Published: 17.08.2022

เมื่อพูดถึง “นโยบายสาธารณะ” เรามักนึกถึงแผนการและกฎต่างๆ ที่ครอบคลุมชีวิตทุกคน แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้แปลว่ามนุษย์คือหัวใจของนโยบายเสมอไป Policy Lab จากสหราชอาณาจักร จึงสร้าง การ์ด 11 ใบ เล่าวิธีพลิกโฉมกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ ให้นักนโยบายเห็น 2 สิ่ง นั่นคือ เห็นคนอื่นนอกวงอาชีพตัวเอง และเห็นมนุษย์เป็นศูนย์กลางในแต่ละขั้นตอน นับตั้งแต่การออกแบบ จนไปถึงการนำไปปฏิบัติจริง สิ่งนี้จะช่วยให้นักนโยบายเข้าใจคน และสร้างสรรค์นโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้ การ์ดแต่ละใบมีอะไรบ้าง ไปดูกันเถอะ

การ์ดประเมินอนาคตด้วยตาทิพย์ (Superforecasting)

 

การ์ดนี้แนะนำให้นักนโยบายใช้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูล (data) ความน่าจะเป็น อคติทางความคิด (cognitive bias) เพื่อเพิ่มความเป็นวิทยาศาสตร์ให้กับการคาดประมาณผลสัมฤทธิ์ของนโยบายราวกับมีตาทิพย์ ด้วยวิธีนี้ การตัดสินใจเชิงนโยบายจะให้ผลที่ดีมากขึ้น

การ์ดเกมจริงจัง (Serious Games)

 

การ์ดนี้จริงจังเชียวล่ะ เพราะเสนอให้ใช้เกมส์จำลองกระบวนการออกแบบนโยบาย โดยเชิญผู้มีส่วนได้เสียมาเข้าร่วมในพื้นที่ปลอดภัย และหารือเป้าหมายต่างๆ ร่วมกัน

ในช่วงปี 2019-2020 UK Policy Lab ร่วมมือกับ Maritime Autonomous Regulation Lab (MARLab) เพื่อออกแบบเกมส์เกี่ยวกับอนาคตของกฎหมายทางทะเล ทาง UK Policy Lab ช่วยสร้างแผนที่ระบุผู้มีส่วนได้เสีย และนำข้อมูลที่ตกผลึกจากการสัมภาษณ์ไปผลิตการ์ด “Evidence Discovery” ซึ่งเป็นการ์ดที่บรรจุความกังวลและข้อคิดเห็นจากแต่ละฝ่ายเอาไว้ การ์ดประเภทนี้ช่วยให้นักนโยบายระบุประเด็นเชิงกฎหมายและแก้ไขกฎหมายได้ไวขึ้น ทาง MARLab กล่าวว่ากระบวนการนี้ทำให้แต่ละฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด

ตัวอย่างการ์ด Evidence Discovery  ที่มา: MARLab
การ์ดโรงละครนิติบัญญัติ (Legislative Theatre)

โรงละครนิติบัญญัติ (legislative theatre) หมายถึงพื้นที่ที่ประชาชน “แสดง” แต่แทนที่จะแสดงละคร ผู้คนจะแสดงให้นักนโยบายเห็นว่าตนผ่านอะไรมาในชีวิต นักนโยบายสามารถรับชมการแสดง ร่วมเข้าใจประสบการณ์ชีวิตคนอื่น และหารือนโยบายกับประชาชนผ่านวิธีนี้ได้ เพราะการพูดคุยทำให้ค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ และผลลัพธ์ที่แตกต่างจากเดิม

โรงละครนิติบัญญัติเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศบราซิล ช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ปัจจุบันเขต Greater Manchester และสภาเขต Haringey สหราชอาณาจักร นำโรงละครนิติบัญญัติไปใช้เวลาออกแบบนโยบายยุติภาวะไร้บ้านด้วย

การ์ดสื่อสารผ่าน Metaverse (Engaging Through the Metaverse)

การ์ดนี้แนะนำให้ใช้ “Metaverse” เพื่อเพิ่มวิธีติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐและผู้มีส่วนได้เสีย

การ์ดคู่แฝดดิจิทัล (Digital Twins)

การ์ดนี้ผลักดันการสร้างแบบจำลองดิจิทัลของระบบหรือวัตถุต่างๆ นักนโยบายสามารถใช้แบบจำลองเพื่อดูความเคลื่อนไหวต่างๆ กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และใช้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ได้จากการทดลองนี้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย

นอกเหนือไปจากนักนโยบายเอง เอกชนก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน เช่น Formula One ที่สร้างรถในรูปแบบดิจิทัลผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยประมวลประสิทธิภาพการทำงานของโมเดลรถนั้นๆ ทำให้บริษัทสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถจริงๆ โดยที่ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาก่อน

12 cards for people-centered design in policymaking
การ์ดผู้ได้รับผลกระทบ (Bodystorming)

การ์ดนี้แนะนำให้นักนโยบายลองรับบทเป็น “ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย” ช่วยกันจำลองสถานการณ์เวลานโยบายและแนวคิดด้านการบริการต่างๆ ถูกนำไปปฏิบัติจริง วิธีนี้ช่วยให้กระบวนการคิดนโยบายมีชีวิตชีวา มีความคิดสร้างสรรค์ และเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น

การ์ดจินตนาการเกินมนุษย์ (Moral Imaginings)

การ์ดนี้ชวนให้นักนโยบายมองไปไกลกว่าปัจจุบันและมนุษย์ และออกนโยบายที่คำนึงถึงคนรุ่นหลัง ธรรมชาติรอบตัว และ “ห้วงลึกแห่งเวลา” (deep time) หรือประวัติศาสตร์แห่งธรรมชาติที่มีมานานก่อนประวัติศาสตร์ของคนจะเริ่มเสียอีก ยกตัวอย่างเช่นพื้นพิภพ ซึ่งถือกำเนิดและหดขยายมาหลายล้านปี

การ์ดกระจายศูนย์กลาง (Decentralised Autonomus Organisations)

การ์ดนี้จะให้ลองนึกถึงองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organizations) หมายถึงองค์กรที่ไร้ลำดับชั้นของพนักงาน ไร้ศูนย์รวมอำนาจบริหาร เมื่อนำมาใช้ร่วมกับคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) นั่นหมายความว่า แต่ละธุรกรรมต้องได้รับการโหวตรับรองโดยคนในองค์กร และดำเนินการอย่างโปร่งใส

การ์ดศิลปะในนโยบาย (Art in Policy)

ศิลปะคือการบูรณาการประสาทสัมผัส เมื่อนำมาใช้กับนโยบาย ศิลปะจะช่วยดึงอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ และช่วยให้เราเห็นวิสัยทัศน์อื่นๆ สำหรับโลกที่ดีกว่า Stephen Bennett หัวหน้า UK Policy Lab ทดลองจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2021 โดยในตอนท้ายเขาตั้งวงคุยประเด็นต่างๆ เช่น ข้อมูลที่จับใจผู้ชมมากที่สุด และนโยบายที่จำเป็นกับสภาพภูมิอากาศ Bennett ระบุว่า การพูดคุยกันในวันนั้นทำให้เห็นว่า ศิลปะสร้างพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความคิด ชวนให้ผู้คนนึกถึงหนทางใหม่ๆ ในการสร้างสังคม ทำให้คนกล้าคิดและกล้าทำ และสนใจนโยบายสาธารณะมากขึ้น

การ์ดสมัชชาประชาชน (Citizen Assemblies)

สมัชชาประชาชน (citizen assembly) หมายถึง การนำตัวแทนประชาชนกลุ่มต่าง หารือประเด็นนั้นๆ ด้วยกัน และร่วมกันให้ข้อเสนอเชิงนโยบายกลับไป

การ์ดออกแบบเชิงฟื้นฟู (Regenerative Design)

การออกแบบเชิงฟื้นฟู (regenerative design) ในที่นี้ หมายถึงการออกแบบสิ่งแวดล้อม สรรค์สร้างระบบและโครงสร้างสังคมที่เลียนแบบและฟื้นฟูธรรมชาติ นำไปสู่กลไกประชารัฐ (governance) ที่ยั่งยืน ปรับตัวตามยุคสมัย

การ์ดที่ทำขึ้นมาเอง (Draw Your Own)

แล้วคุณล่ะ มีประสบการณ์ทำนโยบายอะไรที่นำมาสร้างการ์ดได้บ้าง ลองวาดการ์ดของคุณขึ้นมาแล้วเอามาแชร์กันได้นะ

ทั้งหมดนี้ UK Policy Lab ระบุว่า แนวคิดเหล่านี้อาจทำให้คนสามารถตั้งคำถามได้มากขึ้น เช่น metaverse จะมีบทบาทในการออกแบบนโยบายอย่างไร? นักนโยบายจำเป็นต้องคำนึงถึงอนาคตของคนรุ่นหลังไหม? Decentralised Autonomous Organisations จะเปลี่ยนวิธีที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนชุมชนต่างๆ อย่างไร? ถึงตอนนี้เราจะยังไม่มีคำตอบ แต่ความไม่รู้คือจุดประสงค์ของการ์ดนโยบาย เพราะการ์ดเหล่านี้มีเพื่อจุดประกายคำถามว่า เราทำอะไรได้บ้างเพื่อเปลี่ยนวิธีออกแบบและพัฒนานโยบายแบบเดิมๆ

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top