บทความ , อินโฟกราฟิก / นวัตกรรมเชิงนโยบาย, เยาวชน
Published: 19.07.2022

ปวดหัวกินยาก็หาย แต่ปวดใจเพราะรู้สึกว่าสังคมที่เราอยู่เต็มไปด้วยปัญหาที่ไร้ทางแก้ไข ต้องทำยังไง? แผลที่มองเห็นจากภายนอกหรือแผลทั่วไปอาจมียาดีช่วยบรรเทาเพื่อลดอาการเจ็บปวด หรือปกปิดไม่ให้เห็นความไม่น่ามองในส่วนนั้น แต่แผลที่อยู่ข้างในมักจะกัดกินส่วนดีไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็ไปต่อไม่ไหวแล้ว เช่นเดียวกับสังคมของเราที่ควรได้รับการตรวจสอบว่ายังแข็งแรงดีอยู่ไหม หรือถ้าดู ‘ป่วย’ จนไปต่อไม่ไหว ก็คงต้องขึ้นเตียงมาช่วยกันรักษาหน่อยล่ะ

วันนี้ชวนทุกคนทำความเข้าใจ ‘การเอ็กซ์เรย์ปัญหา’ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในงาน Youth Mental Health Policy Hackathon ที่จัดโดย Thailand Policy Lab  ในตอนนั้นเราชวนเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมย้อนกลับไปดูต้นตอที่แท้จริงของปัญหา เพื่อสร้างนโยบายที่ยั่งยืนมาแก้ไขความป่วยไข้ หรือปัญหาที่ทุกคนเห็นว่าเป็นแผลที่กำลังลุกลาม และกัดกินสังคมของเราลึกลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพจิตของเยาวชนไทยที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดโรคระบาด ซึ่งมีที่มาจากหลายปัจจัย ทั้งการเรียนออนไลน์ในสภาพแวดล้อมที่ไม่พร้อม ความไม่แน่นอนของรายได้ครอบครัว หรือต้องใช้เวลาอยู่กับสมาชิกในครอบครัวนานเกินไปจนไม่มีพื้นที่ของตัวเอง

การเอ็กซ์เรย์หัวใจของปัญหาไม่ต้องเข้าเครื่องซีทีสแกน แต่ต้องการพลังจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหาทางออกร่วมกัน ขั้นตอนเริ่มต้นเพื่อจัดการความคิดคือ

สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหา > ใครมีส่วนร่วมบ้าง > ปัญหาเกิดขึ้นที่ไหนได้บ้าง > ความแตกต่างของนโยบายตามแต่ละพื้นที่ > จัดลำดับปัญหาที่อยากแก้ไข > ครเป็นผู้มีทรัพยากร > ใครจะเป็นเจ้าภาพเปิดสวิตช์เพื่อขับเคลื่อน

ศิริรัตน์ ชุณศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัยรุ่นของ UNICEF ได้ยกตัวอย่างปัญหาการบูลลี่ซึ่งเป็นเรื่องที่เยาวชนหลายคนกำลังเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพจิต หากเอ็กซ์เรย์ให้ดี ก็จะพบว่าปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ออฟไลน์ และโลกออนไลน์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงไม่ใช่แค่กรมสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ในโรงเรียน และภาคเอกชนอีกหลายแห่งซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ในโลกออนไลน์ โดยหน่วยงานทั้ง 2 ถือว่ามีทรัพยากรเพียงพอทั้งแรงงานและเงินเพื่อเริ่มต้นการขับเคลื่อน

นโยบายที่ดีต้องมาพร้อมวิธีที่สร้างสรรค์และความร่วมมือ

หลังจากเอ็กซเรย์เพื่อหาต้นตอของโรคแล้ว ทางออกที่เปรียบเสมือนยาดีนั้นมีหลายช่องทาง หลายขนานเพื่อทำให้นโยบายเข้มแข็ง โดยสามารถเริ่มจากตรงไหนก็ได้ที่เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ติดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในการขับเคลื่อนโนบาย / สรรหาทรัพยากรทั้งเงิน และบุคคลเพื่อเพิ่มกำลังให้แข็งแรงยิ่งขึ้น / สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ทุกคน / ออกแบบบริการผ่านจุดข้อมูล และผลวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นโยบายให้ตรงจุด หรือแม้กระทั่งกำหนดมาตรฐาน และการควบคุมในกรณีที่ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดพูดถึงเรื่องนี้มาก่อน เพราะในโลกที่หมุนไว กระบวนการออกแบบนโยบายจะไม่ใช่ 1 2 3 4 แต่ยืดหยุ่นและคล่องตัว

เพราะผู้ออกแบบในนโยบายในยุคปัจจุบันต้องมีทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 นั่นก็คือ ความยืดหยุ่น หรือ Resilience ไม่ยึดติดกับโครงสร้างการแก้ปัญหาแบบเดิม สร้างการทำงานในแนวราบมากกว่าบนลงล่างเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ และใช้เวลาให้คุ้มค่าเพราะเป็นทรัพยากรสำคัญที่ผลิตใหม่ไม่ได้ นโยบายที่สร้างสรรค์ต้องมาพร้อมวิธีที่สร้างสรรค์ มีการเรียนรู้ (learning) ชุดใหม่ที่พร้อมส่งต่อ หรือต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top