บทความ , อินโฟกราฟิก / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 16.03.2023

นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องซ้บซ้อนเสมอ ภายใต้สังคมที่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเชื่อมโยงกัน หนึ่งนโยบายอาจส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ลองย้อนกลับไปดูมาตรการควบคุมโรคระบาด ที่แม้ว่าจะครอบคลุมเฉพาะด้านสาธารณสุข แต่เราจะเห็นได้ว่า นโยบายนี้ส่งผลโดยตรงต่อปากท้อง ระบบการศึกษา หรือกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีผู้คนมากมายที่ข้องเกี่ยวกับนโยบายของเรา แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นเขา และไม่ได้คิดว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายของเราก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ คำถามในบทความนี้จึงเป็น “จะทำอย่างไรให้สามารถออกแบบนโยบายที่คำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียรอบด้านได้?” เพื่อปรับสายตาเราให้มองได้กว้างขึ้นและลุ่มลึกขึ้น Thailand Policy Lab จะพาผู้อ่านไปสำรวจวิธีเข้าใจชุดความคิดต่างๆ นั่นคือ แนวคิด “หมวก 6 ใบ”

แนวคิดหมวก 6 ใบคืออะไร?

แนวคิดหมวก 6 ใบถูกคิดขึ้นโดยแพทย์ชาวมอลตานาม “เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน” (Edward de Bono) เดอโบโนตั้งใจให้คนลองคิดจากมุมมองต่างๆ เพราะเขาเชื่อว่าทรรศนะที่หลากหลายจะทำให้คนมองประเด็นต่างๆ ได้รอบคอบ และนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีมากขึ้น นอกจากนี้เครื่องมือนี้ยังช่วยวางโครงสร้างให้กับบทสนทนาได้อีกด้วย เพราะมันกำหนดชัดเจนว่าต้องพิจารณาปัญหาจากมิติใดบ้าง

หมวกต่างๆ มีอะไรบ้าง

หมวกสีต่างๆ ถือเป็นตัวแทนชุดความคิด โดยเดอโบโนเลือกหมวกสีขาว สีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีแดง และสีเขียวมาใช้ โดยเราสามารถลองสวมหมวก 6 ใบนี้ขณะกำลังระดมสมองไอเดียเชิงนโยบาย

  • เมื่อใส่หมวกขาว เราต้องคิดว่า “ตอนนี้มีข้อมูลข้อเท็จจริงอะไรบ้าง?” นี่คือ หมวกแห่งข้อเท็จจริง
    • การใส่หมวกขาวคือการรวบรวมข้อมูลและข้อสังเกต ตรวจทานว่าแหล่งที่มาของข้อมูลคืออะไร และมีอะไรที่ตกหล่นหายไปหรือไม่ จากนั้นก็นำเสนอและหารือตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ 
  • เมื่อใส่หมวกฟ้า เราต้องถามตัวเองว่า “ต้องจัดการงานด้วยระบบและวิธีการแบบไหน?” นี่คือ หมวกแห่งการจัดการ 
    • การจัดการในที่นี้หมายถึงการหาความเป็นไปได้หรือทิศทางความเป็นไปได้ของนโยบาย เราต้องเริ่มจากการพิจารณาสภาวการณ์ปัจจุบัน ควบคู่ไปกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จากนั้นจึงพัฒนาระบบที่ช่วยให้นโยบายเราเป็นจริงภายใต้สภาพแวดล้อมนั้นๆต่อไป
  • เมื่อใส่หมวกเหลือง เราต้องคิดว่า “เรื่องนี้มีข้อดีอะไรบ้างนะ” และนำเสนอข้อดี ประโยชน์ รวมถึงโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้น นี่คือ หมวกคิดเชิงบวก
  • เมื่อใส่หมวกดำ เราต้องคิดว่า “เรื่องนี้มีความเสี่ยงอะไรบ้างนะ” และนำเสนอความเสี่ยง ข้อกังวล อุปสรรค โดยอ้างอิงประสบการณ์และหลักคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล นี่คือ หมวกระวังภัย
  • เมื่อใส่หมวกแดง เราต้องคิดว่า “ตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง” และถ่ายทอดอารมณ์หรือสัญชาติญาณเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ นี่คือ หมวกแห่งความรู้สึก 
    • หากมองในเชิงนโยบาย การทำความเข้าใจปฏิกิริยาทางอารมณ์ก็คือการเข้าใจบริบททางสังคมเช่นกัน เมื่อเข้าใจว่าสาเหตุเบื้องหลังการแสดงออกของคน รวมไปถึงต้นตอของความกลัวและความไม่เข้าใจของประชาชนแล้ว เราก็จะสามารถมองเห็นภาพรวมของปัญหาได้มากขึ้น นอกจากนี้เองเรายังจะสามารถคิดค้นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานกับความคิดของประชาชนได้อีกด้วย
  • เมื่อใส่หมวกเขียว เราต้องคิดว่า “จะทำอย่างไรให้พลิกสถานการณ์นี้เป็นโอกาสได้” นี่คือ  หมวกคิดเชิงสร้างสรรค์

เราอาจเริ่มจากสถานการณ์ตัวอย่างดังต่อไปนี้

ก่อนหน้านี่องค์กรของคุณเคยมีนโยบาย “ทำงานที่ไหนก็ได้” แต่ปัจจุบันผู้บริหารประกาศให้ทุกคนเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยให้เหตุผลว่า การอนุญาตให้ทำงานนอกสถานที่ทำให้พนักงานไม่กระตือรือร้น ส่งผลให้คุณภาพงานตกต่ำลง

หากใส่หมวกขาว (มองตามข้อเท็จจริง) เราอาจจะตั้งคำถามว่า…

  • การทำงานที่ออฟฟิศส่งผลเชิงบวกต่อประสิทธิภาพการทำงานจริงหรือไม่ หรือ การทำงานนอกสถานที่ส่งผลเชิงลบจริงหรือไม่
  • มีสถิติหรือข้อมูลอะไรที่ช่วยยืนยันสมมติฐานนั้น
    • หากมีข้อมูล เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือไม่ มันสะท้อนอคติหรือผลประโยชน์ของผู้บริหารฝ่ายเดียวหรือเปล่า

หากใส่หมวกฟ้า (มองในเชิงการจัดการ) เราอาจจะตั้งคำถามว่า…

  • สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร มีปัจจัยภายนอก/ภายในอะไรที่ต้องคิดบ้าง

หากใส่หมวกเหลือง (มองในแง่บวก) เราอาจจะตั้งคำถามว่า…

  • หากมองในภาพรวม นโยบายนี้ให้ประโยชน์อย่างไรกับองค์กร
  • หากมองในระดับบุคคล ใครได้ผลประโยชน์จากนโยบายนี้บ้าง

หากใส่หมวกดำ (มองความเสี่ยง) เราอาจจะตั้งคำถามว่า…

  • การปรับวิถีองค์กรจะทำให้คนลำบากอย่างไร
  • ผลเสียในระยะยาวของนโยบายนี้คืออะไร

หากใส่หมวกแดง (มองตามที่รู้สึก) เราอาจจะตั้งคำถามว่า…

  • พนักงานรู้สึกอย่างไรต่อนโยบายนี้ มีแนวโน้มเห็นด้วยหรือต่อต้าน
  • หากมองในระยะยาว นโยบายนี้จะทำให้บรรยากาศการทำงานขององค์กรเป็นอย่างไร

หากใส่หมวกเขียว (มองอย่างสร้างสรรค์) เราอาจจะตั้งคำถามว่า…

  • ต้องใช้ทรัพยากรขนาดไหนถึงจะทำให้นโยบายนี้เป็นจริง
  • ต้องเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานอย่างไร เพื่อรองรับนโยบายใหม่

ดาวน์โหลดคู่มือกระบวนการนวัตกรรมเชิงนโยบายได้ที่นี่

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top