บทความ , อินโฟกราฟิก / นวัตกรรมเชิงนโยบาย, เทคโนโลยี
Published: 07.03.2023

“เราต้องใช้เวลาอีก 136 ปี กว่าจะสามารถปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศได้” 

ความไม่เท่าเทียมทางเพศแฝงฝังอยู่ในทุกย่างก้าวของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการเมืองในรัฐสภา การศึกษา หรือโลกของการทำงาน แต่เคยคิดไหมว่าแม้แต่ “โลกดิจิทัล” ก็เป็นพื้นที่ของความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ใครเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้าง? ใครมีเงินไม่พอจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต? ใครมีหรือไม่มีสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าถึงแอปพลิเคชัน หรือข้อมูลที่ทันเหตุการณ์? ใครเข้าถึงข้อมูลความรู้ในโลกออนไลน์ได้บ้าง?

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงโลกดิจิทัล เพราะงานวิจัยแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า “ผู้หญิง” กว่าหลายพันล้านคนบนโลกใบนี้ ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะขาดปัจจัยในการเข้าถึงโลกออนไลน์

  • ผู้หญิงในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง มีแนวโน้มที่จะเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือน้อยกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 8 
  • ผู้หญิงกว่า 1.1 พันล้านคนทั่วโลกเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตมือถือ และเมื่อเทียบระหว่างชายหญิง ผู้หญิงราว 300 ล้านคนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้น้อยกว่าผู้ชาย 
  • ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางอยู่ โดยผู้หญิงมีแนวโน้มจะมีสมาร์ทโฟนน้อยกว่าผู้ชายร้อยละ 20 
  • ในโลกของการทำงาน ผู้หญิงเพียงร้อยละ 28 เท่านั้นที่ทำงานในวงการ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์)
  • ร้อยละ 38 ของผู้หญิงใน 51 ประเทศกล่าวว่าเคยพบเจอความรุนแรงในโลกออนไลน์

รายงานจาก UN Women บอกเราว่าประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง สูญเสีย GDP ราวหนึ่งล้านล้านดอลล่าร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพราะผู้หญิงถูกกีดกันจากโลกดิจิทัล ลองจินตนาการดูสิว่าหากผู้คนเข้าถึงโลกดิจิทัลได้มากขึ้น ความรู้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย สถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศในโลกดิจิทัลนี้มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและเศรษฐกิจ เมื่อผู้หญิงเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่า ย่อมหมายความว่ามีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจะมาจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตหรือซื้อโทรศัพท์มือถือ 

หรือลองจินตนาการถึงครอบครัวที่ไม่มีกำลังทรัพย์ พ่อต้องทำงานนอกบ้าน แม่ต้องอยู่บ้าน ทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูก หากครอบครัวมีทรัพยากรจำกัดและสามารถซื้อโทรศัพท์มือถือได้เพียงเครื่องเดียว มีแนวโน้มว่าพ่อที่ทำงานนอกบ้านจะเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ เพราะต้องใช้อุปกรณ์สื่อสารทำงานหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวนั่นเอง

การเข้าถึงโลกดิจิทัลเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ในยุคสมัยนี้ โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวช่วยให้เราสามารถอัพเดตข้อมูล เข้าถึงความรู้ หรือแม้แต่ทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ได้ การทำให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงโลกดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งในชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิง

แล้วมีนโยบายอะไรที่น่าสนใจ ในการลดทอนช่องว่างระหว่างเพศในโลกดิจิทัลบ้างนะ? 

  • ประเทศเกาหลีมีนโยบายที่เป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2001 รัฐบาลเกาหลีแจกคอมพิวเตอร์มือสองให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ แม่บ้าน และผู้พิการ เพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงโลกดิจิทัลได้มากขึ้น ในปี 2021 รัฐบาลเกาหลีก็ยังมียุทธศาสตร์ที่มองว่า การทำให้ประชาชนเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ถือเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาล โดยมีแผนการเช่น การขยายสถานที่ออฟไลน์ให้ผู้คนมาเรียนรู้เกี่ยวกับโลกดิจิทัลได้ โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วอย่างห้องสมุดหรือสถานบริการชุมชน มาใช้เป็นสถานที่สอนการศึกษาด้านดิจิทัลให้แก่ผู้คน 
  • ประเทศเยอรมนีมีกองทุน EQUALS Digital Skills Fund ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานรวมถึงกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา กองทุนนี้สนับสนุนโครงการที่ช่วยสร้างทักษะดิจิทัล การใช้อินเทอร์เน็ต การเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้หญิงในชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะในแอฟริกา เอเชีย หรือลาตินอเมริกา 
  • ประเทศคอสตาริกามีนโยบาย “เพศ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี” ซึ่งออกแบบมาเพื่อขจัดอุปสรรคของผู้หญิงต่อการมีส่วนร่วมในภาคส่วนเทคโนโลยี โดยนโยบายเข้ามาจัดการกับปัญหาภาพเหมารวมทางเพศ (stereotypes) การจ้างงานที่ไม่เท่าเทียมทางเพศ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้สถานศึกษาและบริษัทต่างๆ สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
  • การเก็บสถิติเกี่ยวกับการเข้าถึงและการประสบความรุนแรงในโลกออนไลน์ของผู้หญิงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้นักนโยบายเข้าใจประสบการณ์ของผู้หญิงได้ดีขึ้น และนำข้อมูลดังกล่าวไปออกแบบมาตรการเพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศในโลกออนไลน์ได้ (รู้ไหมว่ามีเพียง 24 ประเทศเท่านั้นในแอฟริกาและเอเชียที่เก็บข้อมูลจำแนกเพศ (gender-disaggregated) เกี่ยวกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต)

แล้วนักนโยบายหรือคนทำงานสังคมในประเทศไทยทำอะไรได้บ้างเพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศในโลกดิจิทัล? เช็คลิสต์คำถามขับเคลื่อนโลกต่อไปนี้อาจเป็นขั้นตอนแรกที่คนทำงานควรคำนึงถึงก่อนจะออกแบบนโยบายหรือโครงการใดๆ 

  • หากเรากำลังออกแบบโครงการหรือบริการออนไลน์ ใครบ้างที่เข้าไม่ถึงโครงการของเรา? ใครคือผู้ที่ขัดสนทางการเงินและไม่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ตได้สะดวกสบาย? 
  • ใครบ้างที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี? การขาดเครื่องมือและความรู้ดิจิทัลทำให้ประชากรเหล่านั้นพลาดโอกาสใดในชีวิต?
  • ในการออกแบบโครงการออนไลน์ใดๆ เราได้คำนึงถึงการออกแบบโครงการออฟไลน์ควบคู่กันไปด้วยไหม? 
  • เรามีความรู้ความเข้าใจมากพอไหม ว่าใครบ้างเข้าไม่ถึงโลกดิจิทัล? และเราควรทำอย่างไรเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น?

อ้างอิง:

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top