บทความ / เยาวชน
Published: 30.09.2021

Key Insights

  • Thailand Policy Lab กำลังออกแบบ ‘นโยบายเพื่อเยาวชนโดยเยาวชน’ โดยให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ
  • เมื่อ Thailand Policy Lab ขอ 3 คำจากเด็กไทย ว่าความเป็นอยู่ที่ดีของเยาวชนไทยคืออะไร? รู้ไหมว่าคำตอบของพวกเขาคืออะไรบ้าง? มาเรียนรู้ไปด้วยกันเถอะ
  • สำรวจประเทศให้ความสำคัญกับเยาวชนอย่างออสเตรเลียและฟินแลนด์
  • เยาวชนทั่วโลกหันมาสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมืองกันอย่างล้นหลามในทศวรรษที่ผ่านมา แล้วประเทศไทยมีพื้นที่ใดบ้างให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายซึ่งเป็นอนาคตของพวกเขา Thailand Policy Lab มีคำตอบ

หลายคนรู้สึกว่านโยบายเป็นเรื่องไกลตัว แต่อันที่จริงแล้วนโยบายเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทุกอย่างรอบตัวเราจึงเกี่ยวกับนโยบายแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะถนนหนทางที่เราใช้ บ้านที่เราอยู่ หรือแม้แต่อาหารที่เรากิน สิ่งที่กำหนดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คือนโยบาย นโยบายจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว เกี่ยวข้องกับคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงเยาวชนด้วย

ทำไมเราถึงต้องรับฟังเยาวชน?

หากมีเด็กหนึ่งคนเกิดมาในปี พ.ศ. 2540 เด็กคนอันนั้นอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น ครอบครัวล้มละลาย พ่อแม่ตกงาน หรือได้รับผลกระทบจากความเครียดของผู้ปกครองที่ส่งผ่านมาอีกที และล่าสุดก็ต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการทำงาน การเข้าถึงการรักษาพยาบาล และสุขภาพจิตที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

กล่าวโดยสรุปคือเยาวชนอายุ 24 ปี คนนี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในประเทศมาอย่างสม่ำเสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

เคยคิดไหมว่าทำไมผู้ใหญ่ในประเทศต้องให้พื้นที่แก่เด็กและเยาวชนในการแสดงความคิดเห็น? คำตอบง่ายมากเลย เมื่อคนเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของสิ่งไหน ก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น เมื่อเยาวชนไทยรู้สึกว่าเขาสามารถออกแบบอนาคตของบ้านเกิดตัวเองได้ เขาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจและหวงแหนพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น การผลักพวกเขาให้ไปใช้ชีวิตแบบไม่ต้องยึดโยงนโยบายสำคัญระดับประเทศ ก็ย่อมทำให้เยาวชนไทยรู้สึกว่าตนเองไม่สำคัญในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง

การมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่าน Thailand Policy Lab

Policy Lab หรือห้องปฏิบัติการนโยบาย เป็นอีกหนึ่งความริเริ่มที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น หน่วยงาน UNDP ในประเทศไทยและสภาพัฒน์ฯ ได้ร่วมกันก่อตั้ง Thailand Policy Lab เพื่อสร้างกระบวนการออกแบบนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยหนึ่งในหัวข้อนโยบายแรกที่ Thailand Policy Lab นำมาทำคือ เยาวชน

ขั้นตอนของห้องปฏิบัติการนโยบายคล้ายการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนเคยมีประสบการณ์ร่วมในโรงเรียน นั่นก็คือการนำปัญหาที่มีอยู่มาวิเคราะห์ และหาทางออกไปพร้อมกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล สามารถทดลองและเกิดข้อผิดพลาดได้เพื่อหาทางออกที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพก่อนนำไปปรับใช้จริง และในระหว่างทางยังสามารถหาไอเดียใหม่ได้จากการพูดคุยกับผู้มีส่วนร่วมเพื่อทะลายกรอบการทำนโยบายแบบเดิมๆ และผลลัพธ์แบบเดิมๆ

สิ่งที่ Thailand Policy Lab ทำไปแล้วคือการสร้างแบบสำรวจเพื่อค้นหาว่าตอนนี้เยาวชนไทย (อายุ 15-24 ปี) คิดว่ามีปัญหาหรือประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับพวกเขามากที่สุด และควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยกรอบประเด็นปัญหาตาม 17 หัวข้อของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จากนั้นแบ่งประเด็นปัญหาออกมาเป็น 9 ประเด็น คือ 1. การตั้งครรภ์ในวัยเรียน 2. ความยากจนและการจ้างงาน 3. การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 4. การเข้าถึงสาธารณสุขที่ดี 5. ภัยบนท้องถนน 6. แอลกอฮอล์และสารเสพติด 7. มลภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 8. ความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ และ 9. สุขภาพจิตใจ

มีเยาวชนกว่า 500 คนเข้ามาตอบแบบสอบถาม พบว่า 3 อันดับแรกที่เยาวชนคิดว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพวกเขามากที่สุดคือ 1. การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 2. สุขภาพจิตและสุขภาวะของประชาชน และ 3. ความยากจนและการจ้างงาน ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขามองว่าควรถูกแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดออกมาตรงกับข้างต้น คือ เยาวชนมองว่า  1. การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 2. สุขภาพจิตและสุขภาวะของประชาชน และ 3. ความยากจนและการจ้างงาน เป็นปัญหาที่ควรถูกแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด

ชี้ว่า 3 สิ่งที่เยาวชนไทยคิดว่าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาคือ การศึกษา สุขภาพจิต และความยากจน ซึ่งนับว่าสะท้อนโครงสร้างของสังคมไทยได้อย่างดี

(ดูผลสำรวจที่นี่)

เมื่อเราถามว่าเยาวชนควรมีส่วนร่วมอย่างไรในการกำหนดนโยบาย หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจและสะท้อนความคิดของพวกเขาได้ดีก็คือ “เริ่มต้นจากเสรีภาพในการคิดและแสดงความคิดเห็น เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมผ่านการรณรงค์ เรียกร้องในด้านต่างๆ โดยไม่ถูกกีดกันจากภาครัฐ และควรมีตัวแทนเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาฯ ที่สำคัญที่สุดคือการรับฟังและนำมาปรับใช้อย่างไม่มีอคติ และไม่มองว่าเสียงของเยาวชนขัดกับค่านิยมดั้งเดิม เนื่องจากประเทศต้องก้าวไปข้างหน้า แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจแตกต่างจากค่านิยมดั้งเดิม เพราะเยาวชนเหล่านี้จะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปและช่วยพัฒนาประเทศไปอีกนับทศวรรษ พวกเขาควรมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง”

โลกที่ไร้พรมแดนส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีจินตนาการอันกว้างไกล เพราะสามารถเข้าไปสำรวจสังคมที่พวกเขาต้องการได้จากตัวอย่างในประเทศอื่น สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว สังคมที่ดีกว่าไม่ใช่การเลียนแบบและทำซ้ำกับที่อื่น แต่คือการนำข้อดีและข้อเสียในทุกองค์ประกอบมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในพื้นที่ของตัวเอง หัวใจสำคัญคือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นโยบายรุ่นใหม่ที่ออกแบบมาต้องสามารถเข้าถึงได้ทุกคนอย่างแท้จริง โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดทางกายภาพและเสรีภาพใดๆ ผลลัพธ์นี้ต้องเกิดจากกระบวนการแลกเปลี่ยนจากทุกฝ่าย ทั้งผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย และพลเมืองที่เป็นผู้ใช้นโยบาย

ขั้นตอนต่อไปสำหรับ Thailand Policy Lab คือการนำข้อมูลที่ได้จากแบบสำรวจมาทำ Social Listening หรือการเก็บข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาของเยาวชนบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่ครอบคลุม

จากนั้นจึงชวนเยาวชนมาพูดคุยกันในเชิงลึกแบบ Roundtable รวมทั้งชวนคนอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เช่น ครอบครัว โรงเรียน หรือเจ้าของกิจการที่กำลังมองหาคนรุ่นใหม่มาร่วมงานในองค์กร นอกจากนี้ Thailand Policy Lab ยังวางแผนที่จะจัดงาน Hackathon เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีไอเดียใหม่ๆ ด้านนโยบายมาช่วยกันระดมสมองเพื่อสร้างต้นแบบนวัตกรรมนโยบายที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศไปเลยก็ได้

เยาวชนคือตัวแปรสำคัญของโลกปัจจุบัน และโลกอนาคต 

ถ้าอยากรู้ว่าในต่างประเทศ เยาวชนมีความสำคัญมากขนาดไหน ก็ลองมาดูนโยบายเพื่อเยาวชนของพวกเขากัน  ออสเตรเลียคืออีกหนึ่งประเทศที่มีพลวัตด้านการเมืองของเยาวชนสูงมาก ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ศ.ศ.2019 เยาวชนอายุระหว่าง 18-24 ปีออกไปใช้สิทธิสูงถึง 88.8% นับเป็นสถิติที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือความโชคดีที่วัยรุ่นออสเตรเลียออกมาใช้สิทธิของตัวเองอย่างล้นหลาม แต่พวกเขาคือส่วนหนึ่งของนโยบายระดับชาติเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อให้เด็กๆ ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองและการปกครอง รัฐบาลในทศวรรษที่ 90 เริ่มหาแนวทางบรรจุหลักสูตรนี้ไว้ในโรงเรียนสำหรับสร้าง “พลเมืองที่มีความตื่นตัวและมีข้อมูลที่เพียงพอ” เพื่อให้แน่ใจว่าถ้าวันหนึ่งเขามีสิทธิเลือกตั้ง หนึ่งเสียงของเขาจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ หรืออย่างน้อยที่สุดคือสร้างความมั่นใจในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ให้ได้มีส่วนร่วมในการเมืองและนโยบาย พร้อมส่งเสริมความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ

หากเราไปดูประเทศที่โด่งดังด้านการศึกษาอย่างประเทศฟินแลนด์ ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เราก็จะพบว่าการศึกษาที่ดี เกิดจากการออกนโยบายการศึกษาที่นึกถึงเยาวชนอย่างรอบด้านและเป็นไปเพื่อเยาวชนจริงๆ ตั้งแต่ช่วงปี 1980 ที่ฟินแลนด์เริ่มปฏิรูปการศึกษา นโยบายการศึกษาก็เปลี่ยนมามองว่าการศึกษาต้องเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นโยบายการศึกษาของฟินแลนด์จึงกำหนดให้นักเรียนทุกคนได้กินอาหารฟรี เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยง่าย เข้าถึงคำปรึกษาทางสุขภาพจิต และเปลี่ยนระบบการศึกษาจากระบบเกรด หรือการเน้นการสอบผ่าน มาเป็นการเข้าใจความถนัดส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชน และไม่มีการสอบวัดระดับ (Standardized Test) จนกระทั่งเมื่อนักเรียนจบชั้นมัธยมปลาย (ซึ่งจะเลือกไม่สอบก็ได้) นโยบายการศึกษาเช่นนี้เป็นนโยบายเพื่อเยาวชน เพื่อตั้งเป้าให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีประสบการณ์วัยเด็กที่ดี และได้ค้นหาความถนัดของตนเองอย่างเต็มที่

หรือในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมาหลายประเทศก็ออกนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเยาวชน งานศึกษาของ OECD พบว่าเยาวชนอายุราว 15-29 ปี ได้รับผลกระทบอย่างมากจากตลาดแรงงานเพราะภาวะโรคระบาด หลายๆ ประเทศในกลุ่ม OECD จึงออกนโยบายมาเพื่อรองรับเยาวชนโดยเฉพาะ รายงาน What have countries done to support young people in the COVID-19 crisis? ของ OECD เล่าให้เราฟังว่า บางประเทศออกนโยบายเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้แก่เยาวชนที่สูญเสียรายได้ รวมถึงนักเรียนหรือเยาวชนที่รายได้งานพาร์ทไทม์ลดลง  หนึ่งในสามของประเทศ OECD จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ว่าจ้างที่รับคนอายุน้อยเข้าทำงาน บางประเทศออกโปรแกรมงานระหว่างปิดเทอมฤดูร้อนให้นักเรียนได้มีรายได้ อีกทั้งกว่าครึ่งของประเทศ OECD ยังได้เพิ่มงบประมาณให้แก่บริการด้านสุขภาพจิต เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงการดูแลสภาพจิตใจตนเองในสภาวะตึงเครียดของโรคระบาด

จริงหรือไม่ที่ต่อไปนี้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหมือนมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลมาล้างกระดานทักษะและความเชื่อแบบเดิมๆ ให้หายไปจากสังคม แม้คนรุ่นใหม่จะเกิดมาพร้อมกับทักษะการปรับตัวที่ดีกว่ารุ่นไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบทั้งทางกายและจิตใจไม่น้อยกว่าคนอื่นเลย แบบสำรวจเยาวชน Deloitte Global Millennial Survey ที่สำรวจ Gen-Y และ Gen-Z ในช่วงโควิดพบว่า พวกเขาต้องเผชิญกับความเครียดในหลายสถานการณ์ ทั้งด้านการเงิน การทำงาน และการเตรียมตัวกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติที่ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ แต่ในวิกฤตก็ยังมีมุมเล็กๆ แห่งการพัฒนาที่ผู้ทำแบบสำรวจให้ความเห็นตรงกันว่า พวกเขาจะกลายเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเมื่อโควิดหายไป หรือมีสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้

6 ใน 10 ของผู้ทำแบบสำรวจบอกว่าพวกเขามีความเข้าใจเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และพร้อมลงมือช่วยเหลือทันทีถ้ามีโอกาส ในเวลาที่โลกข้างนอกอันตรายเกินกว่าจะก้าวขาออกจากบ้าน พวกเขาริเริ่มเพิ่มทักษะให้ตัวเองผ่านการเรียนออนไลน์ ฝึกฝนความถนัดรูปแบบใหม่ วาดภาพอนาคตของตัวเอง หรือมีความสม่ำเสมอในการออกกำลังกายมากขึ้น คำตอบที่น่าตื่นเต้นและน่าทึ่งจากเยาวชนก็คือ พวกเขารู้สึกว่าทั้งโลกคือสังคมเดียวที่ต้องหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาดหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความรับผิดชอบต่อสังคมในบางประเทศไม่เพียงพอแล้วต่อการปกป้องโลกของเราให้ไม่แย่ลงไปมากกว่านี้ 

สำนึกของคนรุ่นใหม่ คือสำนึกของการเป็นพลเมืองโลกที่เชื่อว่าทุกคนมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง และนั่นก็คือสำนึกที่ว่านโยบายเป็นเรื่องของคนทุกคน รวมถึงคนรุ่นใหม่ด้วย

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top