บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 25.04.2023

“หากไม่เคยผิดพลาด ก็หมายความว่าเราไม่เคยทำอะไรเลย”

ประโยคข้างต้นเป็นคำกล่าวที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง การยอมรับความผิดพลาดดูจะเป็นเรื่องง่าย เพราะอย่างน้อยการได้พยายามและทำพลาดไป ก็หมายความว่าเราได้เรียนรู้และมีโอกาสพัฒนาให้ดีกว่าเดิมในโอกาสต่อไป แต่บางครั้งวัฒนธรรมมนุษย์อาจไม่เคยชินกับการทำผิดพลาด โดยเฉพาะวัฒนธรรมในสังคมไทย ที่บางครั้งเราก็ยังโบยตีตัวเองจากความผิดพลาด 

นี่คือเหตุผลที่ ‘growth mindset’ เป็นสิ่งสำคัญ

Growth mindset หรือ ทัศนคติแห่งการเติบโต คือแนวคิดที่ว่าความฉลาดและความสามารถของเราเป็นทักษะที่พัฒนาได้อยู่เสมอ ตรงกันข้ามกับ Fixed mindset หรือ ทัศนคติแบบตายตัว ซึ่งคือแนวคิดที่ว่าความสามารถหรือศักยภาพเป็นสิ่งที่ติดตัวมา ไม่สามารถเรียนรู้หรือพัฒนาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนที่มี growth minset จะพร้อมเรียนรู้ แต่คนที่มี fixed mindset จะทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว

Carol Dweck นักจิตวิทยาชาวอเมริกันซึ่งสอนอยู่ที่ Stanford University ผู้เป็นคนคิดค้นคำว่า growth/fixed mindset เธอเล่าถึงกรณีศึกษาที่โรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งที่ชิคาโกว่า เมื่อนักเรียนต้องสอบให้ผ่านเพื่อจบชั้นมัธยมปลาย แทนที่จะแบ่งเกรดเป็นสอบผ่านหรือไม่ผ่าน หรือเกรด A-F  โรงเรียนกลับให้เกรดนักเรียนที่ยังสอบไม่ผ่านว่า “ยังก่อนนะ” (Not Yet) ผลลัพธ์ของการให้เกรดแบบ 

‘ยังก่อนนะ’ ก็คือ นักเรียนไม่เอาคุณค่าของตนเองไปผูกติดอยู่กับเกรด ไม่มองว่าความสามารถหรือความฉลาดเป็นสิ่งตายตัว คำว่า “ยังก่อน” กระตุ้นให้นักเรียนมองว่าการสอบผ่านเป็นกระบวนการเรียนรู้ คำว่ายังก่อนหมายความว่าเราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ในอนาคต นักเรียนจึงเรียนรู้ด้วยทัศนคติเชิงบวกหรือ growth mindset ผลลัพธ์การเรียนของนักเรียนจึงดีขึ้นไปโดยปริยาย 

ทัศนคติแบบ growth หรือ fixed mindset ส่งผลตามมาหลายอย่าง ลองนึกตามว่าเรามีปฏิกิริยาอย่างไรในสถานการณ์ต่อไปนี้ 

Q: เราเป็นหัวหน้าทีม และต้องตัดสินใจเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ เราจะ…

A1) สั่งให้คนในทีมไปทำงานตามคำสั่งของเรา ไม่พยายามรับฟังความเห็นของคนในทีม

A2) แบ่งปันกับคนในทีมว่าโปรเจกต์นี้อยู่นอกเหนือความเชี่ยวชาญของเรา เราจึงจะต้องขอความเห็นและความเชี่ยวชาญของคนอื่นๆ ในทีม เพื่อให้ตัดสินใจออกมาได้ดีที่สุด

ในสถานการณ์ข้างต้น หัวหน้าทีมที่ตอบข้อ A1 กับหัวหน้าทีมที่ตอบข้อ A2 มีทัศนคติที่แตกต่างกัน และเป็นผู้นำในแบบที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน เราสามารถกล่าวได้ว่าหัวหน้าแบบข้อแรก คือผู้นำที่มี fixed mindset ผู้นำเช่นนี้มองว่าเพราะพวกเขาเป็นผู้นำ ดังนั้นจึงต้องแสดงความเก่งกาจสามารถและความเชี่ยวชาญออกมาเสมอ ดังนั้นเมื่อเจอกับโจทย์ที่ตนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ จึงไม่กล้าที่จะยอมรับว่าตนไม่รู้ ไม่มีทักษะเพียงพอ เพราะมองว่าหากยอมรับเช่นนั้นจะแปลว่าตนเป็นคนที่ไม่เก่งและไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งหัวหน้า กลับกัน หัวหน้าทีมในแบบที่สอง คือหัวหน้าทีมที่มี growth mindset คือมองว่าเป็นเรื่องปกติที่คนเราต้องพัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงไม่กลัวที่จะยอมรับว่าตนขาดความเชี่ยวชาญในโปรเจกต์ดังกล่าว และต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งทัศนคติเช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะไม่ฝืนทำในสิ่งที่ตนไม่รู้ และเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เพื่อปรับตัวไปตามสถานการณ์

ต้องยอมที่จะเจ็บปวด จึงจะเติบโต

แต่ทำไมคนบางคนถึงมี growth mindset และบางคนถึงไม่มีกันนะ? อะไรคือสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่าง fixed และ growth mindset? ในหนังสือ Daring Greatly: How the Courage to Be Vulnerable Transforms the Way We Live, Love, Parent, and Lead Casandra Brené Brown ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันซึ่งเชี่ยวชาญงานวิจัยด้านความเป็นผู้นำและความอ่อนไหว กล่าวว่า

“Vulnerability is the core of shame and fear and our struggle for worthiness but it is also the birthplace of joy and creativity, of belonging, and of love.” 

[ความอ่อนไหวคือแก่นของความอับอาย ความกลัว และการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการได้รับความยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันความอ่อนไหวก็คือจุดกำเนิดของความรื่นรมย์ การมีที่ทางของตัวเอง และความรัก]

แท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นรากฐานของ growth mindset ก็คือการยอมรับ “ความอ่อนไหว” (vulnerabilities) เพราะคนเราจะเติบโตได้ก็ต่อเมื่อเราโอบรับความผิดพลาดของตัวเอง นั่นหมายถึงการยอมรับส่วนที่อ่อนไหวที่สุดในตัวเรา ว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งไปเสียหมดทุกเรื่อง เราไม่ได้รู้ทุกอย่าง และไม่มีทางที่เราจะทำถูกอยู่เสมอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเติบโตและเรียนรู้จากความผิดพลาด ยืดอกรับผิด ยอมเจ็บปวดจากความผิดพลาด เติบโต และก้าวเดินต่อไป 

เป็นนักนโยบายที่อ่อนไหวและกล้าหาญ

Growth mindset เป็นทัศนคติที่สำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนที่อยากจะเติบโต และสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับนักนโยบาย นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ หลายครั้งเราไม่ได้มีคำตอบที่ดีที่สุดให้แก่สังคม แต่นี่คือช่องว่างให้เราเติมเต็ม Growth mindset เพราะเมื่อเรายอมรับว่าเราไม่ได้เก่งที่สุด ไม่ได้รู้ดีไปหมดทุกอย่าง เราก็จะคิดรอบด้านขึ้นและวางความมั่นใจ (ที่เกินเหตุ) ลง เราจะ “กล้า” ที่จะไม่รู้ เราจะพยายามเข้าหาผู้คนที่หลากหลาย เปิดพื้นที่ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการออกนโยบาย วิธีการเช่นนี้เท่านั้น ที่เราจะได้เติบโตและเรียนรู้ร่วมกันในฐานะสังคม ทัศนคติ growth mindset ที่ยอมรับความอ่อนไหวคือการออกแบบนโยบายที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

“Vulnerability sounds like truth and feels like courage.” – Brené Brown 

“ความอ่อนไหวฟังดูเหมือนความจริง และรู้สึกเหมือนความกล้าหาญ” – Brené Brown 

ที่มา:

https://www.amazon.com/Daring-Greatly-Courage-Vulnerable-Transforms/dp/1592407331

https://fs.blog/carol-dweck-mindset/

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top