บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 25.01.2023

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เป็นหนึ่งในวลีทองของอัจฉริยะคนหนึ่งของโลกที่ชื่อว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แน่นอนว่าทั้งสองสิ่งนี้สำคัญกันทั้งคู่ แต่สิ่งที่ทำให้จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ น่าจะเป็นเพราะความรู้เป็นเหมือนพื้นฐาน เป็นปัจจุบัน แต่สิ่งที่จะเป็นตัวผลักดันความรู้ให้ก้าวข้ามสิ่งเดิมๆ ต่อยอด สร้างสรรค์ไปให้เกิดสิ่งใหม่ในอนาคต ก็คือจินตนาการ หรือเราอาจจะพูดได้ว่า “จินตนาการต่อยอดความรู้” นั่นเอง

ถ้ามนุษย์เราไม่มีจินตนาการว่าเราสามารถที่จะอยู่ในโลกที่พาเราบินไปบนฟ้าได้แม้เราจะไม่มีปีก ทุกวันนี้เราก็คงไม่มีเครื่องบินพาเราบินไปไหนมาไหน หรือถ้าไม่มีจินตนาการว่าเราจะสามารถพูดคุยกับคนที่อยู่ห่างไกลได้ เราก็คงไม่มีโทรศัพท์ใช้อย่างทุกวันนี้ พอลองมาคิดๆ ดูแล้วสิ่งใหม่ๆ ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ก็ล้วนเริ่มมาจากจินตนาการทั้งนั้น

แล้วถ้าเราลองเอาจินตนาการมาจับกับการออกแบบนโยบายบ้างล่ะ? เราอาจเริ่มได้จากการขยายขอบเขตของจินตนาการทางกระบวนการคิด และกระบวนการออกแบบนโยบายกันก่อน 

เพราะบ่อยครั้งเวลาเราพูดถึงนโยบาย เราอาจจะคิดว่าช่างเป็นเรื่องที่ยาก เป็นทางการ ต้องอ่านแต่หนังสือ งานวิจัยทางวิชาการถึงจะคิดได้ แต่จริงๆแล้วนโยบายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคน โดยแรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นของมันก็มาจากความคิดและจินตนาการของคนนี่เอง 

บทความนี้จะพาทุกคนไปสำรวจจินตนาการทางกระบวนการคิดอันหลากหลายของมนุษย์กัน

จินตนาการต่อยอดความรู้

ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ สิ่งที่ทำให้เราโดดเด่นขึ้นมาจากสัตว์ชนิดอื่นๆก็เห็นจะเป็นในด้าน “ความคิด” ที่ดูจะไร้ขอบเขต ที่ผ่านมามีความพยายามในการศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการคิดของมนุษย์ว่าทำงานอย่างไร ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย แต่สิ่งที่เป็นประจักษ์คือกระบวนการคิดของมนุษย์นั้นซับซ้อน

โดยในบทความนี้ เราจะยกการวิเคราะห์รูปแบบของกระบวนการคิดของไรด์ดิ้ง (Riding’s Cognitive Style Analysis) ที่ชี้ให้เห็นความหลากหลายของกระบวนการคิดของผู้คน เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ในการขยายขอบเขตจินตนาการของเราได้

การวิเคราะห์รูปแบบของกระบวนการคิดของไรด์ดิ้ง แบ่งแกนการวิเคราะห์ออกเป็น 2 แกน ได้แก่: 

ภาพรวม-ภาพย่อย (Wholistic-Analytical):

แกนนี้จะดูว่าผู้รับข้อมูลจะจัดการและเรียบเรียงข้อมูลอย่างไร โดยคนที่มองแบบเป็นภาพรวม (Wholists) จะมองข้อมูลในภาพรวมแล้วค่อยแตกย่อยลงไปที่ภาคส่วนย่อยต่างๆ จากนั้นจะจัดระเบียบข้อมูลแบบองค์รวมอย่างหลวมๆ

ส่วนคนที่มองแบบภาพย่อย (Analysts) จะมองข้อมูลเป็นภาคส่วนย่อยๆ และประกอบขึ้นเป็นภาพใหญ่ โดยมักจะเน้นไปที่บางส่วนเป็นพิเศษ โดยจะจัดระเบียบข้อมูลแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน

คำพูด-รูปภาพ (Verbal-Imagery):

แกนนี้จะเน้นไปที่วิธีการคิด วิธีการประมวล และวิธีการจดจำข้อมูลของแต่ละคน โดยคนที่คิดเป็นคำพูด (Verbals) จะเห็นข้อมูลและคิดเป็นคำพูด ซึ่งอาจเป็นรูปแบบการพูดหรือเขียนก็ได้ ส่วนคนที่คิดเป็นรูปภาพ (Imagers) จะเห็นและคิดเป็นรูปภาพ ไม่ว่าจะเป็นแบบกราฟฟิค รูปถ่าย หรือรูปวาด

จะเห็นได้ว่ากระบวนการคิดและกระบวนการประมวลข้อมูลของมนุษย์นั้นหลากหลาย ซึ่งนักออกแบบนโยบายสามารถนำไปปรับใช้เพื่อขยายจินตนาการของการเก็บข้อมูลและการออกแบบนโยบายได้ไม่ยาก เช่น

วิธีการวางกรอบเรื่องราว สามารถใช้แกนภาพรวม-ภาพย่อย (Wholistic-Analytical) เข้ามาช่วยในการจำแนกเรื่องว่าเป็นภาพรวมหรือภาพย่อย เพื่อใช้ออกแบบการตั้งคำถาม หรือวิธีการเก็บข้อมูลได้อย่างสร้างสรรค์และตอบโจทย์ได้

  • ถ้าเป็นเรื่องที่กว้าง เช่น การพัฒนาเมืองทั้งเมือง ก็จะต้องวางกรอบแบบภาพรวม โดยอาจถามถึงเมืองในฝันของคนว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ให้จินตนาการกันได้เต็มที่ แล้วนำความฝันของคนนั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่ ตามเรื่องที่ต้องพัฒนาต่ออีกขั้นหนึ่ง  
  • ถ้าเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจง เช่น การแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขของเมือง ก็อาจถามถึงปัญหาหลักที่ประชาชนพบเจอ และต้องการให้แก้โดยด่วนที่สุด ซึ่งสามารถนำปัญหาที่ดูเหมือนเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วไม่เล็กเหล่านี้มาขยายภาพให้เห็นถึงภาพที่ใหญ่ขึ้นต่อไปได้เช่นกัน

วิธีการสร้างสรรค์การระดมความคิด สามารถใช้แกนคำพูด-รูปภาพ (Verbal-Imagery) เข้ามาใช้ได้ เพื่อให้เกิดจินตนาการ ความสร้างสรรค์ และความสนุกสนานให้กับการเก็บข้อมูล และการระดมความคิดได้ 

  • หากใช้หลักคำพูด (Verbal) เข้าจับ อาจจะเป็นกิจกรรมให้ระดมเป็นคำศัพท์ เช่น ขอคำจำกัดความเมืองในฝันใน 3 คำ หรือให้เขียนคำที่อธิบายเมืองในฝันให้ได้มากที่สุดภายในเวลา 1 นาที หรืออาจเป็นการจับกลุ่มแล้วพูดคุยถึงปัญหา หรืออาจจะให้แต่งเรื่องก็ยังได้ ตามแต่จะจินตนาการได้
  • หากใช้หลักรูปภาพ (Imagery) สามารถที่จะทำผ่านรูปได้ เช่น ให้วาดภาพ หรือนำรูปที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องหรือปัญหามาจัดวางทำเป็นกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้คนร่วมเสนอไอเดียได้ 
Mix & Match ผสมผสานและสร้างสรรค์

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วสามารถนำไปผสมผสาน สร้างสรรค์วิธีการหรือแกนคิดมากกว่า 1 วิธีเข้าไปก็ย่อมได้ ขอเพียงเรารับรู้ถึงพลังของจินตนาการของมนุษย์และพร้อมจะลองใช้มัน ซึ่งอาจจะสามารถดึงเราออกจากกรอบคิด หรือภาพจำการออกแบบนโยบายแบบเดิมๆ และเพิ่มเติมความสนุกและความสดใหม่เข้าไป ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์และดีขึ้นได้เช่นกัน

Sources:
https://tracyharringtonatkinson.com/riding-cognitive-styles-analysis/
https://www.researchgate.net/figure/Scheme-of-main-dimensions-of-cognitive-styles-adjusted-according-to-Riding_fig3_281101516
https://www.researchgate.net/publication/268285461_An_Assessment_of_Human
_Factors_in_Adaptive_Hypermedia_Environments

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top