Key Insights
- ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนามากว่า 30 ปีแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราหลุดจากสถานะเดิมได้ คือการนำระบบดิจิทัลมาปฏิรูปการทำงานของราชการทั้งระบบ
- ชวนดูโมเดลจากประเทศเล็กๆ แต่ทรงอำนาจอย่างเอสโตเนีย และประเทศผ่านสงครามอย่างเกาหลีใต้ ที่ใช้นโยบายดิจิทัลปฏิรูปประเทศจนพัฒนาอย่างยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้
ธนาคารโลกจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่ม ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยวัดจากรายได้ของประชากรและความพร้อมในด้านต่างๆ บรรยากาศในตอนนั้นเต็มไปด้วยความหวังเพราะประเทศไทยมีฉายา ‘เสือตัวที่ 5’ ไว้เป็นเครื่องการันตีว่ากำลังจะผงาดทัดเทียมประเทศอื่นในไม่ช้า… ผ่านมา 30 กว่าปี เมืองไทยยังคงสถานะประเทศกำลังพัฒนาเหมือนเดิม แม้โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างพัฒนาดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน
ก่อนหน้าที่วิกฤตการณ์โควิด-19 จะมาเยือน หลายประเทศพยายามปรับปรุงโครงสร้างเพื่อสอดรับกับวิถีชีวิตในยุคใหม่ที่กำลังมาถึง ต้องยอมรับว่าศตวรรษที่ 21 คือยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ คนรุ่นก่อนที่เคยปฏิเสธความทันสมัยและกลัวเทคโนโลยีกลับใช้อุปกรณ์สื่อสารได้คล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น เยาวชนที่เกิดหลังปี ค.ศ. 2000 มีสำนึกที่เปลี่ยนไป พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงประชาชนในประเทศเท่านั้น แต่ปักหมุดเอาไว้ว่าตัวเองเป็นพลเมืองโลกที่ต่อไปนี้จะไม่มีอะไรมาขวางกั้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและวิทยาการอีกต่อไปแล้ว
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่รุดหน้าขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการใ่ช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดราวกับมีปาฏิหาริย์

มหัศจรรยแห่งเอสโตเนีย กับ 20 ปีของความมุ่งมั่นในการสร้างชีวิตทุกคนให้ดีขึ้น
เวลามีคนพูดว่าทุกอย่างจะเจริญขึ้นในอีก 20 ปี หากถ้าทำเช่นนั้นหรือเช่นนี้ วาทกรรมนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการเคลมโดยไร้เหตุผล เพราะตัวเลข 20 ปีมีความหมายกว่าที่คิด เพราะ 20 ปีนั้นหมายถึงพลเมืองอีกหนึ่งเจเนเรชั่นที่จะโตมาพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐเริ่มสร้างไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เป็นเรื่องปกติที่การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ระยะไม่น้อย เพราะบางครั้งความเปลี่ยนแปลงไปกระทบกับวิถีชีวิตเดิม หรืออุปนิสัยของมนุษย์ที่ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยน จนบางครั้งเกิดข้อถกเถียง และการประท้วงขึ้นในหลายประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า หากสื่อสารได้อย่างถูกต้องและเป็นขั้นตอน ก็จะลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นได้
‘เอสโตเนีย’ เป็นประเทศเล็กๆ ที่อยู่ในทวีปยุโรปเหนือ อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และเพิ่งได้รับเอกราชมาเมื่อปี 1991 หรือ 30 ปีที่แล้ว (ยุคเดียวกับที่เมืองไทยเริ่มเป็นประเทศกำลังพัฒนา) ในปีนั้น รายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 3,435 เหรียญสหรัฐ ซึ่งไปในปัจจุบันทะยานไปถึง 23,723 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 7 เท่าในช่วง 30 ปีนี้ ขณะที่ประเทศไทยทำได้ 4.5 เท่า ในตอนนั้นรัฐบาลเอสโตเนียตระหนักดีกว่าประเทศตั้งใหม่ของพวกเขาเสียเปรียบในทุกด้าน ทั้งสภาพสังคมที่เพิ่งจะแพ้สงครามเย็นที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน แถมทรัพยากรธรรมชาติก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนประเทศรัสเซีย 5 ปีหลังจากแยกประเทศ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดเช่นนี้ พวกเขาจึงตั้งธงดำเนินนโยบายเรื่องดิจิทัลซึ่งถือว่าล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างพร้อมเพรียงกัน ก่อนโลกจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ทุกโรงเรียนในประเทศเอสโตเนียจึงมีอินเตอร์เน็ตใช้ และมีการลงทุนสร้างโครงข่ายออนไลน์ทั้งประเทศ
บาดแผลแห่งความพ่ายแพ้และความยากลำบากคือประสบการณ์ชิ้นสำคัญ ตอนนี้ประเทศเอสโตเนียไม่ได้มีปืนหรือยุทโธปกรณ์เป็นอาวุธ อาวุธของพวกเขาคือเทคโนโลยี แต่การจะพลิกโฉมประเทศสู่การเป็นประเทศดิจิทัลได้ มีเพียงเทคโนโลยีย่อมไม่เพียงพอ เอสโตเนียตระหนักดีว่า พวกเขาต้องฝึกฝนให้พลเมืองใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างเท่าเทียมและเท่าทันกันและกัน โปรเจกต์ที่ริเริ่มพร้อมกันจึงคือการสอนการใช้คอมพิวเตอร์ฟรีให้กับผู้ใหญ่ และบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาให้เด็กเริ่มเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 7 ขวบ ทั้งหมดนี้เพื่อ ‘ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล’ ซึ่งในปี ค.ศ. 2016 ประชาชนร้อยละ 91.4 สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างถ้วนหน้า
ทั้งหมดที่เล่าไปเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเพื่อวางรากฐานแห่งการพัฒนาเท่านั้น เพราะจุดเปลี่ยนที่แท้จริงเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2007 ระบบอินเตอร์เน็ตของประเทศเอสโตเนียถูกโจมตีจากผู้ไม่หวังดี ทำให้ระบบการสื่อสารล่มเกือบทั้งประเทศ พวกเขาใช้จุดอ่อนนี้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองมีมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ที่ชาวเอสโตเนียเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งก่อนใคร
รัฐบาลเอสโตเนียพัฒนาโครงการ X-Road ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานรัฐกว่า 1,000 ระบบเข้าด้วยกัน ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ประชาชนทุกคนมีหน้าที่เติมข้อมูลส่วนตัวลงไปในระบบเพื่อย้ายที่เก็บจากกระดาษและแฟ้มจำนวนมหาศาล ให้ลอยอยู่ในอากาศแบบที่จะเข้าไปดูอีกทีเมื่อไหร่ก็ได้ ในระบบนี้ พวกเขาสามารถจ่ายภาษี เปิดบัญชีธนาคาร ขอทุนการศึกษา แจ้งเกิด ซื้อรถ หรือแม้กระทั่งเลือกตั้งได้ผ่านเครื่องมือสื่อสารโดยไม่ต้องเสียเวลาเคลื่อนย้ายตัวเองไปตามที่ต่างๆ อีกต่อไปแล้ว
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ประเทศเอสโตเนียสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นจากงานบริการของรัฐ ลดเวลาในการดำเนินการต่างๆ และทำให้พลเมืองในประเทศตัวเองประหยัดค่าเดินทางไปดำเนินการเรื่องเหล่านี้ด้วย พวกเขามีค่าเฉลี่ยการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เป็นอันดับ 3 จาก 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคยุโรป รวมทั้งเป็นประเทศที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สูงสุดในภูมิภาค เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสูง โดยประชาชนในเอสโตเนียได้รับความสะดวกสบายจากการบริการของภาครัฐในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้บริการครอบคลุม
รู้ไหมว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญสุดที่พาให้ประเทศเอสโตเนียมาถึงตรงนี้ได้?
คำตอบก็คือ ‘ความโปร่งใสและความเชื่อใจในรัฐบาลของตัวเอง’
เมื่อประวัติส่วนตัวของทุกคนอยู่ในอินเตอร์เน็ต รัฐต้องหามาตรการมาการันตีว่าจะมีระบบความปลอดภัยที่ดีพอเพื่อไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลออกมา ประชาชนต้องไว้วางใจผู้นำของตัวเองมากๆ ว่าจะไม่มีผลประโยชน์ใดแอบซ่อนไว้ข้างหลัง ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างของภาครัฐได้ แม้กระทั่งคำตัดสินของศาล หรือสำนวนคดีของตำรวจ ทุกคนก็มีสิทธิเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องได้ และหากมีความพยายามในการล็อกอินเข้าไปดูข้อมูลรายบุคคล ระบบก็จะทำการเตือนคนนั้นทันที เว้นแต่ว่าได้รับการอนุญาต เช่น เภสัชกรเข้าไปดูประวัติการแพ้ยา หรือหมอเข้าไปดูประวัติการรักษาที่ผ่านมา
ที่เอสโตเนียยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ประชาชนรวมตัวกันยื่นต่อรัฐสภาผ่านการโหวตทางออนไลน์ ไม่ต้องเสียงบประมาณลงประชามติในคูหา ไม่ต้องต้องเสียเวลาถ่ายสำเนาบัตรประชาชนพร้อมเซ็นชื่อเพื่อใช้เป็นหลักฐานอีกต่อไป มีแค่บางประเทศที่ใช้ความล่าช้านี้เป็นช่องว่างในการคอรัปชั่นถึงไม่อยากเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ถึงตรงนี้บางคนอาจคิดว่า ไทยไม่สามารถเทียบกับเอสโตเนียได้ เพราะมีประชากรที่มากกว่า และมีบริบททางการเมืองที่ต่างกัน ถ้าอย่างนั้นลองมาดูอีกหนึ่งประเทศในทวีปเดียวกัน ที่เจริญเติบโตได้เพราะหลุดพ้นห่วงโซ่แห่งอำนาจนิยมมาแล้ว
40 ปีของการรอคอย สู่ระบบ E-Government ที่ 2 ของโลก!
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีถูกฉีกออกเป็น 2 ท่อนในเกมสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ประชาชนชาวเกาหลีใต้ต้องต่อสู่กับรัฐบาลทหารเผด็จการมายาวนานกว่า 40 ปี เปลี่ยนรัฐธรรมนูญไปถึง 6 ฉบับ ถึงจะเข้าสู่บรรยากาศประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หากวันนี้เรามองไปยังประเทศเกาหลีใต้ ก็จะเป็นพบว่าพวกเขาขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และส่งออกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไปทั่วโลกได้สำเร็จ รู้ไหมว่าเกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปลี่ยนการบริหารงานแบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล จนทำให้ค่าเฉลี่ยการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นที่หนึ่งในเอเชีย สูงกว่าประเทศเอสโตเนีย เป็นรองแค่ประเทศสวีเดนเท่านั้น
แม้การตื่นตัวทางด้านคอมพิวเตอร์ของประเทศเกาหลีใต้จะเริ่มมีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกในตอนนั้นคือความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจแบบ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ นายทุนเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร ส่วนนักการเมืองก็ต่อยอดความรวยของตัวเองแบบไม่แบ่งใครเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากหลักประชาธิปไตยเพราะเชื่อว่าประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และได้ส่วนแบ่งที่เท่าเทียมกันผ่านระบบรัฐสวัสดิการ
หลังสิ้นสุดระบอบทหาร รัฐบาลเกาหลีใต้สร้างโร้ดแมปในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารประเทศออกอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการนำข้อมูลของแต่ละกระทรวงเข้าระบบดิจิทัล ตามด้วยการพัฒนาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ต่อด้วยเชื่อมโยงข้อมูลทุกกระทรวงเข้าด้วยกัน และสร้างความโปร่งใสในการทำงานเพื่อให้ประชาชนทุกคนไว้วางใจในระบบที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาเดินทางมายาวนานกว่า 50 ปี แรงผลักดันหลักอาจมีส่วนคล้ายประเทศเอสโตเนีย คือเป็นประเทศแพ้สงครามที่โดนช่วงชิงทรัพยากรไปจนแทบไม่เหลืออะไรไว้ให้ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เกาหลีใต้กลับมาเข้มแข็งพอที่จะใช้ต่อรองกับประเทศมหาอำนาจอื่นได้
เมื่อมีความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบนโยบาย รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะดำเนินระบบ E-Government ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 โดยเริ่มสร้างโฮมเพจหน่วยงานรัฐเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น และมีโร้ดแมปออกมาอย่างชัดเจนในปี ค.ศ. 2003
ปัจจุบันเกาหลีใต้มีโปรเจ็คท์ KONEPS ที่เอาไว้อำนวยความสะดวกประชาชน โดยรวมบริการที่สำคัญของรัฐไว้ในที่เดียว มีข้อมูลทางการไว้ให้พลเมืองได้ศึกษาและเข้าใจตรงกันเพื่อไม่ให้สับสน รวมทั้งยังมีช่องให้ประชาชนได้เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายและนโยบายของรัฐเพื่อปรับให้เข้ากับบริบทในปัจจุบัน การเชื่อมต่อยังรวมไปถึงหน่วยงานย่อยของรัฐซึ่งองค์กรท้องถิ่นสามารถส่งเรื่องร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่นอันซับซ้อนที่จะทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
การที่รัฐเป็นผู้เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยี ส่งผลให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเห็นตัวอย่างของระบบที่ลดขั้นตอนนี้ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้เอง และมั่นใจได้เลยว่ารัฐจะสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เพราะอยู่ในเป้าหมายเดียวกัน คือการทำให้ทุกอย่างอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

เมืองไทย ทำไม่ได้ หรือ ยังไม่ได้ทำ
ยังมีความเข้าใจผิดอีกมากสำหรับการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานในการทำงาน บางคนมองว่าแค่มีเว็บไซต์ ใช้อีเมลคุยงาน หรือประชุมกันทางออนไลน์ก็ดูทันสมัยกว่าเมื่อก่อนแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงระดับจุลภาคที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อภาพรวมของประเทศ
เหตุการณ์สถานการณ์โควิดก็ได้แสดงให้เราเห็นว่าเครื่องมือดิจิทัลสามารถนำมาใช้จัดการข้อมูลและแก้ปัญหาต่างๆได้ เพียงแต่ระบบนั้นจะต้องเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และต้องไม่ลืมว่าอินเตอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น นโยบายที่พร้อมจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนทั้งประเทศต่างหากคือหัวใจหลักในการพัฒนาระบบไปสู่สิ่งที่ดีที่สุด ความสำเร็จในต่างประเทศเป็นเพียงตัวอย่างเอาไว้ดูเพื่อปรับใช้แต่ไม่สามารถนำกระบวนการทั้งหมดมาได้ 100% เพราะแต่ละประเทศมีบริบทที่ต่างกัน ที่สำคัญคือมีความต้องการของประชาชนที่ต่างกันด้วย
มีวาทกรรมของความหวาดกลัวที่ว่า เมื่อมีระบบดิจิทัลเข้ามาแทนที่ จะทำให้คนจำนวนมากตกงาน แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ถ้าคิดในอีกมุมหนึ่ง การมีระบบดิจิทัลเข้ามาก็จะทำให้การทำงานที่ซ้ำซากจำเจหรืองานเอกสารง่ายขึ้น นั่นหมายความว่าผู้คนมีโอกาสในการทำงานอื่นที่สนุกและสร้างสรรค์มากขึ้น และจริงๆ แล้วการตกงานเพราะระบบดิจิทัลก็เป็นประเด็นที่รัฐต้องออกนโยบายมารองรับไม่ให้ใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นต่างหาก และหากพิจารณาให้ดีๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงก็คงไม่ได้เกิดขึ้นในพรุ่งนี้หรือปีหน้า หากให้เวลาสัก 10 ปีสำหรับประเทศไทย ถึงอย่างไรเราก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานบางอย่าง ให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

คุ้มค่าทางนโยบาย โปร่งใส และมีส่วนร่วม
ในภาพมหภาค หากนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงานของภาครัฐ ประเทศไทยจะประหยัดงบประมาณในเรื่องการจัดการได้เป็นจำนวนมาก และสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในส่วนอื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น พัฒนาระบบการศึกษาให้สามารถเข้าถึงได้ถ้วนหน้า และพัฒนาความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อให้กับทุกคน หรืออุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการก่อนวัยเรียน เตรียมพร้อมพลเมืองของประเทศตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งในงานวิจัยหลายชิ้นมีข้อสรุปตรงกันว่าคุ้มค่าในด้านนโยบายที่สุด
และไม่ใช่แค่ประหยัดงบ การปฏิรูประบบการทำงานของราชการให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น หมายความว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้มากขึ้น ลองจินตนาการดูสิว่า หากเว็บไซต์ของทุกหน่วยงานภาครัฐเข้าถึงง่าย มีข้อมูลงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างให้เราเข้าไปดูได้ การตรวจสอบการทำงานและความโปร่งใสของภาครัฐจะง่ายขึ้นแค่ไหนกัน
ไม่เพียงแค่นั้น ระบบดิจิทัลยังทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายได้ด้วย ในปัจจุบันรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกความเห็นและกำหนดนโยบาย ยกตัวอย่างเช่นเมืองมาดริด ประเทศสเปน ที่มีแพลตฟอร์มชื่อว่า Decide Madrid ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2015 ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือแม้แต่งบประมาณภาครัฐ แพลตฟอร์มนี้เป็นพื้นที่ให้ชาวมาดริดเข้ามาเสนอการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในโปรเจกต์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านยูโร ว่าควรใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังเป็นพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายและการดำเนินการต่างๆของภาครัฐ และภาครััฐก็เข้ามารับฟังโดยตรง
การเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) มีประโยชน์เหลือคณานับก็เพราะเช่นนี้ การทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สามารถออกความคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับกระบวนการทำงานของภาครัฐได้โดยตรง จะทำให้ภาครัฐสามารถรับฟังความเห็นของประชาชน และนำมาปรับใช้ในการออกนโยบายให้ตรงกับความต้องการของผู้คนได้ง่ายขึ้น และความโปร่งใสและสะดวกเช่นนี้ ก็ยังช่วยสร้างความใกล้ชิดและความเชื่อใจระหว่างภาครัฐกับประชาชนได้ด้วย
ลองคิดดูสิว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง
- ถ้าเงินช่วยเหลือจากรัฐเข้าบัญชีเราทันทีโดยไม่ต้องตื่นเช้ามาแย่งกันลงทะเบียน
- ถ้ามีแชทบ็อทคอยตอบคำถามคนตกงานว่าต้องทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตตัวเอง
- ถ้ามีการแจ้งเตือนให้ฉีดวัคซีนในหน่วยที่ใกล้ที่สุดแบบไม่ต้องไปยืนรอกันครึ่งวัน
- ถ้าขอข้อมูลจากหน่วยงานราชการได้โดยแค่ยืนยันตัวตนในสมาร์ทโฟน
- ถ้าความเจ็บปวดทุกครั้งมีข้อมูลส่งมาว่าอะไรคือผลประโยชน์สูงสุดที่เราควรได้รับ
- ถ้าเราสามารถรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้เพราะข้อมูลได้แชร์ไว้ร่วมกันแล้ว
- ถ้าประชาชนสามารถมีหน้าที่โหวตกฎหมายทุกฉบับโดยไม่ต้องผ่านระบบตัวแทน
- ถ้าอินเตอร์เน็ตครอบคลุมทั้งประเทศทำให้เด็กๆ เรียนออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินหาสัญญาณ
ถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ทำได้
การเปลี่ยนแปลงระบบดิจิทัลในเชิงโครงสร้างคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก แต่ถ้าใครอยากลองมีส่วนร่วมในการออกแบบหรือปรับเปลี่ยนนโยบายตอนนี้เลย เร็วๆนี้ Thailand Policy Lab กำลังจะมีแพลตฟอร์มนวัตกรรมนโยบาย (Virtual Policy Platform) ให้ประชาชนทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายในฐานะพลเมืองของประเทศคนหนึ่ง ไม่แน่ว่าความคิดของคุณอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคตก็ได้