บทความ / เศรษฐกิจ
Published: 29.09.2021

Key Insights

  • การท่องเที่ยวเคยเป็นรายได้หลักของประเทศไทย มีสัดส่วน GDP สูงถึง 16% จากรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมดนั้น แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่มีใครเดินทางมาเที่ยวได้ จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศลดลงถึง 40 ล้านคน
  • ภูเก็ต ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 50% (ภูเก็ตมีสัดส่วนรายได้จากท่องเที่ยวมากถึง 89%) เมื่อทุกอย่างหยุดชะงัก ประชาชนในพื้นที่จึงขาดรายได้ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหน่วยครัวเรือน กระทบกับการศึกษาของบุตรหลาน ความปลอดภัย และวิถีชีวิตดั้งเดิม
  • “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” จึงเป็นหัวข้อที่ผู้มีส่วนร่วมในภาคการท่องเที่ยวนำกลับมาพูดถึงอีกอย่างจริงจังกว่าครั้งไหน และขยายขอบเขตของคำนิยามที่ไม่ได้ครอบคลุมแค่เพียงเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่คือการสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชนทุกคนผ่านการท่องเที่ยว 
  • ชวนดูโมเดลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ที่พูดถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก่อนใคร จนทำให้สิงคโปร์ขึ้นเป็นเมือง (City State) ที่น่าท่องเที่ยวที่สุดอันดับ 2 ของเอเชีย

จากอเมซิ่งไทยแลนด์ สู่แดนดินที่คนไทยอาจไม่ได้เป็นเจ้าของ

ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นสินค้าเชิดหน้าชูตาให้กับคนทั้งประเทศ ภูเขาก็มี ทะเลก็มี แสงสีก็ไม่เคยขาด จนถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่คนทั่วโลกควรมาเยือนสักครั้งหนึ่ง เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวนั้นสำคัญ เชื่อไหมว่าแค่การเที่ยวก็มีสัดส่วนเป็น 16% ของ GDP ไทยแล้ว รายได้ส่วนนี้มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่คิดเป็น 61% หรือเกือบ 40 ล้านคน

พัฒนาการของนโยบาย “เที่ยวเมืองไทย” เกิดจากการพังทลายของระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเมื่อ พ.ศ. 2540 รัฐบาลปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวจนทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัว ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่เคยส่งออกก็มีราคาถูกลงในชั่วข้ามคืน เศรษฐกิจในประเทศไม่มีเงินมาหมุนเวียนเพราะก่อนหน้ามีแค่การลงทุนในสถาบันการเงินเท่านั้น เม็ดเงินเหล่านั้นไม่ได้ถูกกระจายออกไปถึงคนในประเทศ ปีถัดมารัฐบาลจึงออกแคมเปญ “อเมซิ่งไทยแลนด์” เพื่อเรียกให้ชาวต่างชาติมาเยือนและจับจ่ายในประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ชื่อ “ไทยแลนด์” เป็นเดสทิเนชั่นสำคัญที่ทุกคนต้องรู้จัก

เกือบ 25 ปีที่ผ่านมา เมืองไทยประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวให้มาจับจ่ายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้คนไทยเที่ยวกันเองในประเทศด้วย แต่ตัวเลขรายได้การท่องเที่ยวก่อนโควิดจะมา ซึ่งอยู่ที่ 3.01 ล้านล้านบาท ก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดคมนาคมที่สะดวกขึ้นในเมืองท่องเที่ยว หรือยังไม่สามารถนำมาลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของคนในอุตสาหกรรมนี้ได้เต็มที่ เพราะนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือครองทรัพยากรหลายชนิด รายรับมวลรวมที่ปรากฏจึงไม่ใช่จำนวนเงินที่กระจายสู่ประชาชนอย่างแท้จริง

“เอานักท่องเที่ยวคืนไป เอาชีวิตเราคืนมา” สถานการณ์ตึงเครียดในหลายเมืองก่อนโควิดมา

เมื่อคำว่าเศรษฐกิจดีอาจไม่ได้หมายถึงเพียงความมั่งคงทางการเงินของประชากร เพราะจังหวัดที่เน้นการท่องเที่ยวมักมีค่าครองชีพสูง จำนวนเงินที่เท่ากัน แต่อยู่คนละจังหวัด ย่อมมีความหมายต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งรายได้หลักมาจากเกษตรกรรม 

หากรัฐไม่มีระบบช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน แต่ใช้หลัก “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” ให้ประชาชนแข่งขันกันเองในตลาดเสรี อาจทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีทรัพยากรมากพอถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ก่อนวิกฤตโควิดจะมาเยือน เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกหลายแห่งเริ่มตระหนักแล้วว่า การโปรโมตการท่องเที่ยวอย่างเร่งรีบเพื่อหวังกอบโกยรายได้ ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมหายไป อีกทั้งยังผลักให้ผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวนหนึ่งต้องอพยพออกจากที่อยู่ของตัวเอง หลายครั้งการท่องเที่ยวแบบ “แมส” จึงเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะช่องว่างของรายได้ที่ขยับห่างขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจ นักท่องเที่ยวที่หวังจะมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ๆ กลับเป็นคนทำลายสิ่งนั้นเองโดยที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจ

ในปี 2017 เทศบาลเมืองบาร์เซโลนาทำแบบสำรวจอารมณ์ประชากรในรอบครึ่งปี โดยถามว่า “อะไรในเมืองนี้ทำให้คุณเครียดมากที่สุด” 19% ของคนตอบบอกว่า “ปัญหาจากนักท่องเที่ยว” ซึ่งคนในเมืองให้ความสำคัญกว่าเรื่องการว่างงาน มลพิษ และคอร์รัปชั่นเสียอีก ที่มาของความไม่พอใจนี้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2014 จนทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งสร้างแคมเปญ ‘Barceloneta Says Enough’ เรียกร้องให้มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวที่เป็นอยู่ในตอนนี้ไม่เป็นมิตรต่อคนในท้องถิ่น และเป็นโมเดลที่ไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย

เช่นเดียวกับบรรยากาศในเมืองหลวงของประเทศสเปน มาดริดเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมสิ่งสวยงาม แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือที่อยู่อาศัยของคนในเมือง โรงแรมแห่งใหม่ผุดขึ้นใจกลางชุมชน บ้านช่องและห้องว่างส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยว ทำให้ราคาค่าเช่าทะยานสูงเกินกว่าชาวเมืองจะเข้าถึง จนคนในชุมชนต้องอพยพออกไปอยู่นอกเมือง และเดินทางเข้ามาเพื่อทำงานเท่านั้น รายได้ที่มากมายจากธุรกิจการท่องเที่ยว แลกมากับความยากลำบากของพลเมือง ดังนั้นนี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องคิดทบทวนดีๆ และหาสมดุลระหว่างทั้งสองอย่างนี้ให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

หันกลับมามองที่ประเทศไทย เมืองท่องเที่ยวหลายแห่งประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ทั้งการรบกวนวิถีชีวิตดั้งเดิม และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้น การตัดสินใจดำเนินนโยบายในพื้นที่ก็มักไม่เชื่อมโยงกับชุมชน โดยเน้นไปที่ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก นอกจากนี้การเรียกร้องประเด็นท่องเที่ยวยังสร้างแรงกดดันให้กับผู้ที่ขับเคลื่อนประเด็น เพราะหากการเรียกร้องทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่หดตัวลง อาจทำให้รายรับของพื้นที่ลดลงตามและสร้างความไม่พอใจให้กับคนหลายกลุ่ม

เมื่อไม่มีใครรับประกันได้ว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจะทำให้รายรับของพวกเขาลดลงหรือเปล่า การเรียกร้องก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผ่านมามีหลายประเทศเคยเดินมาเจอทางตันนี้ และได้พยายามปรับตัวและเจรจากับนักท่องเที่ยวโดยเปลี่ยนทัศนคติต่อนักท่องเที่ยวจาก “ผู้เอาเงินมาให้” เป็น “ผู้ที่อยากมาเห็นวิถีชีวิตของเรา” 

ป่าใหญ่ในเมือง ประเทศที่พูดถึง “ความยั่งยืน” มาก่อนใคร

“บ้านเขาห้ามเคี้ยวหมากฝรั่งนะ” 

 “ถนนในเมืองเขาสะอาดมาก” 

“ประเทศอะไรเห็นต้นไม้ใหญ่ตลอดทาง” 

เหล่านี้เสียงลือเสียงเล่าอ้างของนักท่องเที่ยวถึงประเทศสิงคโปร์ที่เราได้ยินมานานแล้ว กฎระเบียบต่างๆ ที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดกลายเป็นคำชมปากต่อปากจนคนที่ฟังอยากเดินทางไปดูสักครั้งหนึ่งในชีวิต มิตรประเทศขนาดเล็ก (ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตแค่ 200 ตารางกิโลเมตร) เพิ่งได้รับอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ.  1965 แต่พัฒนาจนขึ้นเป็นผู้นำในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่สิงคโปร์ครองอันดับ 1 ของเมืองที่มีอาชญากรรมน้อยที่สุดในโลก แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะสู้เมืองไทยไม่ได้ แต่สิงคโปร์ก็อยู่ในอันดับ 2 ของเมือง (City State) ที่น่าเที่ยวที่สุดในเอเชีย โดยที่ 1 คือประเทศญี่ปุ่น เคล็ดลับความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เขาสร้างสถานที่ท่องเที่ยวได้น่าตื่นตาตื่นใจแค่ไหน แต่เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศมาเป็นอันดับแรก

ถนนสะอาด ฟุตบาทใหญ่ รถไฟทั่วถึง สิงคโปร์มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมบริการนักท่องเที่ยวทุกคนให้เดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่คนรุ่นใหม่นิยมเดินทางไปเอง (Free and Independent Traveler) มากกว่าจะไปเป็นกลุ่มแบบทัวร์ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ไม่ได้สร้างเอาใจคนต่างชาติ แต่สร้างเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตพลเมืองในประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่บทสนทนาประสบการณ์เที่ยวในสิงคโปร์จะเริ่มต้นด้วยการชื่นชมการวางผังเมืองและออกแบบบริการที่ดี แล้วค่อยพูดถึงแเหล่งท่องเที่ยวเป็นลำดับถัดไป 

สิ่งนี้คือนิยามของคำว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนใช่หรือไม่? ก่อนหน้านี้ความเข้าใจของคนทั่วไปมักให้ภาพ ‘Sustainable Tourism’ ว่าเป็นการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ไปแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่ใช้สิ่งของที่ทำจากพลาสติก หรือสนับสนุนกิจการของชุมชน หากมองประเทศสิงคโปร์เป็นต้นแบบ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคือประสบการณ์ร่วมของนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ซึ่งต้องเชื่อมโยงกันภายใต้บริบททางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยต้องไม่มีใครเป็นผู้เสียเปรียบ เราสามารถรวมเรื่องขนส่งมวลชนที่ดีมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งด้วย หากรัฐสร้างการเดินทางที่ดีกับประชาชน ย่อมหมายถึงประสบการณ์ที่ดีของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เพราะสิงคโปร์ไม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยแยกออกจากชีวิตประจำวันของคนในประเทศ ทั้งสองอย่างนี้ต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน ถึงแม้ว่าวันหนึ่งการท่องเที่ยวจะหายไปชั่วขณะ แต่ก็ยังมั่นใจได้ว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนยังอยู่ดีเหมือนเดิม

สิ้นปีที่แล้วการท่องเที่ยวสิงคโปร์ออกแคมเปญ ‘Singapore Reimagine’ โดยมีวาระแห่งชาติที่ต้องทำคือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย และเชื่อมต่อทุกอย่างเข้าหากันแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้มาเยือนวางใจได้ว่าจะได้ท่องเที่ยวแบบห่างไกลโรคระบาด

การอพยพขนาดใหญ่และการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก?

ในปี พ.ศ. 2563 มีแรงงานในเมืองหลวงอพยพออกจากเมืองหลวงกลับไปยังภูมิลำเนาตัวเองมากกว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทั้งตกงาน และกลับไปทำงานแบบออนไลน์ที่บ้าน มีหลายสมมติฐานที่แรงงานเหล่านี้ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น ถ้าโควิดหมดไปจะยังกลับไปทำงานในเมืองอยู่ไหม หรือ ถ้าโควิดไม่หมดไป เราจะอยู่กับมันอย่างไรต่อไปดี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่หายไปเกือบ 100% และกินระยะเวลานานเกือบ 2 ปีทำให้วิถีชีวิตของคนกำลังเปลี่ยนไป พวกเขาต้องปรับตัวอย่างยากลำบากเพื่อหารายได้เพราะต้องเติมทักษะใหม่เพื่อประกอบอาชีพที่ไม่คุ้นเคย

สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในต่างประเทศก็พบกับความยากลำบากไม่ต่างไปจากเมืองไทย แต่หลายประเทศออกแคมเปญส่งเสริมให้ประชาชนท่องเที่ยวในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจได้หมุนเวียน โดยมีเงินสนับสนุนทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการที่ต้องดำเนินกิจการในสภาวะวิกฤต ซึ่งต้องสอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับวัคซีน และยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงเพื่อสร้างความมั่นใจตลอดการเดินทาง แน่นอนว่าการทำงานของภาครัฐต้องได้รับความร่วมมือในหลายส่วน ความท้าทายก็คือประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลของทางการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ มีระบบรองรับที่ดี และต้องเป็นสวัสดิการที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้

แม้ผู้ใช้การบริการสายการบินของคนทั้งโลกจะลดลงมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอดการท่องเที่ยวในเมืองเล็กกลับกำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ ผู้ประกอบการที่พักในเกาะมายอร์กาของประเทศสเปนบอกว่า ตั้งแต่คนเริ่มได้รับวัคซีนมากขึ้น พวกเขาก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้งแต่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศส่วนใหญ่จองที่พักมาแบบอยู่ระยะยาว (Long Stay) โดยใช้เป็นทั้งสถานที่ทำงานแบบออนไลน์และพักผ่อนนอกเวลางาน พวกเขาให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใหม่ที่กำลังจะได้พบ โดยเฉพาะวิถีชีวิตพื้นถิ่น สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น อินเตอร์เน็ต การเดินทาง ความปลอดภัย และราคาที่พักที่ไม่สูงมาก ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาได้ง่ายและเร็วขึ้น

นโยบายล่าสุดที่รัฐบาลฝรั่งเศสออกมาสนับสนุนเยาวชนในประเทศก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Culture Pass ซึ่งจะมอบเงิน 300 ยูโร หรือราว 11,700 บาทให้กับเด็กอายุ 18 ปีทั่วประเทศ สำหรับนำไปซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ดนตรี หรือตั๋วนิทรรศการและการแสดง เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงวัฒนธรรมต่างๆ ให้มากขึ้น วัยรุ่นกว่า 825,000 คน สามารถซื้อสินค้าได้จากร้านหนังสือ ร้านแผ่นเสียง และร้านขายอุปกรณ์ศิลปะหรือร้านขายเครื่องดนตรี หรือแม้กระทั่งซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ ละคร คอนเสิร์ต หรือนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ และพวกเขาสามารถลงทะเบียนเรียนเต้น ระบายสี หรือวาดรูปได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจและสถาบันกว่า 8,000 แห่งที่เข้าร่วมในแอปพลิเคชันนี้ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism ในประเทศไทยถูกพูดถึงมาราว 10 ปีแล้ว แต่มักถูกใช้เป็นคอนเท้นท์ทางการตลาดเสียมากกว่า การพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวในประเทศกำลังพัฒนาจึงยังเป็นความท้าทาย การผลักดันเรื่องนี้จำเป็นต้องสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจว่าหากร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่เกิดขึ้นได้จริง นี่จะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงของประเทศ

ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองไทยยังอยู่ในระดับยากจน แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเรานี่ละคือเครื่องมืออันทรงพลังที่จะลดความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน และพัฒนาท้องถิ่นให้ทันสมัยทัดเทียมกับเมืองใหญ่อื่นๆ ได้ หากยังมองภาพไม่ออก ขอยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่โดดเด่นในการผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของคนทั้งในและนอกประเทศ พวกเขาให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ที่แตกต่างในแต่ละจังหวัดและเชิญชวนให้ทุกคนเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเอง โดยมีการคมนาคมที่สะดวกสบายเป็นตัวเชื่อมต่อการเคลื่อนย้ายเหล่านี้ และมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีจนสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เสมอมา

ในประเทศไทย นโยบายท่องเที่ยวระยะยาวก็อาจทำให้เกิดผลลัพธ์แบบใหม่ ในช่วงแรกอาจเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานในทุกจังหวัดให้ดีขึ้น ต่อด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เช่น การสร้างงานเพื่อกระจายรายได้ หรือออกแบบสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยต้องมั่นใจว่าได้รวบรวมคนทุกกลุ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแล้วจริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่าง ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ที่มักถูกกีดกันให้ออกไปอยู่ภายนอกอุตสาหกรรม หรือเป็นผู้สนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังเท่านั้น 

หากใช้ตัวชี้วัดจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือประเมินความเปลี่ยนแปลง ก็จะพบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถทำให้เป้าหมายในหลายเรื่องเป็นจริงได้ เช่น ปัญหาความยากจน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การสร้างนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ แม้เมืองไทยจะผ่านวิกฤตที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวมาแล้วหลายครั้ง แต่ประสบการณ์ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าการไม่เชื่อมโยงกันระหว่างแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนกลายเป็นความเปราะบางได้ทันทีเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน ในตอนนี้คือธุรกิจท่องเที่ยวไทยกำลังแตกสลาย หากยังไม่มีตัวกลางที่มีพลังมากพอมาโอบอุ้มให้ทันเวลา จากที่หนึ่งในวงการท่องเที่ยวอาจเป็นความจำที่เลือนหายของทั้งโลก 

อย่าลืมว่าหัวใจของประเทศคือประชาชน ไม่ว่าจะมีนโยบายการท่องเที่ยวรูปใดที่ออกมา หากสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองดีขึ้นได้ นั่นก็อาจจะเป็นนิยามใหม่ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเมืองไทย การเดินทางเริ่มตั้งแต่ตอนเก็บกระเป๋า หาข้อมูลการท่องเที่ยว และระหว่างทางก่อนถึงที่หมาย ทุกองค์ประกอบเอื้ออำนวยให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้เสมอ

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top