำให้เห็นปัญหาจากทุกมิติ และเข้าใจผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น

เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

การทำความเข้าใจความต้องการของประชาชนจะช่วยให้เราพัฒนานโยบายที่เหมาะกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจว่าผู้คนเคยมีประสบการณ์กับนโยบายที่มีอยู่อย่างไร และคาดหวังนโยบายแบบไหนในอนาคต

เมื่อนโยบายมีวิธีคิดที่พร้อมแล้ว หลังจากนี้คือการลงมือทำโดยเลือกเครื่องมือให้เข้ากับหน้างาน อย่าลืมว่าข้อมูลขนาดมหึมา (Big Data) หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่ทางออกของปัญหา และต้องมองลึกไปอีกว่าเครื่องมือใหม่ๆ ที่เรามีสามารถปรับใช้ได้หรือไม่ และอย่างไร

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top