Published: 27.09.2022

“ทำอย่างไรถึงจะให้ทุกคนมีส่วนร่วม?” คือคำถามจากทีม “We Who Engage” แห่ง MIT พวกเขาพบว่า ปัญหาของการทำงาน “เพื่อสังคม” คือสังคมเองไม่รู้ว่าคนในวงทำงานทำอะไรกันอยู่ ปัจจุบันการขับเคลื่อนนโยบายหรือโครงการต่างๆ คือการพบปะของผู้เชี่ยวชาญ แต่ผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกลับไร้ช่องทางเข้าร่วม โดยเฉพาะชุมชนชายขอบ ด้วยเหตุนี้เอง หลายคนจึงรู้สึกถูกละเลย หรือเชื่อว่าตัวเองไม่สำคัญพอที่จะมีใครรับฟัง   

คณะทำงานที่ไม่รับฟังกลุ่มเป้าหมายนั้นเสี่ยงจมอยู่ใน “echo chamber” ที่มีแต่ความคิดเห็นของคนกลุ่มเดียวที่คล้ายคลึงกัน สะท้อนอยู่ในวงแคบๆ ดังนั้น เพื่อสร้างเวทีพูดคุยสำหรับทุกฝ่ายจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักนโยบาย หรือคนธรรมดา ทีม We Who Engage จึงพัฒนา “แนวทางการมีส่วนร่วมของพลเมือง” (Civic Design Framework) ขึ้นมา

แนวทางการมีส่วนร่วมของพลเมือง จะช่วยอะไรบ้าง?

แนวทางการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Civic Design Framework) คือเครื่องมือให้ช่วยทบทวน 2 สิ่ง นั่นคือ

  1. ประเภทของการพูดคุยหารือ (คุยกันไปทำไม?) ได้แก่
    • การหารือเพื่อชวนคิด (reflect) ประกอบด้วย การตีกรอบปัญหา (framing) ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจร่วมสำหรับทุกฝ่าย, การหาทางแก้ไข (ideating) เน้นการระดมสมอง ให้ทุกฝ่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตและความรู้ของตัวเอง 
    • การหารือเพื่อวางแผน (plan) ประกอบด้วย การเลือกแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ (prioritizing) โดยประชาชนเป็นผู้เลือกเองว่าจะให้น้ำหนักกับอะไร การเลือกแนวทางการตัดสินใจ (deciding) ในขั้นนี้ประชาชนจะมีโอกาสพูดคุยเรื่องข้อดี-ข้อเสียของตัวเลือกต่าง ๆ   
    • การหารือเพื่อลงมือทำงาน (act) ประกอบด้วย การนำแผนงานไปใช้งานจริง (implementing) ทั้งโดยภาครัฐและประชาชน, การติดตามการทำงาน (monitoring) ยิ่งประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้แผนงานและติดตามการทำงาน ยิ่งตีกรอบปัญหาได้แหลมคมยิ่งขึ้น

2. หลักการในการหารือ 

  • เชื่อมโยงกับสังคมรอบข้าง (situated): เป็นการพูดคุยเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ (systemic change) การพูดคุยเพื่อเรียนรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างคนและโลก/ธรรมชาติ (ecological networks)
  • ประสานกับคนอื่น (engagement): เป็นการพูดคุยเพื่อร่วมมือกับคนอื่น มีผู้ร่วมบทสนทนาที่หลากหลาย, เป็นการพูดคุยที่เปิดให้คนแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เป็นการพูดคุยที่มีทั้งแบบอนาล็อก (พบเจอกันตัวต่อตัว) และดิจิทัล
  • เพื่อความยุติธรรม (for justice): พูดคุยกับคนชายขอบในสังคม ให้ความสำคัญกับความรู้และประสบการณ์กับคนชายขอบ (the margins) พูดคุยเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการทำงานของภาครัฐในอดีต สร้างหลักประกันว่าการทำร้ายคนชายขอบจะไม่เกิดขึ้น (healing) พูดคุยเพื่อรักษาความเป็นธรรมในสังคม สร้างความเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนจะมีอภิสิทธิ์ทางสังคม-เศรษฐกิจเหมือนกัน และงานต่างๆ ต้องนำไปสู่ความเท่าเทียม (equity)

และเพื่อย้อนดูการทำงานของเรา เราสามารถใช้เครื่องมือ “วงแหวนพลเมือง” (Civic Spinner) และ “แม่พิมพ์พลเมือง” (Civic Spinner Matrix) โดยนำวงแหวน “ประเภทของการพูดคุยหารือ” มาประกบกับ “หลักการในการหารือ” จากนั้นจึงลองหมุนไปเรื่อย ๆ เมื่อพบว่าประเภทและหลักการอันไหนอยู่ตรงกัน ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น 

  1. ในอดีต การหารือระหว่างเราและคนอื่น ๆ ตั้งอยู่บนหลักการอะไร? 
  2. เราคุยกับใครมาแล้วบ้าง?
  3. เราหารือกับผู้คนในเรื่องอะไร?
  4. เราได้ดีไซน์พื้นที่พูดคุยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าถึงแล้วหรือยัง? (ถ้าไม่ ทำไมประชาชนไม่ร่วมสนทนากับเรา?)
  5. พื้นที่พูดคุยของเรา เปิดให้คนที่มีข้อจำกัดๆ เข้าถึงได้หรือยัง?
  6. ในอนาคต เราควรใช้หลักการอะไรในการพูดคุย?

ลองมาดูกรณีศึกษาต่อไปนี้ สำหรับคำถามข้อ 5. และ 6. กัน 

กรณีศึกษา 1: ที่เมืองโอ๊กแลนด์ แคลิฟอร์เนีย ทางเมืองได้เริ่มนโยบายเปลี่ยนถนนรถยนต์ให้เป็นถนนคนเดิน ส่วนมากคนที่โหวตเห็นด้วยเป็นประชากรผิวขาวรายได้สูง ในขณะที่ชุมชนรายได้น้อย โดยเฉพาะชุมชนของคนผิวดำ กลับมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นน้อย เพราะไม่อาจปลีกตัวจากการทำงานมาเข้าร่วมประชุมประจำเมืองได้    ด้วยเหตุนี้ คนจำนวนมากจึงขาดพื้นที่เสนอความกังวต่าง ๆ อาทิ อันตรายยามสัญจร และผลกระทบของการจำกัดเส้นทางเดินทางของชุมชนตัวเอง   ปัญหานี้ตรงกับงานวิจัยเกี่ยวกับการประชุมประจำเมือง ซึ่งระบุว่า ผู้มีอภิสิทธิ์ทางสังคมอยู่ในสถานะที่เข้าประชุมได้ ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง และคนกลุ่มนี้เองคือผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน ทำให้นโยบายต่างๆ ตกเป็นเครื่องมือคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้มีอภิสิทธิ์ 

ในกรณีศึกษาเช่นนี้ เราต้องตั้งคำถามด้วยว่า ถึงแม้เราจะออกแบบพื้นที่พูดคุยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าถึงแล้ว แต่ผู้ที่เข้าถึงมีสถานะทางสังคมเช่นไร  และควรมีส่วนร่วมได้ขนาดไหน?

กรณีศึกษา 2: คนม้งในสหรัฐฯ รู้สึกว่า ตนไม่อาจมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เต็มที่ เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ และส่วนที่แปลเป็นภาษาม้งก็ไม่ถูกต้อง 

ลองจินตนาการดูว่า เรากำลังจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเมืองของเรา พื้นที่ของเราพร้อมหรือยังสำหรับผู้มีข้อจำกัดด้านร่างกาย (คนที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเคลื่อนไหว หรือออกจากบ้านไม่ได้) ด้านอาชีพ (ประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน) หรือด้านภาษา (แรงงานข้ามชาติ หรือผู้ลี้ภัยที่พูดภาษาอื่นเป็นหลัก) 

หลังจากพูดคุยกันแล้ว เราสามารถใช้  “แม่พิมพ์พลเมือง” (Civic Spinner Matrix) เพื่อดูว่าประเภท/หลักการหารือแบบไหนที่เราได้ทำ ทำได้ หรือทำไม่เป็น เพื่อทบทวนตัวเอง และผลักดันให้พลเมืองมีส่วนร่วมมากขึ้น

>>>กดดู Civic Spinner และ Civic Spinner Matrix ได้จากลิ้งค์นี้

ที่ผ่านมา ภาครัฐนำแนวทางการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Civic Design Framework) ไปใช้วางแผนกิจกรรมเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กรมการขนส่ง เมืองบอสตัน จัดทำโครงการ “Go Boston 2030”   เนื่องจากโครงการนี้เกี่ยวกับแผนการขนส่งในเมืองบอสตันอีก 15 ปีข้างหน้า ทางกรมการขนส่งฯ จึงต้องการให้ทุกคนในเมืองแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น   Interaction Institute for Social Change (IISC)  จึงใช้เครื่องมือดังกล่าวออกแบบกระบวนการเปิดรับความคิดเห็น

ในขั้นต้น กรมการขนส่งฯ เปิดให้ประชาชนส่งคำถามเข้ามาผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย จดหมาย หรือกล่องหย่อนคำถามที่ตั้งอยู่ทั่วเมือง   เพื่อเข้าถึงประชาชนจริงๆ กรมการขนส่งฯ จัดกิจกรรม “Share Your Trip with BTD”  ซึ่งจับคู่ผู้โดยสารกับเจ้าหน้าที่ขนส่ง ให้ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการได้แลกเปลี่ยนทรรศนะ เช่น ความคาดหวังต่ออนาคตการเดินทาง และปัญหาในการเดินทาง   อีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญคือ “Ideas on the Street”   โดยเจ้าหน้าที่ขนส่งจะเดินทางไปที่ชุมชน 31 แห่งและจุดรอรถทั่วทั้งเมือง เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากคนเดินถนน   วิธีนี้ทำให้ได้คำถามถึง 2,000 ข้อ

หลังจากได้คำถามมาแล้ว กรมการขนส่งฯ ได้จัด “Vision Lab”   มีสมาชิกชุมชน 750 คน เจ้าหน้าที่ และตัวแทนจากแต่ละภาคส่วนร่วมหารือ โดยประเด็นต่าง ๆ มาจากคำถามที่ประชาชนส่งเข้ามากันนั่นเอง

เพื่อโอบรับความคิดเห็นของคนทุกคน และทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าถึงกระบวนการออกแบบนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ นักนโยบายก็สามารถนำเครื่องมือ “วงแหวนพลเมือง” (Civic Spinner) และ “แม่พิมพ์พลเมือง” (Civic Spinner Matrix) ไปใช้ในกระบวนการพูดคุยกับผู้คนได้เลย

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top