บทความ , อินโฟกราฟิก / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Written By
Published: 19.01.2023

เคยสงสัยไหมว่า “การมีส่วนร่วมของพลเมือง” รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?

ที่สำคัญคือเราจะวัดได้อย่างไรว่าการมีส่วนร่วมนั้นๆ เป็นประชาธิปไตยและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนจริงๆ? การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นถือว่าเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากพอแล้วไหม? หรือจริงๆ เราต้องไปไกลกว่านั้น เช่น เราต้องให้ประชาชนเข้ามาร่วมออกแบบและตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายด้วย?

“บันได 5 ขั้นของการมีส่วนร่วมของพลเมือง” เป็นมาตรวัดง่ายๆ ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐ นักนโยบาย หรือคนทำงานด้านสังคม มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าโครงการที่เราทำอยู่เปิดพื้นที่ให้พลเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมในระดับไหน ลองมาดูกัน ว่า 5 ขั้นมีอะไรบ้าง

  • ข้อมูลที่เปิดเผย คือจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย

บันไดขั้นต่ำที่สุดของการมีส่วนร่วมของพลเมือง คือการเปิดเผยและสื่อสารข้อมูลที่จำเป็นให้ชุมชนได้รับรู้ รัฐบาลท้องถิ่นหรือผู้ที่เข้ามาทำโครงการในชุมชนต้องแจ้งให้ชุมชนรับรู้ล่วงหน้าถึงสิ่งที่ตนกำลังจะทำในพื้นที่ ต้องสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส และทันเหตุการณ์กับชุมชน และสื่อสารโดยวิธีที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะแจกใบปลิว นัดประชุมแจ้งเหตุการณฺ์ หรืออัพเดตข้อมูลลงเว็บไซต์ชุมชน หรือเฟสบุ๊ก เป็นต้น

  • ปรึกษาหารือกับชุมชน 

บันไดขั้นที่สอง คือการเปิดให้ชุมชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการ/นโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมความคิดเห็น การทำแบบสำรวจ การประชุมกับชุมชน หรือการสนทนากลุ่ม การเปิดรับฟังความคิดเห็นนำเราไปสู่การลงมือทำและการปรับเปลี่ยนนโยบายให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามกระบวนการปรึกษาหารือกับชุมชนอยู่เพียงขั้นที่สองของบันไดการมีส่วนร่วมพลเมืองเท่านั้น พราะเราไม่อาจรู้อยู่ดีว่าความคิดเห็นของพลเมืองถูกนำไปปรับใช้จริงมากน้อยแค่ไหน  

  • ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ

บันไดขั้นถัดมา คือความพยายามให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอ แต่อำนาจการตัดสินใจยังเป็นของผู้มีอำนาจ เช่น รัฐบาลท้องถิ่นหรือเจ้าของโครงการ แต่การเปิดพื้นที่และกระตุ้นให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมจะส่งผลให้ชุมนุมมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะชุมชนจะเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น และมีช่องทางในการติดต่อและแสดงความเห็นให้ผู้มีอำนาจรับฟังมากขึ้น

  • ออกแบบร่วมกัน – อำนาจเท่ากัน

บันไดขั้นก่อนสุดท้าย คือการเปิดให้พลเมืองเข้ามาร่วมออกแบบชุมชนของตนกับผู้มีอำนาจ และเป็นการแชร์อำนาจการตัดสินใจอย่างเท่าเทียมกันระหว่างคนในชุมชนกับรัฐบาลท้องถิ่น นักนโยบาย หรือผู้ริเริ่มโครงการ ในบันไดขั้นนี้ พลเมืองในชุมชนได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับผู้มีอำนาจ และมีส่วนในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ผ่านการประชุมร่วมกัน 

ณ กรุงลอนดอน

เขต Newham เปิดโอกาสให้คนในชุมชนกว่า 360,000 คน เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกว่าจะจัดการกับปัญหาอะไรในชุมชนก่อนเป็นอันดับแรกๆ และให้คนในชุมชนได้ร่วมกันร่างวิสัยทัศน์ชุมชน รวมถึงได้แสดงความเห็นต่อรัฐบาลท้องถิ่นโดยตรง นอกจากนี้สมาชิกชุมชนกว่า 500 คนก็ได้ร่วมลงชื่อเพื่อร่วมออกแบบชุมชนให้ดีขึ้นด้วย 

  • เสริมพลังชุมชน: อิสรภาพเป็นของพลเมือง 

บันไดขั้นสูงสุดของการมีส่วนร่วมของพลเมือง คือการเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วอำนาจสูงสุดควรอยู่ที่พลเมือง รัฐบาลท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับการตัดสินใจที่มาจากคนในชุมชน และชุมชนมีสิทธิคัดค้านโครงการต่างๆ ที่พวกเขาไม่เห็นด้วย แต่การมีส่วนร่วมในระดับนี้ต้องอาศัยทั้งความเข้มแข็งภายในชุมชน และความเชื่อใจระหว่างผู้มีอำนาจกับชุมชน 

ณ เมืองสเตอร์ลิง

เมือง Sterling ที่สก็อตแลนด์ คนในชุมชนได้แสดงความเห็นและเสนอโครงการต่างๆ ไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และความคิดเห็นของชุมชนที่เสนอไปได้อยู่ในแผนงานของรัฐบาลท้องถิ่นอย่างชัดเจน ที่ผ่านมา 2 โครงการที่ชุมชนนำเสนอได้เข้าไปอยู่ในวาระของสภา 

ที่มา: https://www.citizenlab.co/blog/civic-engagement/ladder-citizen-participation/  

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top