คำศัพท์ประจำสัปดาห์

Vocabs of the Week

คำศัพท์ด้านนโยบายประจำสัปดาห์

Vocabs of The Week / การพัฒนาเมือง

Digital Divide

Introduction

ตัวอย่าง

Example

Vocabs of The Week

Big Data

Big Data หมายถึง ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และถูกผลิตโดยเครื่องมือต่างๆ เนื้อหาข้อมูลของบิ๊กดาต้านั้นมีตั้งแต่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ (อาทิ แบบแผนการตกของฝนในระดับภูมิภาค) จนไปถึงข้อมูลส่วนตัว (ร่องรอยทางดิจิทัลที่เราทิ้งไว้บนโซเชียลมีเดีย) ที่มาของบิ๊กดาต้านั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ผู้คน เทคโนโลยีอัจฉริยะ ไปจนถึงเซ็นเซอร์ ประโยชน์ของบิ๊กดาต้าคือ มันสามารถถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรได้

ตัวอย่าง

ตัวอย่างเช่น UNDP Ethiopia ร่วมมือกับบริษัทวิเคราะห์ดาต้าชื่อ InnoConnect และองค์การจัดการจราจรแห่งเมือง Addis Ababa จัดทำบทวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และทำแผนที่วิเคราะห์เหตุรถชนในเมือง Addis Ababa เพื่อแสดงให้เห็นว่าเหตุรถชนในเมืองเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง บทวิเคราะห์ที่อาศัยบิ๊กดาต้านี้เผยให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับออกแบบนโยบายเพิ่มความปลอดภัยทางถนนเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

Vocabs of The Week

Intergeneration

Intergeneration หมายถึง การข้องเกี่ยวกันระหว่างผู้คนต่างวัยในแง่ของนโยบายสาธารณะ ทว่า นโยบายระหว่างวัยไม่ได้จดจ่ออยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว แต่นำอนาคตมาเป็นปัจจัยสำคัญของการออกนโยบายด้วย โดยมองว่าปัญหาสังคมต่างๆ นั้นส่งผลกระทบต่อผู้คนนับตั้งแต่อดีตจวบจนภายภาคหน้า นอกจากนี้นโยบายระหว่างวัยยังถูกออกแบบให้ครอบคลุมความสัมพันธ์ใกล้ชิดและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนต่างวัย รวมไปถึงความต้องการที่ทุกคนทุกวัยมีร่วมกัน

ตัวอย่าง

นับตั้งแต่ปี 2012 UNDP ได้ดำเนินโครงการเสริมพลังเยาวชนชื่อว่า “YouthConnekt” จุดประสงค์ของโครงการนี้คือช่วยให้เยาวชนในแอฟริกาที่สนใจการพัฒนาได้ทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญในสายงานอาชีพต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่สามารถผลักดันพวกเขาในเชิงเศรษฐกิจได้ ตลอดระยะเวลา 10 ปี โครงการนี้ได้ส่งเสริมนักธุรกิจที่เป็นเยาวชนมากกว่า 100,000 คน ผ่านการให้ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม โอกาสฝึกงาน และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ นี่เป็นส่วนหนึ่งของ UN Youth Strategy ซึ่งให้ความสำคัญกับการเสริมพลังเยาวชนควบคู่ไปกับความร่วมมือระหว่างคนต่างวัย

Vocabs of The Week

Digital Divide

Digital Divide หมายถึง ความเหลื่อมล้ำจากการขาดช่องทางการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความรู้ด้านดิจิทัล หรือโอกาสในการใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาตัวเองหรือต่อยอดทางอาชีพ ช่องว่างระหว่างผู้คนนี้กว้างขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมันสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำชนิดอื่นๆ โดยตรง (อาทิ การกดขี่ทางเพศ การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ การอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และการแบ่งแยกชนชั้น) ซึ่งความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เป็นตัวกำหนดว่าใครจะเข้าถึงระบบดิจิทัลได้มากน้อยขนาดไหน

ตัวอย่าง

ในปี 2022 UNDP Philippines ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับอุปสรรคในการเข้าถึงเศรษฐกิจแพลตฟอร์มสำหรับผู้หญิงและคนชายขอบอื่นๆ ในประเทศจากการวิเคราะห์พบว่าความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลคืออาการที่บ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำอื่นๆ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างคนในเมืองและคนในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนกันยังส่งผลร้ายต่อมาตรการแทรกแซงเชิงดิจิทัลสำหรับผู้คนในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย โดยนักวิจัยชี้ว่าการยกระดับการเข้าถึงระบบดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อความเหลื่อมล้ำมิติอื่นๆ ได้รับการจัดการไปพร้อมๆ กัน

Vocabs of The Week

Renew

Renew หมายถึง การช่วยให้ชุมชนออกจากสภาพย่ำแย่ด้วยวิธีต่างๆ อาทิเช่น การขยายระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของสมาชิกชุมชนนั้นๆ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยที่สนับสนุนโดยรัฐ การยกระดับสุขอนามัยชุมชน และการเพิ่มความเชื่อมต่อในการเดินทาง (connectivity) ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลายมากขึ้น เราอาจรื้อฟื้นชุมชนได้ด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางการค้าเช่นกัน

ตัวอย่าง

ตั้งแต่ปี 2015 – 2020 UNDP ได้ดำเนินโครงการชื่อ “Productivity and Urban Renewal in East Jerusalem Programme (PURE)” เพื่อสนับสนุนคนปาเลสไตน์ในเยรูซาเล็มตะวันออกในมิติเศรษฐกิจและสังคม โครงการนี้ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจกับชุมชนผ่านการฟื้นฟูย่านธุรกิจ ขยายธุรกิจท่องเที่ยว และช่วยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถทำธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น นอกเหนือไปจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์แล้ว โครงการ PURE ยังช่วยบูรณะตึกที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ให้กลับมาเป็นปรกติอีกด้วย

Vocabs of The Week

Catalyst

Catalyst หมายถึง ปัจจัยและการกระทำที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบ ตัวเร่งไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงโดยตรง แต่มีส่วนช่วยให้เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ผลกระทบของตัวเร่งนั้นสามารถเป็นได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ เพราะตัวเร่งอาจทำให้โครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เปลี่ยนทิศทางของสภาพสังคม ณ ปัจจุบัน หรืออาจยุติการมีอยู่ของบางสิ่งบางอย่างได้เช่นกัน

ตัวอย่าง

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดคือหนึ่งในตัวเร่งที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน ไวรัสโควิดทำให้เกิดภาวะ “new normal” หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ ณ ตอนนี้ได้กลายมาเป็นเรื่องปรกติและบรรทัดฐานในการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ในตลาดแรงงาน การทำงานนอกออฟฟิศแพร่หลายมาก ทำให้กระแสการทำงานรูปแบบนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานการทำงานทั่วโลก 

ในขณะเดียวกัน การทำงานออนไลน์อย่างต่อเนื่องทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลรุนแรงมากขึ้น การต้องติดต่อและเชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอจึงกลายเป็นภาระสำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือขาดการสนับสนุนจากระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

Vocabs of The Week

Awareness-based System Change

Awareness-based system change หมายถึง แนวทางการวิจัยที่เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนเปลี่ยนวิธีคิด และเมื่อแนวทางการแทรกแซงในรูปแบบดั้งเดิม (อาทิ นโยบาย การอบรม) ไม่อาจจัดการกับความเหลื่อมล้ำในระดับรากฐานได้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีมาตรการที่ทำงานกับความคิดของผู้คนมาหนุนเสริมอีกทาง แนวทางนี้มองว่า การปลุกเร้ากระแสสำนึกคือปัจจัยสำคัญสำหรับการล้มล้างอุดมการณ์ความคิดที่ไม่เป็นธรรมซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในชีวิตจริง

ตัวอย่าง

ตัวอย่างเช่น ในเมืองเบโด ประเทศโซมาเลีย UNDP ได้จัดตั้งโครงการเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่ตั้งต้นจากความตระหนักรู้ โดยมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication หรือ NVC) เป็นหัวใจสำคัญ ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ตนเองเคยเผชิญกับความอยุติธรรม และได้ทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ 

กิจกรรมนี้ทำให้เกิดวิธีการคลี่คลายข้อพิพาทที่สนับสนุนให้ผู้เจรจาเข้าใจที่มาที่ไปของคู่ขัดแย้งทุกฝั่งก่อนตัดสิน เมื่อทุกฝ่ายรู้สึกว่ามีคนรับฟัง และได้รับฟังมุมมองของผู้อื่น คู่ขัดแย้งมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายข้อพิพาท และนำแนวคิดค่านิยมที่ยึดโยงกับความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมาใช้

Vocabs of The Week

Revolutionise

Revolutionise หมายถึง การสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ระบบในระดับรากฐาน อาจทำให้ระบบเดิมสาบสูญไปและเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทน การปฏิวัติอาจสร้างผลกระทบแก่การเมือง สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ระบบนิเวศ การผลิตองค์ความรู้ หรือมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ โดยความเปลี่ยนแปลงที่มากับการปฏิวัตินั้นไม่ใช่สิ่งที่ให้โทษหรือให้ประโยชน์ในตัวเองเสมอไป

ตัวอย่าง

ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ซึ่งทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างมิติออนไลน์และออฟไลน์ ปราศจากการแบ่งแยกระหว่างระบบดิจิทัลและอนาล็อก นำไปสู่การพางานเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ (ยกตัวอย่างเช่น การใช้ Artificial Intelligence [AI], เทคโนโลยีอัจฉริยะ และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ) 

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ก็ส่งผลกระทบทางสังคมเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก AI ที่ไม่อาจตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ได้โดยปราศจากอคติ สร้างอันตรายให้กับกลุ่มคนชายขอบยิ่งกว่าเดิม การจัดการความเสี่ยงที่มากับการปฏิวัติจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งศูนย์จริยธรรมทางข้อมูลและนวัตกรรมขึ้น (Centre for Data Ethics and Innovation) เพื่อกำกับควบคุมการใช้ AI ให้เป็นไปตามกรอบจริยธรรม

Vocabs of The Week

Ecosystem

Ecosystem หมายถึง เครือข่ายที่ประกอบด้วยสมาชิกและองค์กรต่างๆ ที่หลากหลาย โดยแต่ละคนมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันทรัพยากร ความรู้ และทักษะสำหรับสรรค์สร้างศักยภาพในการเติบโตร่วมกัน โดยสมาชิกของระบบนิเวศ มีจุดประสงค์และเป้าหมายร่วมกัน และแต่ละคนต่างพึ่งพากันและกันเพื่อความก้าวหน้าของทั้งส่วนรวมและส่วนตัว รวมถึงเพื่อขยายทักษะความรู้ของตัวเองด้วย

ตัวอย่าง

สิงคโปร์กำลังเดินหน้าสร้างภาคส่วนธุรกิจเพื่อสังคมให้เป็นระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เข้มแข็ง โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต่างมีส่วนร่วมในการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมเท่าๆ กัน ทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้สร้างโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนนักธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ในภาคธุรกิจได้ให้งบสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมมากมาย 

การประสานงานข้ามภาคส่วนนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นเนื่องจากมีองค์กรตัวกลางคอยดูแล ซึ่งองค์กรดังกล่าวยังทำหน้าที่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคมในสิงคโปร์ด้วย ความร่วมมือข้ามภาคส่วนนี้ทำให้เกิดระบบที่ส่งเสริมนวัตกรรมอย่างยั่งยืนมากขึ้น

Vocabs of The Week

Reinvigorate

Reinvigorate หมายถึง การเสริมกำลัง ที่ในบริบทนี้หมายถึงการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในปัจจุบัน ตึกและพื้นที่เหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์หรือดัดแปลงเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันได้หลายรูปแบบ และแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องรองรับการใช้งานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ตัวอย่าง

ตัวอย่างเช่น เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ได้เปลี่ยนหลุมหลบภัยทางอากาศที่ไม่มีใครใช้งานแล้ว ให้กลายเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจหลายประเภท ตั้งแต่ร้านอาหาร ที่พัก ห้องผ่าตัด ไปจนถึงสถานที่เพาะปลูก หลุมหลบภัยแห่งนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ เนื่องจากมีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เดินทางเข้ามาได้สะดวก และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกัน เจ้าของกิจกรรมเองก็ได้ประโยชน์จากพื้นที่นี้เช่นกัน เนื่องจากค่าเช่าพื้นที่ในหลุมหลบภัยนี้มีราคาถูกกว่าพื้นที่พาณิชยกรรมอื่นๆ 

Vocabs of The Week

Policy Canvas

Policy Canvas คือ เครื่องมือที่ช่วยให้เห็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการนโยบาย โดยส่วนใหญ่กระดานนโยบายจะมีความยาวเพียงหน้าเดียว เนื้อหาเน้นแนวคิดสำคัญของนโยบายมากกว่ารายละเอียดทั้งหมด นอกจากนี้เนื้อหาในกระดานนี้ยังจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามผลลัพธ์ที่ได้จากการนำแนวคิดที่ทดลองกับผู้ใช้นโยบาย

ตัวอย่าง

กระดานนโยบายช่วยเพิ่มความเร็วและความคล่องตัวในกระบวนการนโยบาย เนื่องจากเครื่องมือนี้ช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับปัจจัยสำคัญเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในประเทศรวันดา รัฐบาลได้ใช้เครื่องมือนี้เพื่อร่างนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ หรือแผนยุทธศาสตร์สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจฐานความรู้ภายในปี 2050 องค์ประกอบหลักๆ สำหรับกระดานนโยบายนี้ ได้แก่ ผู้ได้รับผลประโยชน์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง บริบท กระบวนการและพันธมิตร การลงทุน ความเสี่ยง จังหวะเวลา และข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไปโดยรวม 

ในขั้นตอนการออกความคิดเห็น (ideate) ข้อมูลภายใต้คอลัมน์ต่างๆ จะเปลี่ยนไปตามผลการทดลองแต่ละครั้งเสมอ ด้วยวิธีนี้เอง เราจะเห็นภาพรวมของนโยบายที่กำลังพัฒนา และเห็นความก้าวหน้าของแนวคิดอยู่เสมอ

Vocabs of The Week

Revitalise

Revitalise คือการฟื้นฟู ที่ในบริบทนี้หมายถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในชุมชนที่ขาดโอกาสหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคม ผ่านแนวทางการพัฒนาเมืองที่ครอบคลุมมิติต่างๆ เช่น การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น การขยายพื้นที่ทางวัฒนธรรมและพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ หรือโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม

ตัวอย่าง

การลงทุนฟื้นฟูชุมชนคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ท้องถิ่นคงอยู่ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ภาวะโรคระบาดไม่ได้เป็นเพียงภัยต่อสาธารณสุขระดับชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ีดีของชุมชนท้องถิ่น เพื่อพยุงตัวให้รอดพ้นจากวิกฤติ เทศมณฑล Hennepin รัฐมินนิโซตา ตัดสินใจของบประมาณสำหรับการฟื้นฟูชุมชนด้วยการสร้างพื้นที่สำหรับชุมชนและภาคธุรกิจ และพื้นที่สำหรับใช้งานโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งช่วยรักษาและสร้างงานขึ้นมาอีกกว่า 800 ตำแหน่ง

Vocabs of The Week

Co-create

Co-create หมายถึง การร่วมกันสร้าง ที่ในบริบทนี้หมายถึงการพัฒนาทางออกร่วมกันกับประชาชนในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตย และช่วยให้ทุกคนยืนอยู่บนระนาบเดียวกัน ไม่ใช่การพึ่งพากระบวนการนโยบายที่ใช้อำนาจแนวดิ่ง ที่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น การร่วมกันสร้างคือกระบวนการมีส่วนร่วมที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ โดยเฉพาะสาธารณชน เนื่องจากทุกคนสามารถเป็นผู้ออกแบบนโยบายที่มีสถานะเท่าเทียมกัน และร่วมกันหาทางออกอย่างโปร่งใสได้

ตัวอย่าง

กระบวนการนโยบายแบบใช้อำนาจแนวดิ่งแยกผู้ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายออกจากผู้ออกนโยบายอย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับนโยบายหรือเครื่องมือที่ออกแบบให้พวกเขา เพราะฉะนั้น เพื่อลดระยะห่างระหว่างภาครัฐและประชาชน เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับการออกแบบนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น EU Policy Lab ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาเสนอประเด็นเชิงนโยบาย หลังจากได้ข้อคิดเห็นจากผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายโดยตรงแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้ไปร่วมกันพัฒนาเป็นกรอบการทำงานสำหรับออกแบบและทดลองนโยบายต่างๆ

Vocabs of The Week

Breakthrough

หมายถึง การเจาะทะลุ ที่ในบริบทนี้คือการฝ่าฟันอุปสรรค เช่น ความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรม และการยุติความยากจน

ตัวอย่าง

การสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังคือหัวใจของการออกแบบนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยเจาะทะลุอุปสรรค ยกตัวอย่างเช่น เทศบาลโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ริเริ่มโครงการบูรณะเรื่องเพศให้เป็นกระแสหลักในการพัฒนา (gender mainstreaming) สำหรับหน่วยงานรัฐท้องถิ่น หลังจากนั้นทางเทศบาลจึงพบว่า ผู้หญิงในภาคส่วนการให้บริการดูแล ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างมากกว่าคนอื่น จึงนำมาสู่การหาทางออกสำหรับปัญหานี้ได้ในที่สุด

สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาร์เจนตินาคือหนึ่งในประเทศที่นำเอาข้อเสนอการมีส่วนร่วมของนานาประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution: NDC) มาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ อาร์เจนตินาจึงสร้างหน่วยงานพิเศษเพื่อประสานงานกับจังหวัดและเทศบาลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ

Vocabs of The Week
Divergent Thinking VS. Convergent Thinking

Divergent Thinking VS. Convergent Thinking

การคิดแบบขยาย (Divergent thinking) หมายถึง กระบวนการคิดแบบเน้นตั้งคำถามว่าปัจจุบันงานของเราต้องการอะไร และหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การคิดแบบบรรจบ (Convergent thinking) หมายถึง กระบวนการคิดที่ใช้หลักการและเหตุผลในการเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด เหมาะสมสำหรับนำมาปฏิบัติใช้จริงที่สุด

การคิดแบบขยายและบรรจบนั้นเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ทั้งสองอย่างต่างเติมเต็มกันและกัน โดยการคิดแบบขยายจะใช้วิธีทำความเข้าใจและคิดค้นทางออกอย่างสร้างสรรค์ ในขณะที่การคิดแบบบรรจบมองโลกผ่านตรรกะ เพื่อเลือกคำตอบที่ถูกต้องเหมาะสม

การคิดแบบขยายเน้นการระดมสมองเพื่อค้นหาว่า สิ่งที่จะทำให้งานของเราบรรลุวัตถุประสงค์มีอะไรบ้าง และเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งคำถามเหล่านี้จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ต่างๆ เป้าหมายของการคิดแบบนี้คือการช่วยกันออกความคิดเห็นในแบบ “ฟรีสไตล์” ในขณะเดียวกัน การคิดแบบบรรจบให้น้ำหนักกับตัวเลือกที่ใช้ได้จริง เพราะจุดมุ่งหมายของแนวคิดแบบนี้คือ การเลือกสิ่งที่ดีที่สุดท่ามกลางทางเลือกมากมายที่เรามีอยู่ในมือ

การคิดทั้งสองแบบนั้นสำคัญสำหรับนักนโยบาย เพราะการคิดแบบขยายทำให้เรามองปัญหาอย่างสร้างสรรค์และมองไปไกลกว่าโลกทรรศน์ตัวเอง ในขณะที่การคิดแบบมีหลักการและเหตุผลทำให้เราเจอหนทางที่ถูกต้อง และพาเราไปสู่ความสำเร็จได้

ตัวอย่าง

เราอาจถามเพื่อนร่วมงานรายคนว่างานขาดอะไรไป แต่ละคนเข้าใจข้อบกพร่องอย่างไร นอกจากนี้เองเราอาจจำลองสถานการณ์สมมติต่างๆ และถามว่าภายใต้สถานการณ์ต่างๆ งานของเราจะออกมาเป็นแบบไหนได้บ้าง การตั้งคำถามแบบปลายเปิดช่วยให้แต่ละคนตอบคำถามในแบบของตัวเอง ไม่ซ้ำกัน หลังจากได้คำตอบมาแล้ว เราอาจใช้ปัจจัยต่างๆ มาเป็นเกณฑ์การพิจารณาตามความเหมาะสม อาทิ ศักยภาพในการนำมาพัฒนาต่อ หรือแนวโน้มความสำเร็จของทางเลือกต่างๆ 

Vocabs of The Week

Place-based solution

หมายถึง การแก้ไขปัญหาแบบอิงสถานที่ หรือการคำนึงถึงปัญหาเฉพาะและสถานการณ์ของพื้นที่นั้นๆ และสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยกัน เพื่อให้เกิดทางออกที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ และครอบคลุมความซับซ้อนของปัญหามากที่สุด

ตัวอย่าง

ในขณะที่เรามีนโยบายแบบ “ทางเลือกเดียวบังคับใช้กับทุกคน” หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เพิกเฉยบริบทของปัญหา และความต้องการที่แตกต่างกันไปของผู้ใช้นโยบายทั่วประเทศ  อีกด้านหนึ่งของการออกนโยบายคือการแก้ไขปัญหาแบบอิงสถานที่ ซึ่งพยายามหาทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ท้องถิ่น แนวคิดนี้นำชุมชนมาเป็นประธานของการทำงาน โดยส่งเสริมให้สมาชิกชุมชน เข้ามาออกแบบนโยบาย เมื่อนโยบายเกิดขึ้นจากท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น นโยบายต่างๆ จึงจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงปัญหาที่ซับซ้อนและเฉพาะตัวในพื้นที่เช่นกัน

Vocabs of The Week

Anthropology

หรือมานุษยวิทยา คือศาสตร์ที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยพิจารณาพัฒนาการทางชีววิทยา กระบวนการสร้างสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์อยู่ในสังคม มานุษยวิทยาต้องการให้เราทบทวนวิธีที่เรามองโลก โดยเฉพาะความเชื่อ ค่านิยม ความคิดในสังคมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเรา มานุษยวิทยาช่วยให้เราพาผู้มีส่วนได้เสียในนโยบายและคนชายขอบกลับเข้ามาในกระบวนการผลิตนโยบาย

ตัวอย่าง

มานุษยวิทยาช่วยให้เราไตร่ตรองอีกทีว่า อะไรคือสิ่งที่เรามองว่าจำเป็น เร่งด่วน หรือเป็นราคาที่ต้องจ่ายในระหว่างการออกแบบนโยบาย และทัศนคติแบบนี้จะส่งผลอย่างไรต่องานวิจัยและโครงการของเรา ในขณะเดียวกัน วิธีวิทยาของมานุษยวิทยาเน้นการทำงานในพื้นที่และทำงานแบบเอาคนเป็นศูนย์กลาง กระบวนการทำงานดังกล่าวช่วยให้เราพาผู้มีส่วนได้เสียในนโยบายและคนชายขอบกลับเข้ามาในกระบวนการผลิตนโยบายได้ ด้วยวิธีนี้เอง เราจะสามารถเข้าใจความต้องการ ประเด็นเร่งด่วน และสถานการณ์ชีวิตที่แตกต่างในหมู่ประชากรได้

Vocabs of The Week

Driver

หมายถึง ปัจจัยขับเคลื่อน ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนตัวหนึ่งอาจทำให้สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป เช่น ทำให้เกิดทิศทางการทำธุรกิจแบบใหม่ เอื้อให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป หรือก่อให้เกิดค่านิยมทางสังคมใหม่ๆ ปัจจัยขับเคลื่อนคือแรงผลักดันที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลายมิติพร้อมกันได้

ตัวอย่าง

“เมืองอัจฉริยะ” โครงการนี้อาจเป็น ‘ปัจจัยขับเคลื่อน’ ที่กระตุ้นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทบทวนแนวทางราชการแบบเก่าๆ และทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เมืองอัจฉริยะเองก็อาศัยข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนในระดับมหาศาลเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนตามมา ในฐานะนักนโยบาย เราจำเป็นต้องจัดการความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลซับซ้อน และหาสมดุลระหว่างความก้าวหน้าและความเป็นธรรมให้เจอ

Vocabs of The Week

Equity

หมายถึง ความเสมอภาค ซึ่งคือความเชื่อว่าทุกคน จะมีโอกาสใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมได้ หากรัฐจัดการความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ และกระจายทรัพยากรให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม ในขณะที่แนวคิดเรื่อง ‘ความเท่าเทียม’ คือการให้รัฐและกฎหมายปฏิบัติกับทุกคนเหมือนๆ แต่เรื่อง ‘ความเสมอภาค’ จะต้องย้อนกลับมาดูทรัพยากรที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องช่วยเหลือแต่ละกลุ่มคนมากน้อยต่างกันถึงจะเกิดความเสมอภาคได้

ตัวอย่าง

ในสังคมที่กระจายความมั่งคั่งและอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม บางกลุ่มจะขาดโอกาสและเครื่องมือในการพัฒนาชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น และความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและกลุ่มคนชายขอบจะถ่างกว้างกว่าเดิม นักนโยบายจึงต้องคำนึงถึงสถานการณ์ชีวิตและความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกัน โดยกระจายทรัพยากรไปยังกลุ่มเปราะบางตามสัดส่วนความต้องการในพื้นที่ เมื่อได้รับแรงสนับสนุนและโอกาสที่เพียงพอ กลุ่มคนชายขอบจึงจะสามารถยืนหยัดโดยเท่าเทียมกับคนอื่นจริงๆ

Vocabs of The Week

Facilitate

หมายถึงจัดกระบวนการ หรือการช่วยให้ทุกคนในวงพูดคุยได้แสดงความคิดเห็นและรับฟังทรรศนะจากผู้อื่นอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน หัวใจของการจัดกระบวนการคือการเอื้ออำนวยให้ผู้คนคุยกัน โดยกระบวนกรจะช่วยให้คนในวงพูดคุยได้แบ่งปันความคิดเห็น ออกไอเดีย คิดนอกกรอบ และบริหารบทสนทนาให้อยู่ในประเด็นพูดคุย

ตัวอย่าง

บางครั้งวงพูดคุยมักจะหยิบยกประเด็นที่ละเอียดอ่อน อาจทำให้ให้คนรู้สึกไม่สบายใจมากพอจะบอกเล่าความในใจทั้งหมด ด้วยเหตุนี้กระบวนกรเองจึงจำต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เข้าร่วม หน้าที่หลักของกระบวนกรคือการกระจายโอกาสในการแสดงความคิดเห็นให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมรับฟังเรื่องราวของผู้อื่นอย่างตั้งใจ นอกจากนี้เองกระบวนกรยังช่วยสรุปประเด็น คลายข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ และตั้งคำถามที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมคิดได้ลึกซึ้งมากขึ้นอีกด้วย

Vocabs of The Week

Ideate

หมายถึงการออกความคิดเห็น ซึ่งเป็นกระบวนการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทางออก
ให้ได้มากที่สุด มักเกิดขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งคน และใช้เครื่องมือระดมความคิดต่างๆ เช่น การ brainstorming หรือการถามว่าเราน่าจะทำอย่างไรได้ (How might we?) แม้ว่าคนจะมองว่ากระบวนการนี้คือการเฟ้นหาความคิดที่เป็นประโยชน์เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วมันคือการคิดว่าเราทำอะไรได้ในสถานการณ์ต่างๆ มากกว่าการหาตัวเลือก
ที่ดีที่สุดอย่างเดียว

ตัวอย่าง

การออกความคิดเห็นคือการรวมกันตั้งคำถามว่า “จะทำต่อไปอย่างไรดี?” ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจำลองสถานการณ์ที่ทุกอย่างประสบความสำเร็จ และค้นหาว่าต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้นได้ ในขณะเดียวกันเอง เราสามารถลองสร้างสถานการณ์ที่ทุกอย่างล้มเหลว และช่วยกันคิดว่าเกิดอะไรขึ้น การตัดสินใจแบบใดที่จะพาเราไปอยู่ในจุดที่ล้มเหลวเพื่อป้องกันและรับมือไว้ก่อน

Vocabs of The Week

Spectrum

สเปกตรัม หมายถึง ความหลากหลายของสิ่งต่างๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับระบบไบนารี่ ที่ย่อยความคิดและทรรศะต่างๆ จนเหลือแค่สองขั้วตรงข้ามเท่านั้น เราใช้ชีวิตอยู่ในระบบที่มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมต่างตอบโต้กัน และส่งผลต่อกันและกัน แทนที่จะเพ่งความสนใจไปยังปัญหาไม่กี่จุด นักนโยบายสามารถมองระบบจากทั้ง “สเปกตรัม” หรือมองมิติต่างๆ พร้อมกัน โดยพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างมิติต่างๆ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามมา

ตัวอย่าง

สาเหตุของการทอดทิ้งคนสูงอายุในครอบครัวอาจมีทั้งปัจจัยส่วนตัวและปัจจัยเชิงโครงสร้าง (เช่น ช่องห่างระหว่างรายได้ของคนรวย-คนจน, การพัฒนาเมืองแบบผลักไสคนจน, ค่านิยมทางเพศที่เหยียดเพศ) ส่งผลต่อความมั่นคงของครอบครัว และศักยภาพในการจุนเจือครอบครัวเช่นกัน

Vocabs of The Week

Leverage Point

หมายถึง จุดงัดคาน ซึ่งคือจุดใดจุดหนึ่งในระบบที่ซับซ้อน ที่เป็นจุดตั้งต้นให้เราใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆได้ อาจเป็นประเด็นหรือองค์กร เช่น อาทิ องค์กรมหาชน อุตสาหกรรม หรือรัฐสภา ในระบบเหล่านี้ ผู้เล่นและประเด็นต่างๆ ล้วนคาบเกี่ยวกัน การวิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อนระบบต่างๆ อาทิ กระแสการเปลี่ยนแปลง ความเชื่อ สมมติฐาน จะช่วยให้นักนโยบายพบจุดงัดคานมากมายที่กระจายตัวอยู่ตามปัจจัยต่างๆ

ตัวอย่าง

การเลี้ยงลูกด้วยการดุด่าว่ากล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิตของเด็ก เพื่อท้าทายสมมติฐานเกี่ยวกับคุณค่าครอบครัว เราอาจใช้วิธีกระจายความรู้เกี่ยวกับการรักลูกในแบบที่ปลอดภัยมากขึ้น และพยายามเอาตราบาปออกจากบทสนทาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ในขณะเดียวกันเอง วิธีการที่จับต้องได้มากขึ้นอาจจะเป็นการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยช่วยให้คนเข้าถึงการบำบัดและให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น

Vocabs of The Week

Myth

มายาคติ หมายถึง สิ่งที่สังคมเชื่อว่าเป็นจริง ข้อสันนิษฐานเหล่านั้นเกิดขึ้นจากความเชื่อและคุณค่าทางสังคมในยุคสมัยใดสมัยหนึ่ง ส่งผลต่อความเข้าใจโลกของเราโดยตรง กล่าวได้ว่า เราไม่ได้มองโลกในแบบที่มันเป็น แต่มองโลกผ่านเลนส์ที่สังคมส่งต่อมาให้เราแล้ว

ตัวอย่าง

หนึ่งในความเชื่อที่ทรงพลังมากที่สุด คือ “เลือดข้นกว่าน้ำ” หรือ “ครอบครัวที่ให้กำเนิดสำคัญกับเรามากที่สุด” สังคมมักมองว่าโครงสร้างครอบครัวแบบพ่อ-แม่-ลูกคือสายสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง ฉะนั้นคนในครอบครัวจึงรับผิดชอบต่อกันและกันมากที่สุด สิ่งนี้สะท้อนอยู่ในนโยบายต่างๆ เช่น การลาด้วยกิจอันจำเป็นเกี่ยวกับครอบครัว อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนมากไม่อาจใกล้ชิดกับครอบครัวที่ให้กำเนิดได้ เช่น คนที่โดนพ่อแม่กระทำรุนแรง นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันคำว่าครอบครัวเองยังไปไกลกว่าครอบครัวที่ผูกพันทางสายเลือด หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อหารือเรื่องนโยบายดูแลประชาชนหรือประชากร นักนโยบายจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และโครงสร้างครอบครัวรูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

Vocabs of The Week

Metaphor

อุปมาอุปไมย หมายถึงการเปรียบเทียบหรือ
เปรียบเปรยเหตุการณ์กับปรากฏการณ์อื่นๆ
เพื่อช่วยให้ผู้รู้สึกเข้าใจ เห็นภาพ หรือรู้สึกเชื่อมโยงมากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ในกระบวนการออกแบบนโยบาย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจปัญหาลึกซึ้งมากขึ้น

ตัวอย่าง

อุปมาอุปไมยคือหนึ่งในวิธีที่มนุษย์ใช้ทำความเข้าใจโลก เช่น การเปรียบว่า ”โลกนี้คือละคร” สำหรับนักนโยบาย การเข้าใจอุปมาอุปไมยในนโยบายต่างๆ ในอดีต จะช่วยให้เราเข้าใจว่าผู้ผลิตสารนั้นๆ กำลังรู้สึกอย่างไรกับประเด็นต่างๆ เช่น ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก มีการอธิบายวิธีควบคุมการแพร่ระบาดว่าเป็นการทำ “สงครามกับโรคระบาด” แนวคิดนี้สะท้อนว่าโรคเป็นศัตรู จำเป็นต้องอาศัยมาตรการเด็ดขาดเพื่อช่วยให้ชาติพ้นภัย นักนโยบายจึงจำต้องเข้าใจว่าภาษากำลังถ่ายทอดจินตนาการเชิงนโยบายอย่างไร และมันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรตามมา

หรือในกระบวนการออกแบบนโยบาย เราใช้เครื่องมืออย่าง ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ในการขุดรากสาเหตุของปัญหา ซึ่งภูเขาน้ำแข็งเป็นการอุปมาอุปไทยกับปัญหาที่มีสาเหตุที่มองไม่เห็น ซึ่งการใช้ภูเขาน้ำแข็งมาเปรียบเปรยได้ทำให้ผู้ออกแบบนโยบายขุดสาเหตุของปัญหาได้ลึกมากขึ้น

Vocabs of The Week

Narrative

หมายถึง เรื่องเล่า การถ่ายทอดความคิด ประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น

นักนโยบายหรือทุกอาชีพสามารถใช้เรื่องเล่าเพื่อดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายสนใจนโยบาย สินค้า หรือบริการต่างๆ ได้มากขึ้น เราอาจเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร ด้วยการเลือกแง่มุมที่สำคัญมาใช้ หรือคัดข้อมูลสถิติต่างๆ มาเสริมความน่าเชื่อถือของนโยบายหรือบริการของเรา

ตัวอย่าง

การท่องเที่ยวของแต่ละชุมชนควรดึงเรื่องราวของชุมชนออกมาเพื่อสร้างมูลค่าและความน่าดึงดูดให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

Vocabs of The Week

Entry Point

หมายถึง ปัญหาขนาดเล็กที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขนาดใหญ่ สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนได้

ตัวอย่าง

เมื่อก้อนปัญหาขนาดใหญ่ถูกแบ่งออกเป็นปัญหาย่อย นักนโยบายจะมองเห็นปัญหาในระดับต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น หากต้องการลดความเปราะบางด้านสุขภาพของคนชายขอบ นักนโยบายจำเป็นต้องมองหาปัญหาจากหลายด้านๆ เช่น ระบบสาธารณสุขที่ไม่ครอบคลุม หรือชุมชนที่ขาดแคลนงบประมาณสนับสนุน จากนั้นจึงคิดค้นกลไกบรรเทาปัญหา

Vocabs of The Week

Bright Spot

การศึกษาจุดเด่นท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบากจะทำให้เราทราบว่า ทำไมเขา/หน่วยงานนั้นจึงทำงานได้มีประสิทธิภาพ และปัจจัยอะไรจะทำให้ความสำเร็จนั้นยั่งยืนต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ในการเปลี่ยนเมืองให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ” (smart city) แต่ละเมืองมีประสบการณ์กับเทคโนโลยีที่ต่างกันไป บทเรียนจากเมืองที่มีประสบการณ์ที่ดี (Bright Spot) จะช่วยให้นักนโยบายสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของเมืองอื่นๆ ได้

ตัวอย่าง

“Bright spot” หรือจุดเด่น หมายถึง หน่วยงานหรือบุคคลที่ทำงานได้ประสบความสำเร็จ แม้จะอยู่ภายใต้สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย

Vocabs of The Week

Dynamics

พลวัต (dynamics) หมายถึงการไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในบริบทนโยบายสาธารณะ คำนี้อธิบายปรากฎการณ์การออกแบบและตัดสินใจเชิงนโยบายที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและผู้เล่นทั้งในและนอกระบบ

ตัวอย่าง

ในการออกแบบนโยบายนั้น ต้องมีการระบุทั้งปัญหา เป้าหมาย เครื่องมือทำงาน วิธีการหารือและเลือกนโยบาย อำนาจในการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย และองค์กรสถาบันที่เกี่ยวข้อง แม้สิ่งเหล่านี้อาจจะถูกกำหนดเอาไว้แต่แรกแล้ว แต่ก็อาจมีเหตุจำเป็นให้ต้องกลับไปทบทวนอยู่เสมอ เช่น หลักจากศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาแล้ว นักนโยบายอาจพบว่าตนให้นิยามกับปัญหาที่แคบ/กว้างเกินไป หรือถูกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทักท้วงให้ระบุปัญหาใหม่ การออกแบบนโยบายจึงจำต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้

Vocabs of The Week

Decolonization of development

คือการพัฒนาโดย ‘ละทิ้ง’ มรดกทางความคิดของประเทศเจ้าอาณานิคม ที่มองว่าประเทศตะวันตก-อุตสาหกรรมคือต้นแบบแห่งความก้าวหน้า ที่ประเทศอื่นๆ ต้องรอให้ประเทศเจ้าอาณานิคมเข้าไปช่วย เพื่อไปไกลกว่าการพัฒนาแบบเดิมๆ เราจำเป็นต้องรื้อถอนตรรกะนี้ และทบทวนวิธีที่เรามอง “กลุ่มเป้าหมายรอการพัฒนา” และมองหาองค์ความรู้อื่นๆ ที่เหมาะกับบริบทสังคมนั้นๆ

ตัวอย่าง

การจัดการสิ่งแวดล้อมมีทั้งแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้ลบล้างกันเสมอไป เราอาจย้อนกลับมาดูว่า ผู้คนและทรัพยากรต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างไร สิ่งที่เราทำมีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงร่วมทำงานกับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มนักวิชาการที่เราคุ้นเคย เช่น กลุ่มคนพื้นเมือง

Vocabs of The Week

Sustainability

หมายถึง ความยั่งยืน หรือการลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่คำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อมในระยะยาวที่ส่งผลต่อคนรุ่นหลัง

ตัวอย่าง

การท่องเที่ยวคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของไทย แต่การท่องเที่ยวก็ส่งผลกระทบเชิงลบต่อชุมชนต่างๆ เช่นกัน เราจึงจำเป็นต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น เช่น กา ท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชน ที่ไม่เพียงแต่ชุมชนจะมีสิทธิจัดการพื้นที่ของตัวเองเต็มที่ แต่ชุมชนยังมีช่องทางหารายได้เพิ่มเติมด้วย ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ชุมชนประมง การท่องเที่ยวลักษณะนี้ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้โดยไม่ต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตจากธรรมชาติตลอดเวลา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีเวลาฟื้นฟู และชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

Vocabs of The Week

Cascade Effect

Cascade effect หมายถึง ผลกระทบเป็นทอดๆ ของเหตุการณ์หรือการกระทำที่ทำให้ระบบเปลี่ยนไป ปฏิกิริยาลูกโซ่นี้อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออยู่นอกเหนือการคาดการณ์

ตัวอย่าง

หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการบริหารภาครัฐยุคใหม่ คือฐานข้อมูลที่สามารถเข้าถึงออนไลน์ได้ ข้อมูลออนไลน์ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และยังลดทรัพยากรในการตีพิมพ์เอกสารต่างๆ แต่การทำศูนย์ข้อมูลออนไลน์ก็ต้องอาศัยพลังงานต่างๆ เพื่อทำให้ระบบทำงานได้ตลอดเวลา นำไปสู่การปล่อยคาร์บอนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งนี่คือ “cascade effect” ของฐานข้อมูลออนไลน์ ที่เราจึงต้องคิดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในด้านนี้ด้วย

Vocabs of The Week

Gender Mainstreaming

“Gender mainstreaming” หมายถึง มุมมองมิติทางเพศที่ถูกนำมาคิดในการทำงานทุกระดับและในโจทย์ทุกๆ ด้าน เมื่อเรามีมิติทางเพศเป็นฐานคิด ทุกการตัดสินใจจะคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน จัดสรรงบประมาณรายปี ทำงานวิจัย หรือออกนโยบาย

ตัวอย่าง

นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาด หนึ่งในประเด็นที่คนสนใจมากที่สุดคือ ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลระหว่างผู้เรียนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสะดวก-ไม่สะดวก แต่ยังขาดการวิเคราะห์อย่างจริงจังว่า การกักตัวอยู่ที่บ้านส่งผลต่อมิติทางเพศของผู้เรียนได้อย่างไร เช่น เกิดอะไรขึ้นกับนักเรียนกลุ่ม LGBTQ+ ที่โดนบีบให้อยู่กับบ้าน ที่อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับ LGBTQ+ ทุกคน และไม่สามารถพบเจอเพื่อนและเครือข่ายสนับสนุนของตนได้

Vocabs of The Week

Digital Democracy

หรือประชาธิปไตยดิจิทัล คือการนำเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองการปกครอง เพื่อให้ผู้คนได้รับข้อมูลภาครัฐที่โปร่งใส และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการตัดสินใจของรัฐ

ตัวอย่าง

“Better Reykjavik” เป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยดิจิทัลที่ช่วยให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจของรัฐ แพลตฟอร์มออนไลน์นี้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เสนอไอเดียพัฒนาชุมชนของตน เปิดให้ผู้คนแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย หรือแม้แต่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้งบประมาณรัฐ

Vocabs of The Week

Inclusivity

หรือการโอบรับคนทุกคน คือหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย และเป็นหลักการพื้นฐานในการออกแบบนโยบาย การโอบรับคนทุกคนคือการคำนึงอยู่เสมอว่านโยบายต้องยอมรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกพื้นเพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่สร้างอุปสรรคให้พวกเขา แต่ต้องอำนวยความสะดวกให้คนทุกคน

ตัวอย่าง

นักนโยบายจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่สาธารณะ แต่ปรากฏว่าผู้ลงชื่อเข้าร่วมส่วนมากเป็นผู้ชายวัยกลางคน ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนเพียงกลุ่มเดียว เพื่อให้การออกแบบนโยบาย “inclusive” หรือโอบรับคนทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของนักนโยบายที่จะต้องกระตุ้นและอำนวยความสะดวกกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ให้ได้มีโอกาสเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วย

Vocabs of The Week

Deliberative Method

หรือวิธีการปรึกษาหารือ คือวิธีการออกแบบนโยบายที่ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญหรือนักนโยบาย แต่คนทุกคนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาและตัดสินใจ ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุยถกเถียงกันอย่างลึกซึ้ง การหาไอเดียใหม่ๆ หรือการตัดสินใจร่วมกัน วิธีการเช่นนี้มักเป็นวิธีที่ผสมผสานระหว่างการวิจัยและการปรึกษาหารือ และมักนำมาใช้กับประเด็นที่คนในสังคมเห็นไม่ตรงกันอย่างมาก

ตัวอย่าง

นักนโยบายต้องการออกนโยบายให้คนไทยเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี แต่ปรากฏว่าสังคมถกเถียงกันอย่างหนัก มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในกรณีนี้เพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด นักนโยบายอาจหันมาเลือกใช้ “deliberative method” ในการปรึกษาหารือกับสังคม ให้มีการวิจัยหาตัวอย่างนโยบายที่คล้ายคลึงกันจากสังคมอื่นมานำเสนอต่อสังคม และมีการพูดคุย ถกเถียง และปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาระดับมหาลัย นักศึกษา หรือคนทั่วไปในสังคม เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่คนทุกคน

Vocabs of The Week

Intervention

หรือการแทรกแซงทางนโยบาย คือการออกนโยบายมาเพื่อเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ทางสังคมที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งหากปล่อยให้ดำเนินต่อไปในทิศทางเดิมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมได้

ตัวอย่าง

หากพิจารณาถึงปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบัน ที่ผลต่อชีวิตผู้คนมากมายในหลายมิติ นักนโยบายอาจจำเป็นต้องออกนโยบายมาแทรกแซง (intervention) เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นอีก เช่น ออกนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้น

Vocabs of The Week

Worldview

คือมุมมองที่เรามีต่อโลกใบนี้ มุมมองดังกล่าวสามารถประกอบไปด้วยทั้งความเชื่อ สมมติฐานที่เรามีในใจ และวิธีการที่เราตีความประสบการณ์ชีวิตและโลกใบนี้ ดังนั้นมุมมองต่อโลกแบบหนึ่งอาจส่งผลให้เราเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น แต่มุมมองต่อโลกในบางลักษณะก็อาจส่งผลให้เรามีอคติโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

ตัวอย่าง

ในการออกแบบนโยบาย นักนโยบายเองจำเป็นต้องสำรวจ “Worldview” ของตัวเองเพื่อไม่ให้อคติมาบังตาและแก้ปัญหาได้ตรงจุด และ “Worldview” ของผู้ใช้นโยบายด้วย เพื่อเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อเรื่องนั้นๆ เช่น ในการออกแบบนโบายเพื่อให้คนรายได้น้อยมีชีวิตดีขึ้น หากนักนโยบายมีมุมมอง “จะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวทำ” คือเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องพึ่งพาตนเอง นโยบายที่ออกมาก็อาจไปเน้นเพียงปัจเจก โดยหลงลืมไปว่าผู้คนต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการรัฐเพื่อให้มีชีวิตที่มั่นคงได้

Vocabs of The Week

Deep Culture

หรือวัฒนธรรมฝังรากลึก เป็นวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในวิถีชีวิต ที่มีอิทธิพลต่อมุมมอง ความเชื่อ ค่านิยม จนถึงความรู้สึกนึกคิด จิตใจ และอารมณ์ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเราโดยทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ตัวอย่าง

นักนโยบายควรพินิจพิจารณาถึง “Deep Culture” เพื่อเข้าใจและถอดรากสาเหตุของปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบาย ยกตัวเช่น วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ฝังรากลึกในประเทศไทยคือวัฒนธรรมที่ลูกจะต้องมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่นักวางแผนนโยบายสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยควรเข้าใจ

Vocabs of The Week

Social Listening

การติดตามรับฟังเสียงของผู้คนในโลกออนไลน์ หรือ ‘Social listening’ คือการเก็บข้อมูล รับฟังเสียง รับฟังความคิดเห็นของผู้คนในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ภาคธุรกิจใช้ Social Listening มาปรับปรุงสินค้าและบริการ แต่ในมุมของนักนโยบาย การติดตามรับฟังเสียงของผู้คนในโลกออนไลน์ก็จะช่วยให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในสังคม และออกนโยบายได้ตรงความต้องการของผู้คน

ตัวอย่าง

เพื่อทำความเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชน Thailand Policy Lab ได้ใช้เครื่องมือ Social Listening มาติดตามรับฟังเสียงของเยาวชนในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงบ่น ระบาย ท้วงติง บนทวิตเตอร์หรือเฟสบุ๊ค สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักนโยบายเห็นภาพรวมของปัญหาและเข้าใจผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้ได้ค้นพบข้อกังวลหลักๆ เพื่อนำมาออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์ต่อไป

Vocabs of The Week

Sandbox

หรือกระบะทราย คือพื้นที่สำหรับการทดลอง ที่ความผิดพลาดจะไม่ส่งผลกระทบต่อวงกว้าง ให้ลองนึกถึงการเล่นของเด็กในกระบะทราย ที่เด็กจะเข้าไปเล่นอะไรก็ได้ จะก่อปราสาททราย ล้มมันให้พัง ทำมันขึ้นใหม่ก็ได้ กระบวนการออกนโยบายต้องการพื้นที่เช่นนี้ ที่สามารถทดสอบนโยบายหรือนวัตกรรมโดยยกเงื่อนไขบางอย่างออกไป เพื่อประเมินว่าอะไรคือตัวเลือกที่ดีที่สุด

ตัวอย่าง

ทำอย่างไรถึงจะอนุรักษ์ป่าไว้ได้นะ? หากออกนโยบายไปเลยแล้วนโยบายไม่เวิร์ค สุดท้ายป่าก็อาจจะถูกทำลาย สิ่งที่นักนโยบายทำได้ก็คือการหากระบะทรายแห่งการทดลองหรือพื้นที่ป่าเล็กๆ ให้ทดลองนโยบายนั้นๆ ดู และถ้านโยบายได้ผล ก็ค่อยขยายให้ใหญ่ขึ้นหรือเอาไปทดลองในพื้นที่อื่นต่อ

Vocabs of The Week

Human Insight

การเข้าใจมนุษย์อย่างถ่องแท้ หรือ ‘Human insight’ คือความพยายามเข้าใจมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน คือการมองมนุษย์ในหลายมิติว่าคนผู้นั้นเป็นใคร มีความต้องการอะไรในชีวิต มีเป้าหมายอะไร รู้สึกอย่างไร หรือบริบทชีวิตโดยทั่วไปเป็นอย่างไร การออกแบบนโยบายโดยพยายามมี ‘human insight’ อยู่เสมอ จะทำให้เรามองมนุษย์เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงประชาชนที่ต้องทำตามนโยบายที่รัฐกำหนด

ตัวอย่าง

เมื่อคนรุ่นใหม่ต่างก็บ่นระงมถึงสภาพปัญหาสังคมไทย ทั้งค่าครองชีพ การทำงาน แต่ผู้ใหญ่อาจมองว่าพวกเขาแค่ไม่อดทน ในฐานะนักนโยบาย การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวจะต้องอาศัย ‘human insight’ คือต้องพินิจพิจารณาจากมุมของมนุษย์แต่ละคน เช่น คนรุ่นใหม่ได้รับเงินเดือนน้อยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ทำให้มองไม่เห็นอนาคตของตน จึงไม่พอใจกับสภาพสังคม เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่ทำงานในเงื่อนไขเศรษฐกิจที่ต่างไปจากปัจจุบัน จึงอาจไม่เข้าใจความเจ็บปวดของคนรุ่นใหม่ การมองเช่นนี้ก็จะช่วยให้ออกนโยบายได้อย่างเข้าใจมนุษย์มากขึ้น เช่น อาจช่วยให้กำหนดโจทย์นโยบายว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับค่าครองชีพปัจจุบันมากขึ้น

Vocabs of The Week

Ethnography

ชาติพันธุ์วรรณา หรือ ‘Ethnography’ คือวิธีวิจัยของนักมานุษยวิทยา ที่จะเอาตนเองเข้าไปอยู่ในชุมชนที่สนใจศึกษา เข้าไปอยู่อาศัย พูดคุย สังเกตการณ์ผู้คนและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ ราวกับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อาจกล่าวได้ว่าชาติพันธุ์วรรณาคือการ ‘emphatize’ หรือทำความเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง

ตัวอย่าง

ตัวอย่าง เช่น เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจคนไร้บ้าน นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาภาวะไร้บ้านจึงไปใช้ชีวิตอย่างคนไร้บ้านในที่สาธารณะเป็นเวลาหลายเดือน วิธีการเช่นนี้ทำให้นักวิจัยเข้าใจคนไร้บ้านได้อย่างลึกซึ้ง เห็นที่มาที่ไปและวิถีชีวิตของพวกเขา การออกนโยบายก็เช่นกัน หากต้องการออกนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่เราไม่รู้จักมักคุ้น การประยุกต์ใช้วิธีการแบบชาติพันธุ์วรรณาก็จะช่วยให้เข้าใจกลุ่มคนนั้นๆ ได้มากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการวิจัยในลักษณะที่ใกล้ชิดกับผู้คนเช่นนี้ ก็ต้องยึดหลักจริยธรรมในการศึกษาวิจัยด้วย

Vocabs of The Week

Cross-cutting

‘ครอบคลุมหลายมิติ’ คือการคิดคำนึงอยู่เสมอว่า ประเด็นๆ หนึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ปัญหาเดียวจึงอาจมีหลายประเด็นทับซ้อนกันอยู่ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาก็จะต้อง ‘cross-cutting’ คือต้องครอบคลุมและเชื่อมโยงหลายประเด็นปัญหาเข้าด้วยกัน เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่าง

สมมติว่านักนโยบายอยากให้คนไร้บ้านมีความมั่นคงในชีวิต ก็ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ที่ ‘cross-cutting’ กันอยู่ เพราะสภาวะไร้บ้านเป็นทั้งสภาวะทางจิตใจ สภาวะทางเศรษฐกิจ และสภาวะทางสุขภาพ การหาทางออกก็ต้องครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายองค์กร เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาล เป็นต้น

Vocabs of The Week

Unpack

หรือ ‘คลี่ออก’ ก็เหมือนกับการรื้อของออกจากกระเป๋า ถ้าเราอยากรู้ว่าในกระเป๋ามีอะไรอยู่บ้าง เราก็ต้องค่อยๆ รื้อออก เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องๆ หนึ่ง เราต้องคลี่ออกมาดูทีละส่วน เพื่อให้เข้าใจอย่างละเอียด

ตัวอย่าง

สมมติว่านักนโยบายกำลังออกนโยบายให้ครูช่วยดูแลสุขภาพจิตนักเรียน แต่สุขภาพจิตนักเรียนกลับไม่ดีขึ้น กรณีแบบนี้เป็นเวลาที่นักนโยบายจะต้องมา ‘unpack’ หรือคลี่นโยบายออกอย่างละเอียด เพื่อสำรวจว่าครูช่วยนักเรียนมากน้อยแค่ไหน ครูมีความรู้และทรัพยากรเพียงพอไหมในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน นโยบายที่ออกไปอยู่บนฐานคิดแบบไหน เป็นต้น

Vocabs of The Week

Deep Dive

คือ ‘การดำดิ่ง’ เปรียบเสมือนการจมดิ่งไปในประเด็นนั้นๆ มันคือการวิเคราะห์ประเด็นหรือปัญหาอย่างเข้มข้นและหนักหน่วง จะเป็นระดับปัจเจกหรือทีมก็ได้ที่ระดมสมองเพื่อแก้ปัญหา หรือระดมไอเดียกันอย่างจริงจัง

ตัวอย่าง

เราควรทำอย่างไรให้ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศเข้าถึงการรักษาพยาบาลและตำรวจ? ถ้าทีมออกแบบนโยบายอยากได้คำตอบ วิธีหนึ่งก็คือการดำดิ่งลงไปกับประเด็น ทีมต้องช่วยกันหาข้อมูลและออกไอเดียอย่างเข้มข้น เช่น มีผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศประมาณกี่คนในไทย? คนเหล่านี้คือใครบ้าง และอยู่ที่ไหน? ใครเป็นผู้รับผิดชอบประเด็น? แก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง?

Vocabs of The Week

Trial and Error

คือ ‘การลองผิดลองถูก’ เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการทำนโยบาย การลองผิดลองถูกก็เหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เราตั้งสมมติฐาน ทดสอบ ประเมินผลลัพธ์ และเรียนรู้จากการทดลองเพื่อได้คำตอบ
ในการออกแบบนโยบายจึงไม่ควรกลัวการทดลองแล้วล้มเหลว แต่ควรเรียนรู้และหาคำตอบจากการทดลองให้ได้มากที่สุด

ตัวอย่าง

สมมติว่านักนโยบายกำลังออกแบบนโยบายที่ซับซ้อนอย่างการแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ก็ต้องพิจารณาถึงหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพถนน ดินฟ้าอากาศ ผังเมือง ไปจนถึงค่านิยมของคน ในโมเดลการทดลองแก้ปัญหาก็อาจจะต้องเปลี่ยนปัจจัยหรือตัวแปรไปเรื่อยๆ ทดลองและอาจจะล้มเหลว จนกว่าจะค้นพบว่านโยบายแบบใดจะแก้ปัญหารถติดได้ดีที่สุด

Vocabs of The Week

Under-The-Radar

หมายความว่า “ไม่ได้รับความสนใจ” แต่ในเชิงนโยบายนั้น เราต้องคำนึงและตั้งรับเทรนด์ที่ไม่ได้รับความสนใจและไม่มีใครสังเกตอยู่เสมอ เพราะมันอาจส่งผลกระทบกับสังคมอย่างไม่มีใครคาดคิด

ตัวอย่าง

Vocabs of The Week

Citizen-Centric

คือ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เป็นวิธีคิดในการออกนโยบายและบริการสาธารณะที่มองประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ เปลี่ยนวิธีคิดดั้งเดิมที่มองว่ารัฐไม่ต้องบริการประชาชน การออกแบบนโยบายโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางจะช่วยให้นโยบายมีประสิทธิภาพเสมอ เพราะสุดท้ายแล้วนโยบายก็ต้องออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมดีขึ้น

ตัวอย่าง

Vocabs of The Week

Reimagine

“จินตนาการขึ้นใหม่” คือการออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ คือการลองคิด และจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นอยู่ว่าเราสามารถคิดให้แตกต่างไปจากเดิม และรังสรรค์นโยบายด้วยวิธีที่ดีกว่าเดิมได้ไหม เพราะหลายๆ ครั้งเรามักยึดติดกับกรอบวิธีคิดที่เราเคยชิน โดยไม่ได้นั่งพินิจพิจารณาเลยว่า เราสามารถจินตนาการโลกแบบอื่น หรือนโยบายแบบอื่นขึ้นมาได้

ตัวอย่าง

Vocabs of The Week

Non-Linear thinking

คือ “การคิดแบบไม่เป็นเส้นตรงคือ” เป็นวิธีคิดที่มองว่าจุดเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ ไม่ได้มีเพียงจุดเดียวและวิ่งเป็นเส้นตรงไปเรื่อยๆ
เราสามารถนำวิธีคิดเช่นนี้มาออกแบบนโยบายที่ยืดหยุ่นและแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะเมื่อเรามองว่าการแก้ปัญหาไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรง คือไม่ต้องเดินตาม step 1,2,3,4 แต่เรามองหาจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาได้จากหลายหมุดหมาย เราจะคิดอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่าง

Vocabs of The Week

Empathy

คือ ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ซึ่งคือความสามารถในการเข้าอกเข้าใจประสบการณ์และความรู้สึกของผู้อื่น ในกระบวนการออกนโยบาย การทำความเข้าใจประสบการณ์ของผู้คนที่หลากหลายโดยเฉพาะผู้คนที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้นๆ ทำให้เราต้องทบทวนสมมติฐานเดิมที่มีอยู่ในใจ ซึ่งย่อมนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ดีกว่าเดิม

ตัวอย่าง

Vocabs of The Week

Sensemaking

คือ การสร้างความเข้าใจเชิงลึก และการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้คำอธิบายที่หลากหลายแก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในอีกแง่หนึ่งคือการทำความเข้าใจเหตุการณ์แบบซับซ้อนและลุ่มลึก เพราะมันเปิดพื้นที่ให้ผู้คนจากหลากหลายพื้นเพได้เข้ามาแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนประสบพบเจอ ไม่จำกัดอยู่แค่กับชุดประสบการณ์ของคนไม่กี่คน ซึ่งจะส่งผลให้การออกแบบนโยบายเข้าใจมุมมองที่หลากหลายและครอบคลุมชีวิตผู้คนมากขึ้น

ตัวอย่าง

Vocabs of The Week

Horizon Scanning

คือ การกวาดหาสัญญาณอนาคต เป็นเครื่องมือที่ช่วยคาดการณ์ในขั้นต้น เครื่องมือชนิดนี้ไม่ได้ช่วยพยากรณ์ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่มันช่วยเราควานหาร่องรอยและสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและอาจส่งผลต่ออนาคต เพื่อให้เราตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงและออกแบบนโยบายได้เท่าทันอนาคต

ตัวอย่าง

Vocabs of The Week

Futures Thinking

อนาคตเป็นสิ่งที่ผันปรวน แต่หน้าที่อย่างหนึ่งของนโยบายสาธารณะคือการมองให้เห็นความผันปรวนและเตรียมการเพื่อให้พร้อมรับมือ นี่คือ “futures thinking” หรือ “การคิดเชิงอนาคต” มันคือการมองเห็น วิเคราะห์เทรนด์ในอนาคต และตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับอนาคตในหลากหลายรูปแบบเพื่อออกนโยบายที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ และพร้อมรับมือสถานการณ์ที่หลากหลายในวันข้างหน้า

ตัวอย่าง

Vocabs of The Week

Systems Thinking

คือ “การคิดเชิงระบบ” เป็นการมองอย่างรอบด้าน เด็กมีอาหารกลางวันกินที่โรงเรียน แล้วมีที่บ้านไหม? ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองมีรายได้เพียงพอเลี้ยงลูก? เด็กที่ขาดแคลนสารอาหาร ขาดแคลนอะไรอีกในชีวิต และสวัสดิการแบบไหนถึงจะทำให้ชีวิตพวกเขาปลอดภัย? หน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้บ้าง? การมองจาก bird’s-eye view หรือภาพมุมสูงเช่นนี้ ทำให้เห็นปัญหาทั้งระบบและแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

ตัวอย่าง

หากอยากแก้ปัญหาเด็กไทยขาดแคลนสารอาหาร ต้องทำอย่างไร? นโยบายแบบเดิมๆ อาจแก้ปัญหาโดยการให้ทุนค่าอาหารกลางวันแก่เด็กยากจน

Vocabs of The Week

Agile

แปลตรงตัวได้ว่า คล่องแคล่วและปราดเปรียว ในเชิงนโยบายคือการทำงานที่เน้นประสิทธิภาพและคุณค่าสูงสุด ลดขั้นตอนการทำงานด้านเอกสารที่ทำให้ไม่คล่องตัว และโอบรับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา มากกว่าติดอยู่กับแผนเดิมที่ไม่เวิร์คอีกต่อไป

ตัวอย่าง

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top