บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย, เทคโนโลยี
Published: 05.08.2022

หากพูดถึง “ออเดรย์ ถัง” เรามักนึกถึงเธอในฐานะรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศคนแรก และอายุน้อยที่สุดในไต้หวัน   แต่ก่อนที่ถังจะเข้าร่วมรัฐบาล เธอไม่เคยทำงานกับภาครัฐหรือแตะงานนโยบายสาธารณะมาก่อน   ถังเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเทคโนโลยีภาคประชาชน (civic technology) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างรัฐบาลเปิด (open goverment) หรือการเปิดเผยข้อมูลรัฐอย่างโปร่งใส   การก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีจึงไม่ใช่แค่ความสำเร็จส่วนบุคคลของถัง แต่สะท้อนความเข้มแข็งของภาคประชาชนไต้หวันอีกด้วย    บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านไปดูว่า ที่ไต้หวัน คนธรรมดาเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารบ้านเมืองอย่างไร และพวกเขาใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนสังคมไปถึงไหนแล้ว 

จากการไม่ไว้ใจรัฐ สู่การทำงานร่วมกัน

หนึ่งในความร่วมมือภาคประชาชนที่สำคัญที่สุดในไต้หวันคือ “g0v” (อ่านว่า โกฟซีโร่) โดยกลุ่มนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อ “ผลักดันข้อมูลที่โปร่งใส เน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูล และเครื่องมือสำหรับให้ประชาชนมีส่วนร่วมในสังคม”   ปัจจุบัน g0v มีโครงการที่สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ เช่น “Moedict” หรือพจนานุกรมออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ เวอร์ชั่นปรับปรุง หรือ “vTaiwan” (มาจากคำว่า virtual Taiwan) ซึ่งหมายถึง กระบวนการหารือนโยบายสาธารณะระดับชาติ เปิดให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และรับชมการพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย   แต่ก่อนที่โครงการเหล่านี้จะงอกเงยขึ้นมา g0v ไม่ได้จับมือทำงานกับรัฐบาลไต้หวันตั้งแต่แรก   สิ่งที่จุดชนวนให้เกิด g0v คือ ความรู้สึกไม่ไว้วางใจในภาครัฐที่ไม่โปร่งใส จนต้องลุกมาตอบโต้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 รัฐบาลภายใต้การนำของ “หม่า อิงจิ่ว” ออกโฆษณาชวนเชื่อ ชื่อว่า “แผน power up เศรษฐกิจคืออะไร?”   ทว่าคลิปวีดิโอดังกล่าวกลับไม่อธิบายแผนงานรัฐ มีแต่ประโยคโน้มน้าวผู้ฟังให้คล้อยตาม ซึ่งเปิดซ้ำไปซ้ำมา (“แผนงานของรัฐซับซ้อน   ซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายให้ฟังได้   เราไม่ต้องไปสนใจรายละเอียดต่างๆ   ทำตามที่รัฐให้ทำไปเถอะ!”)   หลังจากคลิปนี้ปล่อยออกมา ประชาชนไต้หวันได้เข้าไปกดรีพอร์ตโฆษณาเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างล้นหลาม

ณ ตอนนั้นเอง โฆษณาชวนเชื่อปล่อยออกมาตรงกับงาน Yahoo Open Hack Day พอดี   ผู้เข้าแข่งขันจากไต้หวันจึงคิด “แผนภาพงบประมาณ” โดยแปร ตัวเลข การใช้งบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงานภาครัฐให้เป็น วงกลม  ยิ่งโครงการไหนใช้เงินมากเท่าไหร่ วงยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ   การเปรียบเทียบ “ขนาด” งบประมาณทำให้ประชาชนเห็นชัดๆ ว่า โครงการไหนใช้เงินไปเท่าไหร่  มีอันไหนบ้างที่เป็นประโยชน์กับเขตตัวเอง จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือ ปลุกเร้าให้คนกล้าปฏิเสธการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างสิ้นเปลือง (อย่างการทำโฆษณาชวนเชื่อ)  

>>>คลิกเพื่อลองชมแผนภาพงบประมาณ (ภาษาจีน)

หลังจากนั้นเป็นต้นมา กลุ่มแฮ็คเกอร์เพื่อสังคมได้ขยายกลายเป็น “ชุมชน g0v” ที่ใครก็เข้ามาร่วมก็ได้  ทุกๆ สองเดือน ชุมชน g0v จะจัดงาน Hackathon โดยในงานดังกล่าว ผู้คนจะเข้ามานำเสนอไอเดียสำหรับแก้ไขปัญหา และหาผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาร่วมทีม ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ก็จะคอยให้คำแนะนำในการทำโครงการต่างๆ  โครงการใดที่มีคนสนับสนุนจะได้รับทุน “Civic Tech Prototype Grant” สำหรับตั้งต้นปฏิบัติการ ซึ่งทุนดังกล่าวสนับสนุนโดยองค์กร NGO กลุ่มไอที และสื่อเจ้าใหญ่ต่างๆ 

>>>คลิกเพื่ออ่านบันทึกกระบวนการ “ปั้น” โครงการใน Hackathon อย่างละเอียด โดย Yun Chen, Product Manager จากชุมชน g0v (ภาษาอังกฤษ)

ปัจจุบันมีผู้เสนอโครงการให้ชุมชน g0v ช่วยพัฒนาถึง 839 โครงการ   ในบทความนี้ขอเลือกกระบวนการ vTaiwan มาเป็นตัวอย่าง เพราะโครงการนี้เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานรัฐอย่างโปร่งใส   

vTaiwan ไม่ใช่นวัตกรรม แต่หมายถึงกระบวนการรับฟัง-รวบรวมความคิดเห็น

ในปี 2014 เพดานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไต้หวันถูกผลักให้สูงขึ้นกว่าเดิม หลังจาก “ขบวนการทานตะวัน” (Sunflower Movement) เข้ายึดสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อประท้วงความตกลงการค้าและบริการระหว่างไต้หวัน-จีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือให้จีนแทรกแซงอธิปไตยของไต้หวัน   ผู้สนับสนุน g0v เช่น ออเดรย์ ถัง ก็ไปเข้าร่วมการชุมนุมนี้ และช่วยกันวางโครงสร้างพื้นฐานสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชุมนุมอับสัญญาณ  ภายในปีนั้นเอง ชุมชน g0v ก็จะได้โอกาสใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยให้กับสังคม

“แจ็กลีน ไช่” (Jaclyn Tsai) รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลในช่วงปี 2014 เข้าร่วม Hackathon  เธอมาพร้อมกับโจทย์สำคัญ คือ “ทำอย่างไรก็ได้ ให้กระบวนการหารือนโยบายสาธารณะโปร่งใส ทั้งประเทศเข้าถึงได้” เพราะในช่วงปี 2012-2014 รัฐบาลเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตไม่โปร่งใส จนสูญเสียความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนอย่างมาก  

ไช่ให้อำนาจการพัฒนาการโครงการกับชุมชน g0v เต็มที่ เพราะ “รัฐบาลไม่รู้ว่าต้องทำไง [ชุมชน g0v] เอาไปคิดต่อเลย”  (ไช่แต่งตั้งถังเป็นผู้ช่วยประจำตัว หลังจากเธอลงจากตำแหน่ง ถังขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีดิจิทัลต่อ) ทาง g0v จึงช่วยกันดีไซน์กระบวนการปรึกษาหารือแบบเปิด ครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีจนไปถึงคนธรรมดา ทุกฝ่ายจึงจะสามารถให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และมีฉันทามติในวาระแห่งชาติได้ 

โดยสรุปแล้ว vTaiwan แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 

  • ขั้นนำเสนอประเด็น: จัด Hackathon วงเล็ก ประชาชนส่งประเด็นให้รัฐบาลและกระบวนกร vTaiwan รับไปพิจารณา
  • ขั้นแสดงความคิดเห็น: 
    • ตีพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ พร้อมกับอภิทานศัพท์ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่ากำลังพูดถึงอะไรอยู่ จะได้ไม่หลงประเด็นและไม่สับสน
    • สอบถามผู้เข้าร่วมเรื่องประสบการณ์ ความรู้เกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ  และบุคคลที่ควรเชิญให้เข้ามาร่วมกระบวนการ
    • ให้ผู้เข้าร่วมส่งคำถามไปถึงหน่วยงานรัฐผ่านแพลตฟอร์ม “Discourse” และรอคำตอบภายใน 7 วัน (แต่ละกระทรวงจะมี “Participation Officer” คอยตอบคำถามในกระบวนการ vTaiwan โดยเฉพาะ)
    • กระบวนกรเปิดประเด็นให้ผู้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็น
    • ให้ผู้เข้าร่วมกด “เห็นด้วย” “ไม่เห็นด้วย” “ผ่าน” หรือแสดงความคิดเห็นอื่นๆ 
    • ใช้โปรแกรม “Pol.is” ฉายภาพ (visualize) ให้เห็นว่าความคิดกระแสหลักและกระแสรองคืออะไร อะไรคือฉันทามติระหว่างความคิดที่ขัดแย้งต่างๆ 
    • จัดทำรายงานสรุปผลความคิดเห็นส่งให้หน่วยงานรัฐ
  • ขั้นสะท้อนความคิดเห็น: กระบวนกร ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนสำคัญ และภาครัฐประชุมหารือกัน โดยมีการถ่ายทอดสดสำหรับสาธารณะ
  • ขั้นนิติบัญญัติ: ประมวลความคิดเห็นและความก้าวหน้า หาฉันทามติเพื่อนำเสนอเป็นแนวทางการทำงาน หรือนโยบายสาธารณะ หากรัฐบาลไม่รับผลการพูดคุยเข้าสภา ต้องให้เหตุผลที่ชัดเจนกับสาธารณะ

4 ขั้นตอนในการหารือ ภาพประกอบจาก vTaiwan

Participedia ผู้จัดทำฐานข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วโลก ระบุว่า vTaiwan ถูกใช้หารือวาระต่างๆ มากกว่า 30 ครั้ง โดยส่วนมากเป็นประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น กฎหมายควบคุม Uber และกฎหมายกำกับการทดลองด้าน FinTech 

ในความเป็นจริง  vTaiwan ยังไม่ใช่กระบวนการที่ทุกคนในประเทศเข้าร่วมได้ Participedia ให้ข้อมูลว่าผู้อยู่ใน mailing list ของ vTaiwan มีมากกว่าสองแสนคน แต่ยอดผู้เข้าร่วมในแต่ละครั้งไม่เท่ากับจำนวนสมาชิก และไม่ใช่ทุกคนจะเข้าร่วมการประชุมอย่างสม่ำเสมอ   นอกจากนี้เอง ยังมีความเสี่ยงว่า กลุ่มคนชายขอบอาจตกสำรวจจาก mailing list หรือการประชุมอีกด้วย เพราะถ้าอยากเสนอวาระพิจารณาระดับชาติ บุคคลดังกล่าวต้องเข้าร่วม Hackathon วงเล็กก่อน

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในไต้หวันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จที่อื่น Elizabeth Barry ผู้อำนวยการ Public Laboratory for Open Technology and Science มองว่ากรณีของไต้หวันทำให้เห็นความเป็นไปได้ในการสร้างกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เปิดทางให้ประชาชนส่งเสียง ทว่าในประเทศอื่นๆ กระบวนการนิติบัญญัติที่ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น “ยังเต็มไปด้วยความล้มเหลวนานัปการ” ยกตัวอย่างเช่นประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ยกเว้นนักการเมือง และให้ประชาชนคนอื่นๆ สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญผ่านโซเชียลมีเดีย (มีการแสดงความคิดเห็นประมาณ 3,600 ครั้ง และได้รับข้อเสนอแนะทั้งสิ้น 360 ข้อ) แต่ท้ายที่สุดร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ถูกปัดตกไปอย่างน่าเศร้า Katrín Oddsdóttir ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า “ระบบกำลังปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบัน ชุมชน g0v ยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงการเทคโนโลยีเพื่อสังคม ทั้งสำหรับบุคคลธรรมดาและหน่วยงานรัฐ  สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนทำให้ภาครัฐก้าวกระโดดขึ้นทันตาเห็นได้ ไม่ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมืออะไร ขอให้รวมตัวกันทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ตั้งคำถามกับรัฐในแบบที่ตัวเองทำได้ อย่างที่คำขวัญประจำ g0v ว่าไว้ “อย่าถามว่าทำไมถึงไม่มีใครทำสิ่งเหล่านี้เลย คุณนั่นแหละคือคนที่ไม่ทำสิ่งเหล่านี้ต่างหาก!”

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top