บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 14.12.2021

ในงาน Policy Innovation Exchange เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่าน Calum Handforth ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะจาก UNDP Global Centre for Technology, Innovation and Sustainable Development ได้มาพูดถึงการวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหาในสังคม ออกแบบนโยบาย และปรับปรุงบริการภาครัฐ

ปัจจุบันผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากขึ้น ข้อมูลที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตจึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การใช้ Big Data เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ หรือการทำความเข้าใจวิถีชีวิตและพฤติกรรมของประชาชนผ่านข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อพัฒนาการบริการของภาครัฐให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น 

เพื่อลบล้างคำถามที่ว่า ทำไมการได้ใบขับขี่ถึงไม่ง่ายเหมือนกับการสมัครบัญชีบนเฟสบุ๊ก?”  

โควิด-19 ตอกย้ำว่าเราต้องเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทันที

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ย้ำเตือนว่า การใช้อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญมากต่อชีวิตของประชาชน จนถึงการทำงานของภาครัฐ เพราะอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในการเรียนและการทำงาน ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบาย จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเข้าใจวิถีชีวิตและพฤติกรรมของประชาชน เพื่อนำมาออกแบบและกำหนดนโยบาย จนถึงปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐ

โดยในช่วงโรคระบาดโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งมีผลทำให้พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ใช้บริการ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นภาครัฐและคนกำหนดนโยบายจำเป็นต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การวิเคราะห์ทางดิจิทัลเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ 

Calum Handforth ชี้ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้โลกดิจิทัลได้รับข้อมูลมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งข้อมูลดิจิทัลสามารถถูกจำแนกออกเป็น 4 ประเภท

  1. ข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับวิถีชีวิต (Lifestyle)

 ข้อมูลเหล่านี้สามารถรวมรวมได้จากซอฟต์แวร์ต่างๆ หรือโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือลิงค์อิน (LinkedIn) โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของคนโดยแบ่งตามอายุ เพศ อาชีพ สถานที่ จนถึงหมวดหมู่ความสนใจ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้คนกำหนดนโยบายได้ข้อมูลเชิงลึกและละเอียด ซึ่งมีประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชน

อย่างไรก็ตามผู้ใช้ข้อมูลต้องเข้าใจว่าข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและความสนใจของคนที่ได้มาจากโลกออนไลน์ อาจไม่ได้บ่งบอกถึงพฤติกรรม ความสนใจ หรือความต้องการของพวกเขาในโลกออนไลน์ได้เสมอไป

  1. ข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับกิจกรรม (Activity)

 การวิเคราะห์ข้อมูลทางดิจิทัลเชิงกิจกรรมมักจะถูกใช้บ่อยที่สุดผ่านการดึงข้อมูลเชิงลึกผ่านวิธีการทางสถิติจากแหล่งข้อมูลต่าง  ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำรวจเส้นทางของผู้ใช้งานจำนวนการคลิกลิงก์การเคลื่อนไหวของเมาส์จำนวนผู้ใช้ในคราวเดียว หรือแชทบอท เป็นต้น หรือแม้แต่การประทับเวลาก็สามารถเป็นข้อมูลเพื่อเพิ่มความเข้าใจของผู้ใช้บนโลกออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้วิธีการวิเคราะห์รูปแบบนี้ค่อนข้างมีบริบทสำคัญต่อโควิด-19 เนื่องจากสามารถดูเกี่ยวกับเรื่องนโยบายการล็อคดาวน์การเคลื่อนไหวทางภูมิศาสตร์ของผู้คน หรือการรับบริการของระบบสาธารณะของประชาชนได้เป็นอย่างดี 

  1. ข้อมูลทางดิจิทัลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม (Engagement)

ข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นข้อมูลเชิงลึก ที่บ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมของบุคคลนั้นๆ ต่อประเด็นสังคมต่างๆ เช่นการแสดงความคิดเห็น อภิปราย หรือตั้งคำถามบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำมาวิเคราะพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้ในเชิงลึก ที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการเจาะและค้าหาข้อมูลประเภทนี้อย่างแม่นยำ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการวิเคราะห์ภาษาทางธรรมชาติ (Natural Language Processing หรือ NLP) หรือ การวิเคราะห์ความรู้สึกหรือวิเคราะห์อารมณ์จากข้อความ (Sentiment Analysis) 

  1. ข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับผลลัพธ์ (Result)

ข้อมูลเชิงผลลัพธ์คือการวิเคราะห์การตอบสนองของผู้คนต่อแพลตฟอร์ม โดยสามารถทำการทดสอบด้วยวิธีการ A/B Testing ที่เป็นที่นิยมในการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างสองผลลัพธ์ ซึ่งมีตัวแปรที่แตกต่างกัน เช่น การย้ายปุ่มไปยังตำแหน่งใหม่ และทำการเทียบข้อมูลระหว่างตำแหน่งเก่าและตำแหน่งใหม่ผ่านข้อมูลการใช้งาน หรือวัดจากองค์ประกอบการออกแบบ หรือเนื้อหาที่แตกต่างกันเพื่อกำหนดสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับผู้ใช้งาน 

นโยบายของการวิเคราะห์ข้อมูลจากรูปแบบต่าง  ได้ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และทำให้นักวิเคราะห์และบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เช่น เฟสบุ๊กที่อนุญาตให้ผู้ใช้ดูข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้ได้ และยังมีโซลูชันต่างๆ ที่พร้อมให้ใช้งานได้ทันที เช่น แชทบอท พอร์ทัลการศึกษา และอื่นๆ  

นอกจากนั้นสมาร์ทโฟนในปัจจุบันยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่น่าสนใจ เนื่องจากบนสมาร์ทโฟนมีเซ็นเซอร์ติดตั้งไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปสู่ข้อมูลเชิงลึกได้เช่นกัน เช่น เส้นทางที่เร็วที่สุดไปยังที่สถานที่งาน หรือการออกกำลังกายแบบไหนที่จะช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายในการลดน้ำหนักได้ เป็นต้น 

ใช้แชทบอทพัฒนาสุขภาวะของเยาวชน 5 ประเทศ

ก่อนที่ Calum Handforth จะเข้ามาทำงานกับ UNDP เขามีประสบการณ์อย่างคร่ำหวอดในการจัดการข้อมูลดิจิทัลเพื่อพัฒนาสุขภาพของเยาวชน ผ่านการใช้แชทบอทใน 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอนุภูมิภาคซาฮารา โดยแชทบอทที่เขาใช้นั้นเป็นแชทบอทที่ติดตั้งอยู่กับโปรแกรมพูดคุยของเฟสบุ๊ก (Facebook Messenger) ที่เป็นโซเชียลมีเดียที่คนส่วนมากใช้ ดังนั้นทำให้เขาได้ข้อมูลเรียลไทม์จากผู้ใช้มากกว่า 2,500 ราย ข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ทำให้เขาเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนได้อย่างละเอียด จนนำไปสู่การแก้ปัญหา และการพัฒนาสุขภาพของเยาวชน

ข้อมูลเชิงลึกไม่ได้หมายถึงการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน

Calum กล่าวว่า จากการเรียนรู้และการศึกษาด้านการวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัล คุณภาพข้อมูลและการมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ผู้ใช้เป็นเรื่องสำคัญ โดยการวิเคราะห์ทางดิจิทัลไม่จำเป็นต้องล่วงล้ำหรือรวมรวมข้อมูลเชิงลึกที่ล่วงเกินความเป็นส่วนตัว การจัดเก็บ เข้าใจ และวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลจึงควรถูกนำมาใช้อย่างถูกวิธี และทำให้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อการพัฒนาสังคม

และถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ข้อมูลทางดิจิทัลในยุคสมัยนี้มีพัฒนาการที่ก้าวไกลและแข็งแกร่งมากพอที่จะแก้ไขปัญหาต่าง แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เรายังจำเป็นต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเพื่อเข้าใจบริบทของข้อมูล

เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุน ไม่ใช่เพื่อแทนที่ความสามารถของมนุษย์

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top