บทความ / การพัฒนาเมือง
Written By
Published: 21.06.2022

1.กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” เพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน สร้างความมั่งคั่งในสมัยที่การโดยสารทางน้ำยังคงเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญ แต่อย่างหนึ่งที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถเทียบเวนิสของจริงได้เลยคือ “ความโรแมนติก” เพราะเรือด่วนหลายลำวิ่งขวักไขว่ แทรกด้วยเรือบรรทุกสินค้า เรือข้ามฟาก เรือเพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งเรือของชาวบ้านที่วิ่งฉิวไปมา ท้ายเรือกระทบน้ำดังซู่ซ่าทำให้ผู้โดยสารต้องหาที่จับอย่างมั่นคงเพื่อเอาชีวิตให้รอดไปได้ในแต่ละวัน ในสังคมที่ขนส่งมวลชนและผังเมืองไม่สามารถสร้างความปลอดภัยในชีวิตประจำวันได้ ผู้คนจำเป็นต้องโฟกัสที่ตัวเองก่อนจะมีเวลาชายตาไปหาคนอื่น มิเช่นนั้นอาจจะเดินตกฟุตบาท หรือเหยียบกับระเบิดเป็นน้ำเน่าใต้กระเบื้องทางเท้า ในชีวิตจริงไม่มีซีนโรแมนติก-คอมเมดี้ที่ผู้ชายจะหันมาแล้วถามว่า “เป็นอะไรหรือเปล่าครับ ให้ผมเช็ดให้ไหมครับ” ความจริงคือผู้ชายตกใจ รีบเดินหนี เพราะกลัวว่าอุบัติแห่งจะเกิดขึ้นกับตัวเขาด้วย

2.พื้นที่สาธารณะ หรือ Public Space อยู่ในข้อ 11.7 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าด้วยการจัดให้ผู้คนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ปลอดภัยครอบคลุม เพื่อสนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การเพิ่มพื้นที่สาธารณะเป็นการเพิ่มศักยภาพในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ จินตนาการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นสถานที่ในการพักผ่อนหย่อนใจ เดินเล่นหลังเลิกงาน เผื่อจะเจอเนื้อคู่ที่เคยขอกับพระตรีมูรติไว้ก่อนหน้านี้ เพราะการไม่มีพื้นที่สาธารณะจะตัดโอกาสที่เราจะได้เจอคนใหม่ๆ ในโลกออฟไลน์ อย่าเข้าใจว่าห้างสรรพสินค้าเป็นพื้นที่สาธารณะ เพราะถึงแม้ทุกคนจะเดินเข้าออกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ก็ถือว่าที่ตรงนั้นมีเจ้าของเป็นเอกชน ที่สาธารณะไม่ใช่แค่คลองโอ่งอ่าง แต่ยังหมายถึงห้องสมุด ห้องน้ำ ที่นั่ง ทางเท้า และสวนใกล้บ้านที่จะไปใช้ประโชน์เมื่อไหร่ก็ได้

3.ในขณะที่เด็กไทยในเมืองต้องตื่นแต่เช้าเพื่อฝ่าฝันรถติดให้ไปถึงโรงเรียนได้ทันเวลา รัฐบาลประเทศเกาหลีใต้กลับเพิ่มงบประมาณอีก 10 เท่าในการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตอย่างแท้จริง เพราะสร้างไว้รองรับการขยายตัวของเมือง และเป็นบริการจากรัฐที่เข้าไปเสิร์ฟถึงที่โดยประชาชนไม่ต้องดิ้นรนจนเกินไป แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีสวนสาธารณะมากกว่า 8,000 แห่ง แต่การสำรวจกลับพบว่าผู้ใช้ต้องเดินทางประมาณ 5 กิโลเมตรเพื่อไปถึงสวน เช่นเดียวกับปัญหารถติดในเมืองที่ผู้ใช้รถส่วนตัวพยายามหลีกหนีการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเอาแน่เอานอนไม่ได้ในวันที่ฝนตกจนน้ำท่วม กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ทำให้พลเมืองเครียดเป็นลำดับ 5 ในทวีปเอเชีย วัดจากความวุ่นวายต่างๆ และระบบสาธารณูปโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ ในเมื่อเรื่องพื้นฐานยังไม่มั่นคง คนเมืองจะเอาแรงจากไหนมาทำให้ความรักเบ่งบานภายใต้ชีวิตประจำวันที่วนลูปซ้ำๆ แบบนี้

4.ประเทศสิงคโปร์มีขนาดเล็กจิ๋วกว่าเรามาก แต่ประชากรชาวสิงคโปร์แต่ละคนกลับมีพื้นที่สีเขียวสูงถึง 66 ตารางเมตร ขณะที่คนไทยมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยคนละ 6.23 ตารางเมตรเท่านั้น ทั้งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าแต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ส่วนนายกเทศมนตรีเมืองโซลตัดสินใจทุบถนนและทางด่วนเพื่อแปลงเป็นพื้นที่สาธารณะกลางเมือง จนกลายเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “คลองช็องกเยช็อน” หรือถ้ายังจินตนาการหน้าตาของพื้นที่สาธารณะไม่ออก ลองคิดถึงการ์ตูนญี่ปุ่นที่ชอบดูในตอนเด็กก็ได้ สนามเด็กเล่นที่โนบิตะและผองเพื่อนไปเจอกันทุกวันหลังเลิกเรียน หรือฟุตบาธขนาดใหญ่พอที่จะทำให้คู่รักเดินคุยกันไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่ต้องหลบเสาไฟฟ้า สะพานลอย หรือแม้กระทั่งป้ายโฆษณา

5.The Bentway คือพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ลักษณะโดยทั่วไปมีความคุ้นตาคล้ายกับเมืองไทยมาก แต่การใช้สอย และการมีส่วนร่วมของคนกลับสูงกว่าจนน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีความพยายามใช้สอยพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในฐานะพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน แต่บางแห่งก็ดูอันตรายเกินกว่าที่จะมีคนกล้าเข้าไปใช้ ยังไม่รวมถึงเรื่องความปลอดภัย มลภาวะทางเสียงและอากาศที่ต้องจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อความยั่งยืน ความรักจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีพื้นที่สาธารณะที่ดี การลงทุนพัฒนาพื้นที่เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกเมืองในไทย เวลาโดดเดี่ยวจะได้มีพื้นที่ไว้เดินเที่ยวเล่น ดูผู้คนต่างวัยเดินผ่านไปมา ถ่ายทอดความมีชีวิตชีวาให้กันและกัน เพื่อสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top