บทความ / เยาวชน
Written By
Published: 04.07.2022

ทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่ก็จริง แต่โอกาสไม่ใช่ของที่หาได้ทั่วไปเพราะต้องอาศัยปัจจัย และทรัพยากรต่างๆ โรคระบาด ความไม่มั่นคงทางการเมือง การศึกษาที่ถดถอย และเศรษฐกิจที่หดตัว กัดกินความฝัน และบั่นทอนพลังแห่งการสร้างสรรค์ในโลกการทำงานของคนรุ่นใหม่

ซึ่งนักนโยบายสามารถช่วยเหลือคนรุ่นใหม่เพื่อให้พวกเขาฝ่าฝันปัญหาไปให้ได้ ไม่ใช่แค่การเดินก้าวผ่านปัญหา แต่ต้องช่วยให้คนรุ่นใหม่กระโดดให้สูงขึ้นเพื่อหลีกหนีสิ่งกีดขวางในชีวิตที่ไล่ตามอยู่ทุกวัน

นักนโยบายสามารถสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เตรียมพร้อม กระโดด และแลนดิ้งได้อย่างมั่นคง

เตรียมพร้อม: ประเมินสถานการณ์ให้เป็น และอยู่กับความเป็นจริง

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD พบว่าคนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงที่จะตกงานมากขึ้นถึงร้อยละ 48 ซึ่งร้อยละ 32 มีความเสี่ยงมากเนื่องจากได้รับการศึกษาที่ไม่ถึงเกณฑ์ โดยเฉพาะบุคลากรในภาคการผลิตและภาคการเกษตร

สถานการณ์ทั้งหมดมีการแพร่ระบาดของโควิดเป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมักมาในรูปแบบของสัญญาจ้างชั่วคราว หรืองานแบบฟรีแลนซ์ที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม สิทธิการลาป่วย หรือเงินบำนาญ แม้ว่าจะทำงานหนักราวกับเป็นลูกจ้างประจำก็ตาม คนรุ่นใหม่แบกรับความกังวลมากมาย ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม อันที่จริงพวกเขาก็รับรู้ถึงความไม่แน่นอนตั้งแต่ยังเด็กจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ตามมาด้วยโรคระบาด และวิถีชิวิตที่เปลี่ยนไป ที่ไม่เป็นไปตามความฝัน

โอกาสของนักกำหนดนโยบาย: เราแก้ไขอดีตไม่ได้แต่กำหนดอนาคตได้ โดยเฉพาะการเสริมกำลังให้คนรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันเรื่องความผิดหวัง และยืดหยุ่นและสนุกไปกับการปรับตัว หรือ Resilience ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเด็กจบใหม่ทำงานไม่ตรงสาย แต่พวกเขาควรมีโอกาสในการฝึนฝนตัวเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และทักษะในการใช้ชีวิต ถ้าหากรัฐสามารถจัดการสิ่งเหล่านี้เป็นสวัสดิการได้ โดยออกแบบไปพร้อมกับทั้งลูกจ้างและนายจ้างเพื่อหาจุดสมดุลในโลกแห่งการทำงาน คนรุ่นใหม่จะรู้สึกมีความมั่นใจยิ่งขึ้น และเคารพตัวเองมากยิ่งขึ้น

กระโดด: ออกนอกบ้านไม่ได้ ประสบการณ์ก็น้อยลง

“ประสบการณ์นอกห้องเรียน” เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เพราะทุกคนตระหนักว่าแค่เพียงความรู้ในห้องเรียนไม่เพียงพอที่จะให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาในสังคมอย่างแข็งแรง แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่กลับต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดอย่างไม่มีทางเลือก พวกเขาไม่ได้ออกไปทัศนศึกษา ทำงานอาสา หรือแม้กระทั่งออกเดตกับคนรัก สถิติในหลายประเทศระบุว่าเด็กอายุ 15 ปีไม่มีไอเดียเรื่องเรียนต่อในสาขาที่ตลาดกำลังต้องการ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะจบการศึกษาจากคณะที่ได้รับความนิยมน้อยลงในโลกของการทำงาน และคนที่มีทักษะใหม่ๆ จะขาดแคลนมากขึ้น ผลลัพธ์เหล่านี้มาจากการหยุดเรียนเป็นระยะเวลานานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด เราต้องไม่ลืมด้วยว่าในหลายโรงเรียนระบบดิจิทัลยังเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก

โอกาสของนักกำหนดนโยบาย: คนรุ่นใหม่กำลังกระโดดและมองหาที่ลงอย่างปลอดภัย ไม่แปลกที่พวกเขาจะรู้สึกเคว้งคว้างกลางอากาศเพราะยังไม่มีใครสร้างความเชื่อมั่นได้มากพอว่าสิ่งที่เขาเลือกจะเป็นช้อยส์ที่ดีที่สุด โรงเรียนและระบบการศึกษาจึงเป็นต้นทางที่สำคัญของเรื่องนี้ การเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์อย่างกะทันหันทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเกิดอาการช็อก ปรับตัวไม่ทัน นโยบายการศึกษาในโลกยุคใหม่ต้องรวดเร็วและทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลง รัฐควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสำรวจข้อมูล รับฟังความกังวลของคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการศึกษาและการทำงานอย่างจริงใจ และเรียนรู้จากภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ยิ่งถ้าหากนโยบายได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายและมีประสิทธิภาพ ก็เหมือนช่วยกันพยุงคนรุ่นใหม่ให้พวกเขากระโดดได้สูงขึ้น และเห็นความเป็นไปได้ในชีวิตมากยิ่งขึ้น

แลนดิ้ง: เพราะรุ่นใหม่คืออนาคต พวกเขาสมควรได้รับความมั่นคงในชีวิต

คนรุ่นใหม่ไม่อดทนจริงหรือ หรือว่าพวกเขามีทัศนคติในการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่เหมือนคนรุ่นก่อนหน้านี้ คนที่ไม่รับผิดชอบมีทุกยุคไม่ว่ารุ่นนี้หรือรุ่นไหน ผู้ใหญ่ไม่ควรเอาอคติส่วนตัวมาตัดสินคนรุ่นใหม่ทั้งหมด จะดีหรือไม่ดีอย่างไรพวกเขาก็คือแรงงานในอนาคตที่เราทุกคนต้องฝากความหวังไว้ ตำแหน่งที่สำคัญของคนที่เกิดก่อนไม่ใช่การยืนสั่งสอนอยู่ข้างหน้า แต่เป็นที่พึ่งพาซึ่งคอยประคองอยู่ข้างหลังอย่างอุ่นใจ เป็นเรื่องปกติที่พวกเขาจะเปลี่ยนงานบ่อย หรือพูดสิ่งที่คิดออกมาเลย พวกเขาต้องการผังเมืองที่ดีจะได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ ไม่ต้องตื่นแต่เช้าแล้วไปติดแหง็กอยู่บนท้องถนน พวกเขาต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้นขึ้นเพราะค่าครองชีพสูงเกินกว่าจะประคองตัวเองไหว พวกเขาต้องการออฟฟิศที่วัดคุณค่าการทำงานจากผลลัพธ์ ไม่ใช่การเช็คชื่อเข้าบริษัทเหมือนอยู่ในโรงเรียน โลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเร็วและรุนแรงกว่าเดิม ไม่มีประโยชน์ที่จะลดคุณค่าหรือว่ากล่าวพวกเขา การสนับสนุนเท่านั้นคือคำตอบ

โอกาสของนักกำหนดนโยบาย: คิดว่านโยบายที่ใช้อยู่ตอนนี้รวดเร็วเท่าพลวัตของสังคมหรือเปล่า? ค่านิยมแบบอเมริกันดรีมที่ต้องทำงานดีๆ ซื้อบ้าน มีรถ และสร้างครอบครัวอันอบอุ่นอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว คนรุ่นใหม่อยู่เป็นโสดได้แบบไม่ติดขัด หรือไม่พวกเขาก็ตั้งใจจะไม่มีลูกหลังแต่งงาน การลดลงของจำนวนประชากรเชื่อมโยงกับเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ ความเครียดสะสมในการทำงาน รายได้ที่ไม่มั่นคง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น  หรือ 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทำงานประจำ นักนโยบายต้องหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขารู้สึกว่าอาชีพอิสระก็ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม มีเวลาเหลือออกไปเดินเล่น เสริมสร้างความรัก และเติมเต็มครอบครัวในนิยามของตัวเอง เพราะรากฐานที่มั่นคงจะนำพาความแข็งแรงมาให้กับโครงสร้างทางสังคมเอง

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top