บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 07.12.2021

คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่านี่คือช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดสำหรับคนผู้มีบทบาทกำหนดนโยบายในประเทศไทย เพราะคือช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงมหาศาล โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิด-19 ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่เข้ามาเพิ่มความซับซ้อนของโลกมากขึ้นไปอีก บีบให้บรรดาคนทำงานด้านนโยบายสาธารณะในไทยไม่สามารถใช้กระบวนการออกแบบนโยบายแบบเดิมๆ ที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และยังไม่มีการนำนวัตกรรมมาใช้ ซึ่งทำให้นโยบายอาจไม่ทันโลกและไม่ตอบโจทย์ประชาชนอีกต่อไป

หนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำงานด้านนโยบายสาธารณะนั่งคือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งที่ผ่านมา UNDP ทำงานร่วมกับประเทศไทยทั้งในระดับรัฐและประชาสังคม สนับสนุนงานด้านการพัฒนาในไทย เพื่อขับเคลื่อนสู้เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) 17 เป้าหมายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และแน่นอนว่าในช่วงเวลานี้ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกหลายรูปแบบ สอดคล้องกับการทำงานของ UNDP ที่มีแนวความคิดที่จะช่วยผลักดันประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลง ยกระดับนโยบายสาธารณะให้พร้อมเผชิญโลกในโจทย์ใหม่ได้ดีขึ้น

101 สื่อออนไลน์ของไทยได้สนทนากับ เรอโน เมแยร์ (Renaud Meyer) ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย มองนโยบายสาธารณะของไทย ทั้งตัวนโยบายและกระบวนการออกแบบที่ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน พร้อมคุยถึงความริเริ่ม Thailand Policy Lab ห้องแล็บนโยบายแห่งแรกของประเทศไทย จากความร่วมมือระหว่าง UNDP และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ที่มุ่งหวังเข้ามาจุดประกายพลิกโฉมกระบวนการสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะของไทยให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลก

Renaud Meyer, Resident Representative of UNDP in Thailand

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง  คุณคิดว่าประเด็นไหนคือประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญมากในตอนนี้

มีหลายเรื่องเลย แต่ที่ชัดเจนที่สุดตอนนี้ก็คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเราเห็นแล้วว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับแค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่มันยังทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามหลายอย่างถึงวิถีการใช้ชีวิตของเรา และต้องย้อนกลับไปมองหลายเรื่องบนโลกนี้ที่ปกติเราอาจจะละเลยไป

ที่สำคัญคือมันทำให้เราต้องย้อนทบทวนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ คนเรามักจะคิดว่าธรรมชาติรับใช้เรา แต่ไม่ค่อยคิดกันว่าที่จริงแล้วเราต่างหากที่ต้องรับใช้ธรรมชาติ เพราะต้องอย่าลืมว่าโลกนี้อยู่มาก่อนเรา และเราก็คือแขกที่มาอาศัยบนโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นเราเป็นฝ่ายที่ต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่อย่างไรกับธรรมชาติ ถ้าเราไปคิดว่าเราเป็นใหญ่แล้วธรรมชาติต้องรับใช้เรา มันก็จะเกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม สัตว์ป่าที่ทยอยสูญพันธุ์ หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แล้วทั้งหมดนี้ก็จะย้อนมาส่งผลเสียต่อตัวเราเอง

นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วยกันเองก็เป็นอะไรที่เราต้องย้อนมาทบทวนด้วยเหมือนกัน เราจะยอมรับได้ไหมที่ต้องเห็นคนบางคนจนมาก ขณะที่บางคนรวยมาก ทั้งที่คนเหล่านี้อาจจะอยู่บ้านติดกัน เพราะฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำจึงจัดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องมาหาคำตอบร่วมกันในตอนนี้ ขณะที่เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพก็สำคัญ เราจะทำอย่างไรให้กฎระเบียบในสังคมมีประสิทธิภาพ สามารถบังคับใช้ได้จริง ในขณะที่ประชาชนก็ยังคงต้องรู้สึกว่าสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี

นอกจากนั้น เราก็ต้องมาคิดอีกว่าเราจะพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมอย่างไรให้ยั่งยืน ถ้าเป็นประเทศไทย ก็คงต้องนึกถึงภาคการท่องเที่ยว ถ้าเราจะเน้นแค่เชิงปริมาณ พยายามให้นักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้มากที่สุดเพียงอย่างเดียว แล้วปล่อยให้พวกเขาเข้ามาทำอะไรก็ได้ ผมรับรองเลยว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยไม่เหลือแน่นอน เราเลยจำเป็นต้องมาทบทวนชั่งน้ำหนักกันระหว่างปริมาณกับคุณภาพ เราอาจจะอยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามามาก แต่ก็ต้องคิดเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าทำลายสิ่งแวดล้อม

ในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ก็เช่นกัน ต่อไปนี้เศรษฐกิจไทยจะต้องคำนึงถึงความเป็นเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น เช่นอาจจะต้องหาทางลดการปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสิ่งสำคัญคือการปรับแนวคิดของคน ผมจำได้ว่าสองปีก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายให้ร้านค้าเลิกแจกถุงพลาสติก ตอนแรกก็อาจจะมีคนต่อต้าน บ่นว่าไม่อยากจ่ายเงินค่าถุงพลาสติก แต่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เราเห็นได้เลยว่าคนไทยเคยชินกับเรื่องนี้กันไปแล้ว ผมประทับใจมากที่เห็นคนไทยหลายคนปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติกเลย เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของคนให้ตอบโจทย์ธรรมชาติได้ ไม่ใช่ไปกลัวว่าคนจะต่อต้าน ถึงจุดหนึ่งคนจะสามารถปรับตัวยอมรับได้เองเมื่อพวกเขาเข้าใจถึงจุดประสงค์อย่างถ่องแท้

ที่คุณพูดมามีหลายประเด็นเลยที่ประเทศไทยจะต้องมานั่งคิดหาแนวทางกัน และการจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ก็แน่นอนว่านโยบายสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญมาก คุณคิดว่านโยบายสาธารณะของไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ไหม หรือมีปัญหาใหญ่อะไรที่ต้องแก้

ประเทศไทยมีมรดกอย่างหนึ่งที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ก็คือความคิดที่ว่าการปกครองต้องทำแบบ ‘รวมศูนย์’ ซึ่งคนกลุ่มอำนาจเก่ามักจะยึดถือ ทุกวันนี้การตัดสินใจทำอะไรหลายอย่างจึงมักจะมาจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ผมว่าประเทศไทยคงต้องคิดเรื่องการกระจายอำนาจมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมากขึ้น เพราะต้องอย่าลืมว่าปัญหาของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน หรือต่อให้เป็นปัญหาเดียวกัน แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

คนไทยส่วนมากในวันนี้อยากเห็นบ้านเมืองมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยที่การพัฒนาต้องเป็นทั้งการพัฒนาที่พวกเขาได้รับประโยชน์จริงๆ และเป็นการพัฒนาที่พวกเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางจริงๆ ไม่ใช่รอแค่รัฐสั่งว่าต้องทำอะไรแค่นั้น นี่ไม่ได้กำลังเกิดขึ้นแค่ที่ไทย แต่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเจอปรากฏการณ์แบบนี้เหมือนกัน

อีกสิ่งที่ต้องตระหนักก็คือว่าโลกเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว แนวทางการพัฒนาประเทศในวันนี้ย่อมต้องไม่เหมือนในอดีต การที่เรายังยึดติดกับการทำอะไรแบบเดิมๆ ย่อมไม่ส่งผลดี นอกจากประเทศอาจจะเดินหน้าไปไม่ได้แล้ว ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วย เพราะประเทศอื่นอาจไม่ได้หยุดนิ่งเหมือนเรา แล้วมันก็จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงได้เห็นความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่นหนักขึ้นในวันนี้

บทบาทของรัฐบาลทุกวันนี้กำลังทวีความซับซ้อนขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะทุกอย่างเดินหน้าไปรวดเร็ว ขณะที่เสียงเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนก็มีหลากหลายและท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถตอบสนองพวกเขาได้หรือถ้าประชาชนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำได้ ความไม่พอใจในหมู่ประชาชนก็จะก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ

ทราบว่าทาง UNDP เพิ่งเปิดตัว Thailand Policy Lab ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสภาพัฒน์ฯ เมื่อไม่นานนี้ อยากให้คุณช่วยอธิบายถึง Thailand Policy Lab ว่าคืออะไร มีจุดเริ่มต้นยังไง แล้วจะมาช่วยแก้ปัญหาการออกแบบนโยบายสาธารณะต่างๆ ของไทยที่คุณพูดมาได้หรือเปล่า

ทั้ง UNDP และสภาพัฒน์ฯ เชื่อตรงกันว่าประเทศไทยทุกวันนี้กำลังเจอความท้าทายที่ซับซ้อน บูรณาการ และเกี่ยวข้องกับหลายมิติมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ จนทำให้การใช้วิธีการสร้างสรรค์นโยบาย ซึ่งใช้กระบวนการทางนโยบายแบบบนลงล่าง (top-down) โดยขาดการมีส่วนร่วมประชาชน และยังขาดการประยุกต์ใช้นวัตกรรม ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆ หรือจะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายต่างๆ ได้อีกต่อไปแล้ว ขณะเดียวกัน พลเมืองทุกวันนี้ก็มีวิสัยทัศน์กว้างไกลขึ้น เพราะได้รับการศึกษาและมีโอกาสได้เห็นโลกกว้างมากขึ้น จึงอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายโดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นแค่ผู้ชมข้างสนามเหมือนที่เคยเป็น

เมื่อสองปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เราจึงจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะจัดการประเด็นปัญหาต่างๆ ได้ และยังต้องเป็นแนวทางที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย UNDP กับสภาพัฒน์ฯ ที่ทำงานด้านการพัฒนาในประเทศไทยร่วมกันใกล้ชิดมานานแล้ว จึงตกลงกันก่อตั้ง Thailand Policy Lab ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เหล่านั้น เราพยายามหาแนวทางแบบบูรณาการเข้าไปจัดการประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อน เราคือที่ที่พยายามหาคำตอบให้กับเรื่องต่างๆ ด้วยกระบวนการใหม่ๆ และที่สำคัญคือใช้กระบวนสร้างสรรค์นโยบายที่ฟังเสียงของประชาชนที่ปกติอาจเคยถูกเมินเฉยมาก่อน

เหมือนว่าแนวคิดหลักจะเป็นการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายมากขึ้น คุณว่าตรงนี้สำคัญอย่างไร จะช่วยพลิกโฉมนโยบายสาธารณะของไทยได้อย่างไร

เราพยายามทำให้กระบวนการสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาส่งเสียงของตัวเองเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เราใช้แนวคิดของการออกแบบร่วมกัน (co-design) การมีส่วนร่วม (participation) การเจรจาต่อรองร่วมกัน (collective bargaining and negotiation) และการสนทนา (conversation) เข้ามาใช้ในกระบวนการออกแบบนโยบายของเรา เราพยายามเชิญชวนประชาชนเข้ามาร่วมกับเราโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระดับรายได้ ฐานะทางสังคม หรืออาชีพ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนต่างก็มีอะไรมาแลกเปลี่ยนกัน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งคือประเด็นโลกร้อน ผู้คนมักจะคิดว่าคนที่รู้เรื่องนี้ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วนี่ก็เป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้ได้เหมือนกัน ต่อให้เป็นคนที่อาจจะไม่ได้มีการศึกษาสูง แต่หลายคนก็รับรู้ได้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ด้วยตัวเอง เช่นอาจจะสังเกตเห็นระดับแม่น้ำในละแวกบ้านสูงกว่าที่เคยเป็น หรือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในป่าซึ่งอาจเป็นชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็เห็นได้ด้วยตัวเองว่าสัตว์ป่าบางสายพันธุ์เริ่มสูญหายไป นี่เป็นเรื่องที่ใครก็มาแลกเปลี่ยนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการ

เราต้องหยุดความคิดประเภทที่ว่าบางคนรู้ บางคนไม่รู้ หรือบางคนมีประโยชน์ บางคนไม่มีประโยชน์ ที่จริงแล้วทุกคนต่างมีประโยชน์ทั้งนั้น ผมเคยไปเนปาลหลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ ตอนนั้นบ้านเรือนเสียหายหนักมาก และหน้าที่ของเราก็คือต้องคิดวางแผนฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนในเมืองใหม่ แต่ถึงจุดหนึ่ง เราก็มาฉุกคิดกันได้ว่าคนที่มาร่วมกันทำงานนี้มีแต่ผู้ชายทั้งนั้นเลย คนวางแผนก็ผู้ชาย สถาปนิกก็ผู้ชาย วิศวกรก็ผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงเลย ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้หญิงคือคนที่อยู่บ้านมากกว่าผู้ชาย และย่อมรู้จักส่วนต่างๆ ของบ้านดีกว่า พวกเขามีความรู้ว่าห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่นต่างๆ ควรจะอยู่ตรงไหนถึงจะเหมาะสม ระบบประปาทำงานอย่างไร พอเราพาผู้หญิงเข้ามาแล้ว เราถึงได้แง่มุมแนวคิดใหม่ๆ หลายอย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงดีกว่าที่คาดไว้มาก

Renaud Meyer, Resident Representative of UNDP in Thailand

UNDP เข้าไปมีบทบาทอย่างไรใน Thailand Policy Lab

UNDP เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่มีสำนักงานกระจายอยู่กว่า 130 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละประเทศก็เจอประเด็นปัญหาที่แตกต่างกัน แต่วันหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งก็อาจไปเกิดขึ้นที่อีกประเทศหนึ่งได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศอย่างเราก็คือเราสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในแต่ละประเทศ สมมติถ้าประเทศไทยเจอปัญหาหนึ่งที่ประเทศอื่นเคยเจอหรือกำลังเจอคล้ายกัน ผมก็จะติดต่อสำนักงานประเทศนั้นเพื่อไถ่ถามข้อมูล ดูว่าประเทศนั้นเคยใช้วิธีจัดการปัญหาอะไรได้ผลหรือไม่ได้ผลมาก่อน ขณะเดียวกัน เราก็มีเครือข่ายทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำทั่วโลก เพราะฉะนั้น UNDP จึงเข้ามาเติมเต็ม Thailand Policy Lab ได้ในการช่วยประสานแหล่งข้อมูลความรู้ ในทางกลับกัน สิ่งที่ Thailand Policy Lab ทำสำเร็จก็จะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้เหมือนกัน UNDP ก็ช่วยทำหน้าที่ส่งออกความสำเร็จเหล่านั้นให้กับประเทศอื่นได้เห็น ทำให้ Thailand Policy Lab ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับคนไทย แต่มีประโยชน์ต่อคนทั่วโลก

ต้องเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า UNDP ไม่ใช่ว่าสั่ง Thailand Policy Lab ให้ทำตามทุกอย่างแบบซ้ายหันขวาหัน เราไม่ได้เข้ามากำหนดว่าต้องทำประเด็นนั้นประเด็นนี้ แต่ Thailand Policy Lab สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ออกแบบการทำงานได้ด้วยตัวเอง เราเพียงแค่ช่วยสนับสนุนเรื่องทางเทคนิค ถ่ายทอดกระบวนการทางนโยบายให้เท่านั้น ที่เหลือ Thailand Policy Lab สามารถไปปรับใช้อย่างไรก็ได้ตามที่ต้องการ

คุณมองภาพอนาคตของ Thailand Policy Lab ไว้อย่างไร นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบายมากขึ้นแล้ว Thailand Policy Lab จะเข้ามายกระดับนโยบายสาธารณะของไทยในแง่มุมไหนได้อีกไหม

เราวางเป้าหมายไว้ทะเยอทะยานมาก แต่ขณะเดียวกันมันก็คือเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง ในระยะยาว เราอยากให้ Thailand Policy Lab เป็นทรัพยากรและต้นแบบของอาเซียน ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะสามารถศึกษาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ จากประเทศไทยไปปรับใช้กับประเทศของตัวเองได้ ด้วยความที่ว่าชาติอาเซียนต่างก็กำลังเจอหลายปัญหาที่คล้ายกัน เช่น เมืองหลวงหลายแห่งต่างกำลังเสี่ยงที่จะจมน้ำจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ แทนที่ชาติอาเซียนจะต่างคนต่างคิด มันจะดีกว่าไหมถ้าเราร่วมกันคิดและร่วมกันแลกเปลี่ยน เมื่อเรากำลังเจอปัญหาเหมือนๆ กัน นี่คือเป้าหมายระยะยาวของเรา

แต่ถ้ามองเป้าหมายระยะสั้นลงมาหน่อย เราอยากจะช่วยยกระดับนโยบายสาธารณะของไทย อย่าง Thailand Policy Lab ก็ถือเป็นองค์กรคลังสมองภายใต้รัฐบาล ที่สามารถดึงดูดให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ที่รับผิดชอบดูแลประเด็นที่แตกต่างกันออกไปให้มาทำงานร่วมกันได้ นี่จะเป็นตัวจุดประกายให้ภาครัฐไทยทำงานแบบบูรณาการอย่างนี้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นโยบายสาธารณะของไทยมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องของตัวนโยบายเองและกระบวนการที่นำไปสู่นโยบาย

ดูเหมือนว่ามีความตั้งใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบราชการของไทยด้วย คุณคิดว่าจะทำได้อย่างไร

เราอยากช่วยให้ระบบราชการไทยหลุดกรอบจากความเคยชินกับการทำงานแบบเดิมๆ นี่คือความท้าทายที่ใหญ่มากสำหรับเรา เพราะมันคือการต่อสู้กับความเป็น ‘อนุรักษ์นิยม’ การจะโน้มน้าวใครให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายกว่าเดิม ไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้เราจะบอกเขาว่ามันอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างคาดไม่ถึงก็ตาม เวลาที่เราจัดกิจกรรมอบรมหรืออะไรก็ตามแต่ พวกเขาอาจจะยินดีมาเข้าร่วม แต่ถ้าพวกเขามาด้วยจิตใจที่ไม่ยอมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เหมือนเป็นน้ำที่เต็มฟองน้ำ ไม่พร้อมจะดูดซับน้ำใหม่ๆ เข้าไป มันก็ยากสำหรับเรา

สิ่งแรกคือเราอยากกระตุ้นให้เกิดวิถีการทำงานที่คนทำงานร่วมกันมากขึ้น ทำให้คนหรือองค์กรที่อาจจะไม่เคยร่วมมือกันมาก่อนให้มาร่วมมือกัน อย่างตอนนี้เราเห็นว่าบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายแห่งในไทยมีการสร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเอง (Innovation Hub)  ผมว่ามันคงดีมากถ้าหน่วยงานรัฐจะเข้าไปประสานงานเอกชนในด้านนี้ การจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัฐกับเอกชนรูปแบบนี้อาจจะนำไปสู่แนวทางอะไรบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายในอนาคต นี่คือสิ่งที่ Thailand Policy Lab พิจารณาจะทำในช่วงเริ่มต้นนี้ ซึ่งผมก็หวังว่านี่จะเป็นต้นแบบที่นำไปสู่วิถีการทำงานแบบใหม่ในระบบราชการไทยได้

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องการทำก็คือการกระตุ้นให้เกิดวิถีการทำงานที่คนตั้งคำถามให้กับตัวเองมากขึ้น เพราะคนหลายคนที่ทำงานอะไรมานานๆ จนเคยชิน ก็มักที่จะหยุดตั้งคำถามกับตัวเอง หรืออย่างคนเป็นนักการเมืองก็อาจจะคิดว่าตัวเองรู้ทุกเรื่อง ทั้งที่มีอีกหลายเรื่องที่พวกเขาคิดไม่ถึงหรือไม่เคยคิดมาก่อน ซึ่งผมก็เคยเห็นมาพอสมควร เช่นกรณีสิทธิทางการศึกษาของเด็กนักเรียน ซึ่งหลายคนก็จะลืมไปว่าประเทศไทยยังมีเด็กนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติอยู่ ทำให้ไม่ได้มีสิทธิรับทุนการศึกษาหรือสิทธิต่างๆ อย่างเด็กคนอื่นๆ พวกเขาอาจไม่เคยตั้งคำถามตัวเองในข้อนี้ เพราะฉะนั้น Thailand Policy Lab ที่มีวัฒนธรรมการทำงานตรงนี้อยู่แล้วก็อยากเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เราจะทำให้คนรู้จักตั้งคำถามมากขึ้นเพื่อนำไปสู่แนวความคิดที่แตกต่างหลากหลายขึ้น มันจำเป็นมากที่เราต้องมาเขย่าระบบนี้กันทั้งระบบ

นี่เป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก การจะเปลี่ยนแปลงระบบราชการทั้งระบบและแนวคิดอนุรักษ์นิยมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คุณว่ามีความหวังไหมที่จะเอาชนะความท้าทายข้อนี้ได้

ถ้าผมไม่มีความหวัง ผมก็คงไม่มานั่งคุยกับคุณตอนนี้ (หัวเราะ) ป่านนี้ผมคงเก็บกระเป๋าบินกลับบ้านไปแล้ว แน่นอนว่าผมมีความหวังเต็มเปี่ยม ทุกคนที่ทำงานในด้านการพัฒนาย่อมมีความหวัง ถ้าไม่มีความหวัง เราก็คงไม่ได้ทำอะไรเลย

อะไรที่ทำให้คุณคิดว่ามีความหวัง

มันมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เราไม่อาจที่จะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างแรกคือโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ในไทยทุกวันนี้ต่างก็ตั้งคำถามถึงคนรุ่นเก่า ตั้งข้อกังขาถึงมรดกบางอย่างที่คนรุ่นเก่าทิ้งไว้ให้ มันไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ภูมิใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติตัวเอง แต่ทุกวันนี้พวกเขามีสำนึกว่าพวกเขาก็คือ ‘พลเมืองโลก’ เหมือนกัน พอพวกเขาได้เห็นคนรุ่นเดียวกันในต่างประเทศมีชีวิตที่ดี ได้รับประโยชน์จากรัฐ พวกเขาก็อยากได้เหมือนกัน อยากให้รัฐลองใช้แนวทางแบบเดียวกับประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วดูบ้าง เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงได้เห็นคนรุ่นใหม่ลงสู่ท้องถนนเรียกร้องและแสดงความไม่พอใจต่อหลายเรื่องๆ รอบตัว นี่คือความจริงที่ทำให้เราปฏิเสธที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งคือประเด็นความมีประสิทธิภาพ อย่างที่ผมพูดไปแล้วปัญหาที่เราเจอทุกวันนี้ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมมาก มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปอย่างแท้จริงในโลกทุกวันนี้ ก่อนที่ผมจะมาไทย ผมเคยไปอยู่อีกประเทศหนึ่งที่ค่อนข้างพัฒนาช้ากว่าไทยเล็กน้อย ตอนนั้นที่นั่นกำลังดำเนินการติดตั้งเส้นใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงประชาชนในประเทศมากขึ้น แต่ที่น่าตลกคือหลังจากที่พวกเขาขุดหลุมกลางถนนฝังเส้นใยลงไปแล้วกลบทับแน่นหนาแล้ว วันต่อมา คนที่ดูแลเรื่องการประปาบอกว่าจำเป็นต้องใช้ท่อใหญ่กว่านี้ ทำให้ต้องขุดลงไปที่เดิมใหม่อีกซ้ำแล้วซ้ำแล้ว ทั้งที่พวกเขาสามารถขุดหลุมทีเดียวแล้วทำทุกอย่างพร้อมกันได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนต่างๆ ได้มากมาย นี่คือตัวอย่างว่าทำไมเราต้องมาคำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพกันมากขึ้น

พูดให้ถึงที่สุด ตอนนี้เราไม่สามารถใช้สูตรเดิมๆ มาแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปแล้ว มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดใหม่ทำใหม่

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top