บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Written By
Published: 22.06.2022

“คุณเก่งมาก” น่าจะเป็นคำชมที่ใครๆ ก็อยากได้ยิน โดยเฉพาะคนทำงานในองค์กรรัฐที่เต็มไปด้วยระบบอันซับซ้อนและขั้นตอนมากมาย กว่าแผนงานหรือนโยบายที่ส่งไปจะผ่านการพิจารณาก็ต้องต่อสู้จนหัวฟู ปากซีด เดินตัวลอยกลับบ้านเพราะหมดแรงจะเคลื่อนไหว… วันนี้ TP Lab อยากชวนให้ทุกคนมาทำความรู้จักกับ 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อถอดรหัสความหวังและความกลัวจากการออกแบบนโยบายและการทำงาน เพื่อให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าเดิม!

Hope (สีชมพู) ทำความเข้าใจความหวังทั้งในระดับปัจเจก องค์กร และคนทั้งประเทศ เพราะทุกวันที่ตื่นขึ้นมาเต็มไปด้วยความหวัง หวังว่าวันนี้จะดีกว่าพรุ่งนี้ หวังว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ลองมองรอบตัวดูสิว่ามีอะไรที่พอจะมีหวังได้บ้าง เริ่มจากสเกลเล็กๆ ก่อนก็ได้ เช่น หวังว่ารุ่นพี่จะมี Sympathy และ Empathy ต่อรุ่นน้องในองค์กร / หวังว่าหน่วยงานของเราจะทำงานแบบ Agile / หวังว่านโยบายที่ทำไปจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น

Fear (สีดำ) เมื่อเรามีความหวังแล้ว ก็ต้องถามต่อไปว่า “ความกลัว” ที่อยู่ในจิตใจตอนนี้มีอะไรบ้าง ไม่มีคำตอบที่ตายตัวเพราะความกลัวของทุกคนสามารถเป็นอะไรก็ได้ เช่น กลัวว่าลูกของเราจะอยู่ในระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ผู้สูงอายุกลัวว่าจะไม่มีใครดูแล กลัวว่าการท่องเที่ยวไทยจะไม่กลับมาคึกคักเหมือนเดิม จะเป็นความกลัวที่เกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ก็ได้ ลองลิสต์ดูว่าประเทศของเราสร้างความกลัวอะไรขึ้นมาบ้าง

Lesson Learned (สีเหลือง) เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด อะไรบ้างที่เรารู้สึกว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ไม่ควรมีสิ่งนี้ หรือเราสามารถทำอะไรให้ดีกว่าเดิม เช่น ความวุ่นวายของข้อมูลทะเบียนราษฎร์เมื่อต้องใช้เช็คสิทธิรับวัคซีนต้านโควิด หรือนโยบายลดความเหลื่อมล้ำที่ใช้วิธีพิสูจน์ความจน ซึ่งไปตอกย้ำมายาคติเดิมๆ มีอะไรบ้างนะที่เห็นแล้วรู้สึกว่า “ไม่ได้เลยยย”

Bright Spot (สีเขียว) โอ้ แต่ก็มีบางอย่างนะที่เรามาถูกทางแล้ว ตรงนี้คือนโยบายที่ดีและประสบความสำเร็จในพื้นที่ต่างๆ หรือจะเป็นตัวอย่างดีๆ จากต่างประเทศที่น่าจะเอามาปรับใช้กับบ้านเราได้ เช่น การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าสามารถความเหลื่อมล้ำได้มากกว่าการให้ผู้สูงอายุต้องมานั่งลงทะเบียน หรือเรียนรู้นโยบายการผลักดัน Soft Power ของประเทศเกาหลีใต้เพื่อนำมาปรับใช้กับสินค้าของเรา

Dream (สีแดง) ไหนลองเล่าเรื่องความสำเร็จในอนาคตว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ทุกคนอยากเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง เช่น ข้าราชการได้รับเงินเดือนสูง ทำงานตามหน้าที่ไม่ใช่ทำงานตามนาย ตำแหน่งเลื่อนได้ด้วยความเก่งไม่ใช่อายุ และมีการพัฒนาทักษะรอบด้านใหม่ๆ อยู่เสมอ ถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะเห็นว่าฝันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจมีบางเรื่องที่เราไม่เข้าใจและต้องการคำอธิบาย นี่คือโอกาสดีที่จะได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่น ฟังหน่อยว่า “ความฝัน” ของแต่ละคนหน้าตาเป็นอย่างไร

‘ขบวนการ 5 สี’ เป็นขั้นตอนสำคัญในการถอดรหัสความคิดของทุกคนในองค์กรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้เห็นมิติและจินตนาการของกันและกัน ไม่ต้องห่วงว่าความคิดต่างๆ ที่ไหลออกมาจะกระจัดกระจายเกินไป เพราะยังมีขั้นตอนสำหรับจัดการไอเดียเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมซึ่งก็ต้องใช้พลังไม่น้อย แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าเครื่องมือดีแต่ไม่มีพลังแห่งจินตนาการของมนุษย์ทุกคน

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top