บทความ / การพัฒนาเมือง, เทคโนโลยี
Published: 27.07.2022

เทคโนโลยีแห่งความหวังดี ที่คนส่ายหน้าให้

โครงการเทคโนโลยีเพื่อการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ประเทศยูกันดา

ที่ยูกันดาเองก็มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และอุดช่องโหว่ในการทำงานของภาครัฐ อาทิ แพลตฟอร์มชื่อว่า “Yogera” (ออกมาส่งเสียง) ที่ให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียน เพื่อต่อสู้กับการทุจริตในภาครัฐ และแพลตฟอร์มแบบ open data ที่นำข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับโครงการรัฐมาเปิดเผยในที่เดียวกัน ชื่อว่า “USER.ug” อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จในระยะยาว โดยกลุ่มเฟมินิสต์เพื่อเทคโนโลยีภาคประชาชน “Pollicy” ระบุว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ ในยูกันดาไม่สามารถโน้มน้าวให้คนเห็นความสำคัญของแพลตฟอร์มเหล่านั้นได้ ประชาชนจึงไม่มีความรู้สึกว่าต้องให้ข้อมูล ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในยูกันดาเองก็ยังไม่ครอบคลุมทุกคน ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเทคโนโลยีเหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัด

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือความยั่งยืนของแพลตฟอร์มเหล่านี้ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีภาคประชาชนมีจำนวนมาก และล้มหายไปอย่างรวดเร็ว Pollicy ระบุว่าปัญหานี้เกิดจากการไม่มีแผนงานระยะยาว ท้ายที่สุดเมื่อหมดงบประมาณ แพลตฟอร์มก็หมดอนาคตตามไปด้วย

Luke Jordan ผู้ก่อตั้งองค์กร “Grassroot” และหนึ่งในเครือข่าย MIT GOV/LAB กล่าวถึงปัญหาความไม่ยั่งยืนของเทคโนโลยีเพื่อสังคมไว้ในคู่มือ “Don’t Build It: A Guide for Practitioners in Civic Tech”   จากประสบการณ์การทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์ Jordan พบว่า นักเทคโนโลยีและภาครัฐมักทึกทักไปเองว่า เทคโนโลยี (ตัวเอง) จะช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างได้ และทึกทักว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเพียงปัญหาเชิงเทคนิคที่แก้ไขได้ด้วยแอปพลิเคชัน พวกเขาเลยไม่จำเป็นต้องทบทวนว่า 

  • ก่อนหน้านี้ ผู้คนได้ลงมือลงแรงช่วยกันแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง 
  • เทคโนโลยีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ทำไมคนถึงจะอยากแก้ปัญหาเพียงเพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย 
  • นี่เป็นปัญหาจากการขาดเทคโนโลยีหรือปัญหามิติอื่นกันแน่ 

ภาวะไม่ทบทวนตัวเองเรียกว่า “tech solutionism” หรือการอวยเทคโนโลยีว่าเป็นคำตอบสำหรับทุกอย่าง สิ่งนี้ทำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีไม่เปิดใจรับฟังคนอื่นๆ นอกวงการ และมองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ตัดขาดจากสภาพสังคม  Alondra Nelson นักสังคมวิทยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำเนียบขาว กล่าวว่า นักนโยบายสาธารณะต้องทบทวนว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งผลอย่างไรต่อสังคม และถูกสังคมหล่อหลอมให้ออกมาเป็นอะไร เธอสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา “โครงสร้างสังคมที่กดขี่ผู้คน ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เราต่างใฝ่ฝันหา” และเราจะไม่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “หากเราไม่พัฒนานโยบายที่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม สิทธิพลเมือง และย้อนกลับไปจัดการต้นตอของความไม่เป็นธรรม” 

Jordan ระบุว่าอีกปัญหาหนึ่งคือการใช้ vanity metrics หรือ “ค่าการวัดที่หลอกตัวเอง” เป็นข้อมูลที่ไม่ได้สะท้อนการเติบโตของผู้ใช้หรือประสิทธิภาพของผลงาน แต่แสดงเพียงจำนวนตัวเลขเยอะๆ เท่านั้น สิ่งนี้จะทำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีไม่กระตือรือร้นจะเรียนรู้และแก้ไขปัญหาต่อไป

Jordan กล่าวในคู่มือว่า “ถ้าจำเป็นต้องสร้างแอปพลิเคชัน ก็จ้าง chief technology officer (CTO) ปล่อยตัวทดลองแต่เนิ่นๆ ใช้เวลากับการทดสอบความพร้อมนานๆ ส่วนถ้าทำแบบนั้นไม่ได้ (หรือถ้าทำได้ด้วย) ให้พึ่งทีมงานที่ไว้ใจได้ ผลิตงานให้ไว มีประสิทธิภาพ และเข้าหาผู้ใช้ ทดสอบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” 

โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของ SideWalk Labs ประเทศแคนาดา

“แนวคิดเมืองอัจฉริยะตามแบบ Sidewalk Labs ยกระดับระบบจับตาผู้คนและประมวลผลข้อมูล  ให้เป็นเครื่องมือสอดแนมที่เข้าถึงใครก็ตามในถนนสาธารณะ” 

ในปี 2018 Sidewalk Labs บริษัทพัฒนาเมืองภายใต้การดูแลของกูเกิล ชนะประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่ “Quayside” ที่อยู่ติดริมทะเลสาบในเมืองโตรอนโต โดยทาง Sidewalk Labs ให้คำมั่นสัญญากับชุมชนโดยรอบว่า จะทำให้เมืองอัจริยะขึ้นในทุกมิติ ตั้งแต่การจราจรที่ปลอดภัย การบำรุงเมือง ไล่จนไปถึงการติดตั้งระบบไฟฟ้าในพื้นที่ทดลอง

เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนมากขึ้น SideWalk Labs เสนอหลักการ “community programming” หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนเป็น “co-designer” หรือผู้ร่วมออกแบบเมือง เช่น แอปพลิเคชันที่เปิดให้อาสาสมัครบันทึกข้อมูลว่าผู้คนใช้พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ อย่างไร จากนั้นผู้รับผิดชอบจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ปรับปรุงพื้นที่ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของคนให้ได้มากที่สุด จำนวนผู้ใช้พื้นที่จะได้เพิ่มมากขึ้น  หรือแอปพลิเคชันที่สร้างแผนที่ออนไลน์ ให้เจ้าหน้าที่แจ้งพิกัดพื้นที่เมืองที่ต้องซ่อมบำรุง

แต่แล้วในปี 2020 Sidewalk Labs ก็ประกาศถอนตัวจากโครงการพัฒนา Quayside

“โตรอนโตคว่ำโครงการเมืองอัจฉริยวะถาวร” Karrie Jacobs ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกล่าว   ในระหว่างที่ Sidewalk Labs พัฒนา Master Innovation and Development Plan หรือแผนแม่บทเพื่อนวัตกรรมและพัฒนาเมือง ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาคัดค้านโครงการนี้อย่างรุนแรง เนื่องจากเทคโนโลยีทั้งหมดที่ถูกเสนอ ล้วนแต่อาศัยข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างละเอียด ทว่า Sidewalk Labs กลับไม่สามารถตอบได้ว่า ขอบเขตการเก็บและใช้ข้อมูลอยู่ตรงไหน หรือข้อมูลประชาชนที่จะเก็บรวมรวมนั้นจะถูกนำไปขายต่อให้กับหน่วยงานรัฐอีกทอดหรือเปล่า อีกทั้งยังไม่มีการการันตีว่าฐานข้อมูลของ Sidewalk Labs จะลบข้อมูลส่วนตัวของประชาชนออกไปอีกด้วย

อนึ่ง ข้อมูลลักษณะนี้มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง และเป็น “สินค้า” ขายดีของกูเกิล บริษัทแม่ของ Sidewalk Labs อยู่แล้ว

จุดยืนด้านจริยธรรมการเก็บข้อมูลที่คลุมเครือของ Sidewalk Labs ส่งผลให้ประชาชนโตรอนโตมองว่า  เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ จะคอยดูดข้อมูลของผู้ใช้โดยปราศจากความยินยอม  สิ่งนี้เข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเป็นการสอดแนมวิถีชีวิต แทนที่ผู้คนจะโอบรับเทคโนโลยีล้ำสมัย พวกเขากลับรู้สึกหวาดกลัว และมองว่าบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเพียงกลุ่มคนที่มีอีโก้ คิดจะเข้ามาทำอะไรกับเมืองก็ได้ โดยข้ามหัวคนในเมืองไปเลย  เพื่อป้องกันไม่ให้คนตกเป็น “หนูทดลองของกูเกิล” Canadian Civil Liberties Association จึงฟ้อง Sidewalk Labs ที่พยายามติดตั้งเทคโนโลยีที่ดูดข้อมูลประชาชน ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญของแคนาดา

นอกเหนือไปจากการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้ว Sidewalk Labs ยังถูกมองว่าทำงานซ้ำซ้อน โดยคณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์เชิงดิจิทัลของ Waterfront Toronto ระบุว่า โครงการและเทคโนโลยีที่ตั้งใจเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ซ้ำซ้อนกับขอบเขตงานของภาครัฐ นี่เป็นสิ่งที่ชุมชนรอบข้างทำกันอยู่แล้ว

กรณีศึกษาในทั้งสองประเทศทำให้เราเห็นว่า แค่เจตนาดีอยากจะสร้างเทคโนโลยีไม่พอ การทบทวนความจำเป็นของงานและการยึดแนวทางการปฏิบัติที่มีจริยธรรมคือหลักการขั้นพื้นฐาน หากเราไม่สามารถยืนหยัดเคียงข้างชุมชนและเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนอื่นๆ ซึ่งใช้ชีวิตมานานกว่าเทคโนโลยีของเรา ความช่วยเหลือต่างๆ ที่อยากหยิบยื่นให้ อาจกลายเป็นความหวังดีประสงค์ร้ายแทน

 

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top