บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 16.05.2023

ในระบบที่เราใช้ชีวิตกันอยู่นี้ ปัญหาที่เราเผชิญล้วนมีมิติที่หลากหลาย และเมื่อมิติต่างๆ ของปัญหาเหล่านี้มาประสานกัน อาจส่งผลให้เกิดปัญหาที่มีแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้าง

เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะมีวิธีการแก้ไขเดียวที่สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง นอกจากนั้นเราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ตามลำพัง

มีปัญหามากมายที่ต้องการการแก้ไขที่หลากหลาย เรามาลองศึกษาสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาว่าเขาแก้ไขปัญหาเชิงระบบอย่างไร

กรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกา สภาวะไร้บ้านและความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัยของเยาวชนเควียร์

 ผลวิจัยความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับสภาวะอะไรบ้านในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2021 เผยว่า ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา เรื่องเล่าในกระแสหลักเกี่ยวกับประเด็นนี้จะกล่าวโทษคนไร้บ้านว่า เป็นความล้มเหลวส่วนบุคคลที่พวกเขาไม่สามารถมีบ้านได้ และการหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล แต่ในความเป็นจริง ปัญหาไร้บ้านมีสาเหตุเชิงโครงสร้างที่มาจากหลายปัจจัย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร True Colors United ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือคนไร้บ้านชาว LGBTQ+ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีเรื่องเล่าใดเรื่องเล่าเดียวที่สามารถครอบคลุมสาเหตุและประสบการณ์การไร้บ้านได้ทั้งหมด เช่น แม้จะเชื่อกันทั่วไปว่าการถูกครอบครัวทิ้งเป็นสาเหตุหลักที่เยาวชนชาว LGBTQ+ ไร้บ้าน แต่จริงๆ แล้วมีปัจจัยระดับใหญ่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยเยาวชนชาว LGBTQ+ มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงประเภทอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีตั้งแต่

  • การพัฒนาพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (Gentrification), โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนรายได้ต่ำ ร่วมกับการขาดการเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงและนโยบายที่เกี่ยวกับการเช่า (เช่น การควบคุมอัตราการเช่า)
  • การเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ ซึ่งคุกคามทุกด้านของการใช้ชีวิต
  • ระบบการอุปถัมภ์ดูแลที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งมักส่งผลให้ผู้เยาว์ ต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติเชิงระบบ การละเมิดสิทธิ์จากสถานสงเคราะห์ การเลือกปฏิบัติตามความเชื่อ หรือบ้านอุปถัมภ์ที่ไม่ยอมรับอัตลักษณ์ความหลากหลาย ทำให้ผู้เยาว์ขาดที่พักอาศัยระยะยาวในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคง
  • ระบบกฎหมายเยาวชน ที่มุ่งลงโทษและกักขังแทนที่จะใช้เวลาทำความเข้าใจ “ความผิดลหุโทษของวัยรุ่น” ที่ต้นเหตุหรือคิดทบทวนถึงกฎหมายที่ทำให้ความยากจนและการกระทำเพื่อเอาชีวิตให้รอดถือเป็นความผิดอาญา นอกจากนี้ตราบาปจากการต้องโทษกักขัง ยังเป็นปัจจัยที่ขัดขวางโอกาสในการกลับคืนสู่สังคม
  • ระบบตรวจคนเข้าเมือง ที่ทำให้ผู้เยาว์ที่ไม่มีเอกสารอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงไม่แน่นอน
  • ขาดการสนับสนุนทางจิตวิทยาและสิ่งของ จากหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อวัยเด็กและวัยรุ่น เช่น โรงเรียน

เราจะเห็นว่าสถานการณ์ที่บุคคลเผชิญอยู่นั้นสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงความท้าทายและจุดงัดคานอีกมากมายที่ต้องเข้า ไปจัดการ แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใครหรือองค์กรใดจะทำสำเร็จได้ตามลำพัง

เปลี่ยนระบบด้วยการร่วมกำลังและการแก้ไขปัญหาแบบไดนามิก

สำหรับจอส โคลเชสเตอร์ สมาชิกของ System Innovation Network ระบุว่า ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ต้องใช้ “วิธีการแบบระบบนิเวศ” หรือการใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรมที่ออกแบบผ่านความร่วมมือ การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องที่ผ่านเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาเริ่มแยกความหมายของคำๆนี้กัน

นวัตกรรมในที่นี้หมายถึงกระบวนการที่ช่วยให้ผู้คนบรรลุจุดหมายของพวกเขาโดยท้าทายวิธีการคิดและทำงานแบบดั้งเดิม นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าหรืองบโครงการก้อนใหญ่ สิ่งที่คุณต้องทำคือใช้ไหวพริบ เปิดใจกว้าง คิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา – คอยตรวจสอบหาข้อบกพร่องในวิธีการที่มีอยู่ และมองหาความเป็นไปได้และโอกาสใหม่ด้วยสายตาที่สดใสอยู่เสมอ

เมื่อต้องจัดการกับประเด็นที่ซับซ้อนอย่างคนไร้บ้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย รวมทั้งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย – ตั้งแต่ผู้ให้บริการสังคม ผู้ร่างกฎหมาย ไปจนถึงบุคลากรโรงเรียน – การที่คุณใช้นวัตกรรมเพียงฝ่ายเดียวนั้นย่อมไม่เพียงพอ นวัตกรรมที่คุณออกแบบอาจจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาใหญ่ๆ ได้ครบถ้วน และอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ตอบโจทย์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กว่าคุณจะปรับปรุงวิธีการจนกระทั่งสมบูรณ์แบบ สถานการณ์ก็อาจจะพัฒนาไปอย่างไม่สามารถคาดเดาได้และอาจจะกลายเป็นสถานการณ์ที่เกินแก้ไข

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตกหลุมพรางของ “การแข่งกันแก้ปัญหาแบบแยกส่วน” หรือสถานการณ์ที่แต่ละองค์กรพยายามแก้ไขปัญหาเดียวกันโดยแต่ละองค์กรแยกกันทำ โคลเชสเตอร์เสนอแนวทางที่มีรากฐานจากการทำงานร่วมกันอย่างระบบนั่นคือ “ระบบนิเวศนวัตกรรม” แนวทางนี้หมายถึงเครือข่ายของบุคคลและองค์กรที่ตกลงกันสร้างแพลตฟอร์มโครงสร้างสำหรับแบ่งปันทรัพยากรและความรู้ เพื่อร่วมกันสร้างและขยายขีดความสามารถในการจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อน สิ่งที่เครือข่ายนี้ผลิตไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่นิ่งตายตัวและเด็ดขาด แต่เป็นกระบวนการแก้ปัญหาแบบไดนามิกที่พัฒนาต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ เพื่อให้ตามปัญหาในระยะใหม่ได้ทัน ชุมชนจะป้อนกระแสไอเดียเข้าสู่ระบบนิเวศนวัตกรรมโดยไม่กำหนดจุดสิ้นสุด

หากต้องการสร้างระบบนวัตกรรมของคุณเอง คุณสามารถเริ่มต้นได้โดยตอบคำถามที่โคลเชสเตอร์แนะนำต่อไปนี้…

จำเป็นต้องมีระบบนิเวศนวัตกรรมหรือไม่

1.     หากเป้าหมายคือการแก้ไขปัญหาที่เฉพาะเจาะจงและไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง คำตอบคือไม่ เก็บทรัพยากรของคุณไว้สำหรับภารกิจอื่นๆ ดีกว่า
2.     หากเป้าหมายคือการเปลี่ยนระบบใหญ่โดยเข้าไปจัดการถึงราก คำตอบคือใช่
 

วัตถุประสงค์ของระบบนิเวศนวัตกรรม

 

1.     คุณมีจุดมุ่งหมายอะไร?

2.     เรื่องเล่าที่อธิบายถึงความท้าทายของคุณรวมทั้งความจำเป็นของระบบนิเวศนวัตกรรม จะเป็นอย่างไร?

3.     ข้อความกลยุทธ์ของคุณจะมีลักษณะอย่างไร?

 ข้อท้าทาย

1.     คุณสามารถสร้างแผนผังกำหนดจุดงัดคานสำคัญและปัจจัยที่มีผลต่อความท้าทายได้หรือไม่?

2.     เป้าหมายที่สามารถบรรลุได้ง่าย อยู่ตรงไหนบนแผนผัง

ผู้เล่น

1.     คุณสามารถสร้างแผนผังกำหนดตัวผู้เล่นสำคัญได้หรือไม่?

2.     คุณจะดึงพวกเขามาร่วมอย่างไร?

3.     กิจกรรมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ เสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันและการสร้างสรรค์ร่วมกันคืออะไร?

แพลตฟอร์ม

1.     แพลตฟอร์มจะมีหน้าตาลักษณะอย่างไร?

2.     จะประเมินผลลัพธ์และการพัฒนางานของเราอย่างไร?

แหล่งที่มา: Systems Innovation Network

แปลและเรียบเรียงโดย: Thailand Policy Lab

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top