บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 14.12.2021

ในงาน Policy Innovation Exchange เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Kate Sutton หัวหน้าประจำ Asia Pacific Regional Innovation Centre ผู้มีประสบการณ์การใช้นวัตกรรมและดิจิทัลใน 35 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ได้เน้นย้ำว่า การออกแบบนโยบายไม่สามารถมองหาทางออกของปัญหาทางเดียวได้อีกต่อไป

นำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบายเพื่อก้าวพ้นวิกฤต

วิกฤตโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้สร้างความท้าทายให้กับนักวางแผนนโยบายทั่วโลก ในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและเท่าทันเวลา

Kate Sutton ได้พูดถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าเป็นภูมิภาคที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหาเพียงพอ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับปัญหาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ไปจนถึงการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว ดังนั้นนักออกแบบนโยบายต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหามากขึ้น และไม่ควรมองหาทางออกของปัญหาเพียงทางเดียว อีกทั้งต้องพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างว่องไวเสมอ

ปัญหาเชิงเทคนิค VS ปัญหาที่ซับซ้อนและผันผวน

ในมุมมองของ Kate Sutton ปัญหาในการวางนโยบายมีอยู่ 2 ประเภท 1. ปัญหาทางเทคนิค 2. ปัญหาที่ซับซ้อนและผันผวน (Adaptive Challenge)

ปัญหาทางเทคนิคมักมีวิธีแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และสามารถแก้ไขแบบจุดเดียวได้ ซึ่งปัญหาลักษณะนี้ยังสามารถใช้กระบวนการออกแบบนโยบาย (Policy-making Loop) แบบดั้งเดิมได้ ที่มักใช้ผู้เชี่ยวชาญในปัญหานั้นๆ เข้ามาออกแบบนโยบายร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความซับซ้อนและความผันผวน ซึ่งไม่สามารถใช้กระบวนการออกแบบนโยบายดั้งเดิม หรือการแก้ไขปัญหาแบบมองจุดเดียวได้ เนื่องจากปัญหาลักษณะนี้มักจะมีตัวแปรไม่ชัดเจน ดังนั้นนักออกแบบนโยบายต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ปัญหาไปพร้อมๆ กับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่เผชิญกับปัญหา มากกว่าแค่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมออกแบบนโยบายด้วยการเข้าใจและแลกเปลี่ยนมุมมอง ค่านิยม และข้อสันนิษฐานของแต่ละฝ่าย

โดย Kate Sutton ได้ยกตัวอย่างถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจากวิกฤตโควิด-19 ว่าเป็นปัญหาที่ความซับซ้อนและตัวแปรที่ไม่ชัดเจนอยู่ ดังนั้นนักออกแบบนโยบายต้องอาศัยข้อมูลจากทั้งผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังต้องอาศัยการมองการณ์ไกล หรือการคาดการณ์อนาคต (Foresight) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงกลับไปตั้งคำถามต่อนโยบายและแนวทางปฏิบัติในอดีตเพื่อเข้าใจถึงรากของปัญหา ซึ่งระหว่างการเรียนรู้และปรับตัวกับปัญหาลักษณะนี้ นักออกแบบนโยบายก็จำเป็นต้องหาวิธีเพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยในเวลาเดียวกัน

Kate Sutton ชี้ว่า แม้ว่านวัตกรรมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคสมัยนี้ แต่ยังถือว่าเป็นเครื่องใหม่สำหรับการกำหนดนโยบาย นอกจากนี้นักวางแผนนโยบายจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ และให้แต่ละฝ่ายได้เข้าใจและมองเห็นปัญหาได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น และด้วยอคติที่น้อยลง

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top