บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 31.10.2022

ในการวางแผนนโยบายที่เราอาจใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อค้นหาผู้ได้รับผลประโยชน์ และผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น  Stakeholder Mapping (แผนผังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง) หรือการทำ Persona (แบบจำลองบุคคล) อย่างไรก็ตาม ในสายตาของ Monika Sznel นักออกแบบและนักมานุษยวิทยา แม้จะระดมทุกคนลงในแผนผังแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะยังมีหนึ่งกลุ่มถูกเมินเฉย นั่นคือ สรรพสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ บทความนี้เราจะพามาสำรวจเครื่องมือออกแบบนโยบายที่เน้นองค์รวม (holistic policy toolkit) นั่นคือ Actant Mapping Canvas (แผนผังตัวกระทำ) และการจำลอง persona สิ่งที่ไม่ใช่คน 

Actant Mapping Canvas คืออะไร

ปัจจุบันการทำ Stakeholders Mapping ให้ความสำคัญกับคน โดยในจินตนาการกระแสหลัก มนุษย์เป็นกลุ่มเดียวที่มีบทบาทในการริเริ่มทำอะไร ในขณะที่สิ่งอื่นๆ ตกอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า ธรรมชาติถูกปฏิบัติในฐานะทรัพยากร ไม่มีความต้องการเฉพาะ ต้องได้รับการจัดการในแบบที่รักษาผลประโยชน์ของคน Stakeholder Mapping อาจจะทำให้เราทราบว่า “ใคร” คือ “คน” ที่เราต้องรับผิดชอบ แต่ความรัดกุมชัดเจนนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะทำให้เกิดคำนิยามสำหรับ “ผู้เกี่ยวข้อง” ที่จำกัด เพราะความต้องการของมนุษย์เป็นประธานหนึ่งเดียวของนโยบาย และยังแยกมนุษย์ออกจากส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างเด็ดขาด สิ่งนี้ทำให้เกิดโลกทรรศน์ที่พิจารณาแค่มนุษย์ ไม่ได้มองครบวงจรของโลก นำไปสู่การบั่นทอน “ความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนรรม ซึ่งก่อร่างให้กับความเป็นจริงของโลก”  Sznel กล่าวว่า “ลองคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับยุทธศาสตร์ธุรกิจของบริษัทค้าน้ำมันสิ ถ้าเกิดผู้เกี่ยวของหลักเปลี่ยนมุมมองว่า คุณภาพอากาศก็เป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจเช่นเดียวกัน” จะเกิดอะไรขึ้นกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ? 

Sznel จึงร่วมมือกับนักออกแบบชื่อ Marta Lewan  พัฒนา “Actant Mapping Canvas”  หรือแผนผังที่ระบุ “ตัวกระทำ” สาเหตุที่ใช้คำว่า “actant” (ตัวกระทำ) แทน “stakeholder” (ผู้เกี่ยวข้อง) เพราะแผนผังนี้ถือกำเนิดจากกรอบทฤษฎี “actor-network” ของ Bruno Latour ซึ่งนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส  ชนกพร ชูติกมลธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุปหัวใจของทฤษฎีนี้ไว้ดังนี้ 

ทฤษฎี actor-network  […] มีข้อเสนอหลักว่า ลักษณะของความเป็นผู้กระทำการนั้น กระจายตัวอยู่ทั้งในผู้แสดงที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ ตลอดจนเสนอการก้าวข้ามคู่ตรงข้ามที่หลากหลาย [เน้นโดยผู้เขียนบทความ] ระหว่างสังคมกับธรรมชาติ เทคโนโลยีกับสังคม และระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์

หากกล่าวโดยสรุปคือ ไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่มีบทบาทในความเป็นไปของโลก สิ่งที่ไม่ใช่คน (nonhuman entity) ก็เป็นผู้มีส่วนลงมือทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น คำว่า actant จึงสามารถครอบคลุมองค์รวมของโลก มากกว่าคำว่า stakeholder

>>>สามารถดาวน์โหลด Actant Mapping Canvas ได้ที่นี่ โดยนำไปใช้คู่กับโปรแกรมระดมสมองอย่าง Miro ได้

วง Actant Mapping Canvas แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ 

  1. ปัญหา/อุปสรรคที่ต้องแก้ไข (หรือข้อท้าทายที่กำลังเผชิญ)
  2. actant ทางตรง (actant ที่มีอิทธิพล หรือได้รับผลกระทบจากอุปสรรคโดยตรง) 
  3. actant ทางอ้อม (actant มีอิทธิพล หรือได้รับผลกระทบจาก actant ทางตรง)


                                                                 ตัวอย่างการใช้แผนผังโดย Sznel

ในวงด้านบน ข้อท้าทายสำหรับบริษัทต่างๆคือ “คนตื่นตัวด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก” (ทำให้บริษัทต้องปรับตัว) ฉะนั้น actant ทางตรงจึงเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากเทรนด์ความต้องการนี้ และสิ่งที่จะช่วยให้ความต้องการนี้เป็นจริงได้ มีทั้งมนุษย์ (อาทิ ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ทีมวิจัยและพัฒนาสินค้า เครือข่าย Carbon Footprint) และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติน้ำที่ใช้ผลิตสินค้า) ถัดจากนั้นจึงเป็น actant ทางอ้อม หรือสิ่งที่สร้างผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบจาก actant ทางตรง ยกตัวอย่างเช่น การทำลายป่า ซึ่งทำให้วงจรการไหลเวียนน้ำเปลี่ยนไป การเกิดพายุเฮอร์ริเคนในท้องที่ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภค  จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนนี้จะเป็นการถอยออกมาจากปัญหา แล้วมองหาความเชื่อมโยงกับสภาพสิ่งแวดล้อม 

การจำลอง persona สิ่งที่ไม่ใช่คน คืออะไร

โดยทั่วไปแล้ว การทำ persona คือการจำลองคนที่เป็นผู้ใช้บริการ ในบริบทของนโยบายสาธารณะ persona จะเป็นคนที่จะได้รับผลกระทบของนโยบาย หรือเป็นกลุ่มคนที่รัฐต้องการช่วยเหลือด้วยนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษที่นำ persona มาใช้เพื่อทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของผู้คน อาทิ เงื่อนไขในชีวิต ความต้องการ พฤติกรรมการทำงานและใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม Sznel เสนอว่า เราสามารถทำ “nonhuman persona” หรือ “persona ของสรรพสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์” ได้เช่นกัน 

เพื่อสร้าง persona สำหรับธรรมชาติ Sznel ได้ค้นคว้าผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นเฉพาะนั้นๆ อาทิสื่อและงานข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สถิติระดับชาติ-โลก งานวิจัยจากองค์กรที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกิจกรรม พนักงานในบริษัทที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลที่ใช้สร้าง persona ธรรมชาติ ต้องเป็นข้อมูลที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์อย่างละเอียด หลังจากคัดกรองข้อมูลแล้ว จึงนำมาถอดเป็น persona ที่มี “เสียง” เป็นของตัวเอง

ตัวอย่างข้างต้น คือ persona สำหรับทะเลบอลติก เราจะเห็นได้ว่าแผ่นภาพนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่  ปัญหา ความต้องการ ข้อกังวล และสถิติเกี่ยวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างปัญหา ในบริบทนี้ อุปสรรคสำหรับทะเลบอลติกคือ ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (eutrophication) เกิดจากปุ๋ยเคมีและน้ำเสียจากภาคเกษตรกรรมไหลลงน้ำ ทำให้ปริมาณไนโตรเจนและฟอสโฟรัสเพิ่มขึ้น สาหร่ายจึงแพร่ขยายเกินกว่าปกติ ข้อกังวลที่ตามมาคือ ทะเลไม่สามารถกำจัดมลภาวะด้วยตัวเอง สาหร่ายใต้ทะเลได้ดูดซับออกซิเจนจำนวนมาก จนทำให้ทะเลบอลติกกลายเป็นโซนมรณะ หรือพื้นที่ที่ระดับออกซิเจนต่ำ และทำให้ปริมาณออกซิเจนในโลกเบาบางลงเรื่อยๆ  ฉะนั้นสิ่งที่ persona ทะเลต้องการ จึงเป็นการหยุดสร้างมลภาวะอย่างเด็ดขาด และยุติการจับปลาเกินขนาด จะได้มีปลาคอยกำจัดสาหร่ายมากขึ้น

การคำนึงถึง persona ที่นอกเหนือไปจากมนุษย์ อาจเป็นทั้งสิ่งแปลกใหม่และเป็นข้อท้าทายของนักนโยบายรุ่นใหม่ แต่ก็เป็นเครื่องมือและแนวคิดที่น่าลองนำไปปฏิบัติใช้ ลองนึกดูสิว่าเรากำลังออกนโยบายการจัดการน้ำ แต่เราจะไม่นึกถึงทะเล แม่น้ำ กุ้งหอยปูปลา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเสียจากมนุษย์เลยหรือ? เพราะสุดท้ายแล้วโลกที่มนุษย์อยู่ได้ ก็คือโลกที่สัตว์ต่างๆ และสิ่งแวดล้อมเติบโตได้เช่นกัน 



 



งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top