บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 29.09.2021

Key Insights

  • สถิติสำคัญในการออกนโยบายก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเข้าใจชีวิตมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังสถิติ เพราะสุดท้ายถ้าไม่เข้าใจมนุษย์ สถิติก็ไร้ความหมาย
  • ยิ่งสถิติมีความซับซ้อนมากเท่าไหร่ ชีวิตมนุษย์ก็ซับซ้อนมากกว่านั้น การเข้าใจมิติทางสังคมและวัฒนธรรมไปพร้อมๆกับสถิติ และสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมา จะทำให้การออกนโยบายมีประสิทธิภาพที่สุดเสมอ

เคยลองจินตนาการไหมว่าถ้าวันนี้เราโชคร้ายต้องตายเพราะโควิด จะมีผลกระทบกับใครบ้าง – – ครอบครัว เพื่อน และคนรักที่ต้องเสียใจ แม่ค้าร้านประจำที่ต้องสูญเสียรายได้ หรือประเทศที่ต้องเสียโอกาสจากเราไป จำนวนผู้เสียชีวิตที่ต้องตื่นมาเจอในทุกวันไม่ใช่เป็นเพียงตัวเลขเอาไว้ดูสร้างความหดหู่ แต่หนึ่งชีวิตที่จากไปสร้างแรงกระเพิ่มมหาศาลกว่าที่เราคิด ในทางเศรษฐศาสตร์มีการคำนวณ ‘มูลค่าชีวิตทางสถิติ’ หรือการตั้งราคาต่อหัวว่าประชาชนหนึ่งคนในประเทศควรมีมูลค่าเท่าไหร่ ชีวิตพลเมืองในประเทศอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 7-9 ล้านเหรียญต่อคน หรือประมาณ 224-288 ล้านบาท โดยนักเศรษฐศาสตร์จะใช้หลักการคำนวณจากค่าครองชีพกับผลประโยชน์ที่คิดว่าเขาสามารถสร้างได้ตลอดชีวิต

Question 1

Q: คิดว่ามูลค่าของชีวิตพลเมืองไทยอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่

Answer
เฉลย 20 ล้านบาท
Description

20 ล้านบาทคือการประเมินคร่าวๆ ของชีวิตคนไทย เมื่อนำจำนวนผู้เสียชีวิต 10,000 คนมาคูณก็จะเท่ากับว่าประเทศสูญเสียไป 2 แสนล้านบาท ยังไม่รวมผลกระทบทางอารมณ์ของคนรอบตัวที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาลดลง และความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ต้องเกิดขึ้นฉับพลัน เช่น เด็กที่ต้องกำพร้าพ่อแม่ หรือครอบครัวที่ขาดเสาหลัก สถิตินี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่คือหนึ่งชีวิตที่คนแก้ไขปัญหาต้องมองเห็นมันเพื่อรีบจัดการก่อนสายเกินไป

หลายปีก่อนเราเริ่มเข้าใจว่าอินโฟกราฟิกเป็นสถิติเฉพาะหน้าที่ให้ภาพรวมของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ ไม่นานมานี้คนเริ่มตั้งคำถามกับข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ว่ามีประโยชน์จริงหรือเปล่า เพราะข้อมูลเหล่านี้มักตัดบริบททางสังคมออกไป เช่น ไทยมีตัวเลขผู้พิการที่ลงทะเบียนประมาณ 3.7 ล้านคน แต่เรารู้หรือเปล่าว่า สาเหตุของความพิการคืออะไร ความยากลำบากในการใช้ชีวิตของพวกเขามีอะไรบ้าง ดังนั้นนโยบายที่ออกมาช่วยพวกเขาอาจไม่ครอบคลุมผู้พิการจำนวนมาก หากผู้ออกแบบนโยบายไม่สามารถมองเห็นเรื่องราวภายใต้ข้อมูลและสถิติเหล่านี้

Question 2

Q: คิดว่าประเทศไหนที่โดดเด่นเรื่องการทำนโยบายโดยใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

Answer
เฉลย เนเธอร์แลนด์
Description

หลายประเทศเริ่มปรับใช้วิธีขับเคลื่อนนโยบายด้วยข้อมูลเป็นหลัก (Data-Driven Policy) มาสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้คือทุกตัวเลขคือชีวิตที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์โดดเด่นมากในเรื่องนี้ พวกเขาเอาจำนวนชั่วโมงการสอนของครูทั้งประเทศมาคำนวณเพื่อพยากรณ์ว่ามีบุคลากรคุณครูเพียงพอหรือไม่ในอนาคต หรือเอาชั่วโมงการทำงานของคนกลุ่มเปราะบางที่ทำอาชีพอิสระมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของพวกเขา และเมื่อไม่นานมานี้ จากสถิติและข้อมูลที่เนธอร์แลนด์รวบรวม พบว่านักเรียนในประเทศมีความเครียดมากขึ้นซึ่งมีผลมาจากการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจในหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เนเธอร์แลนด์เพิ่งบรรจุหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ให้กับเด็กๆ ทุกโรงเรียน เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งการขาดเรียน ความรุนแรงในโรงเรียน และการบูลลี่กันและกัน

Question 3

Q: “การลงทุนในเด็กคุ้มที่สุด” คำตอบใดอธิบายคำพูดดังกล่าวได้ดีที่สุด

Answer
เฉลย คุ้มที่สุด เพราะส่งผลดีในระยะยาว
Description

สหรัฐอเมริกาคืออีกหนึ่งประเทศที่ดำเนินนโยบายด้วยข้อมูลมาเป็นระยะเวลานาน เพราะมีประชากรมากและใช้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะนโยบายทางด้านการศึกษาซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา งานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อสรุปตรงกันว่าการลงทุนกับเด็กนั้นคุ้มที่สุดเพราะส่งผลดีในระยะยาว การที่รัฐบาลบางประเทศมองไม่เห็นถึงตรงนี้ อาจเป็นเพราะเด็กเล็กไม่สามารถเป็นฐานเสียงของตัวเองได้ จึงออกนโยบายเอาใจผู้ใหญ่มากกว่าเพื่อหวังผลทางการเมือง

ราจ เชตตี้ อาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนำข้อมูลกลุ่มตัวอย่างช่วงเรียนอนุบาลในรัฐเทนเนสซีตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับอัตราการเสียภาษีซึ่งแปรผันตามรายได้ พบว่าการศึกษาที่ดีตั้งแต่ยังเล็กทำให้เด็กที่โตมาเป็นผู้ใหญ่เสียภาษีได้มาก ฉะนั้นการลงทุนในเด็กนอกจากจะทำให้ประชากรมีคุณภาพการศึกษาที่ดีแล้ว รัฐยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย และยังส่งผลกระทบทางสังคมได้อีกหลายประการ เช่น ลดการก่ออาชญากรรม ซึ่งเชื่อมโยงและสามารถทำงานได้กับกระทรวงยุติธรรมเพื่อลดปัญหานี้ในระยะยาว

จะเห็นได้ว่า ‘ตัวเลขและสถิติ’ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มหาศาล

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เคยได้รับรางวัลโนเบลด้านการศึกษาพบว่าสิ่งที่ทำให้เด็กเรียนได้ดีขึ้นคือยาถ่ายพยาธิ พวกเขาแจกยาถ่ายพยาธิให้กับหลายโรงเรียนแล้วพบว่าจำนวนเด็กที่ขาดเรียนจากการไม่สบายลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีผลกระทบต่ออนาคตของพวกเขาในทางตรง ซึ่งการทดลองนี้ไม่เพียงแค่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ด้วยเช่นกันเพราะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาได้

ส่วนนักวิจัยอีกทีมจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดลงสำรวจคุณภาพการศึกษาในแถบชนบทของประเทศจีน ปัญหาที่เขาพบกลับไม่ใช่เนื้อหาการเรียน แต่คือปัญหาด้านสุขภาพสายตา นักเรียนประถม 25 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 20,000 คนมีภาวะสายตาสั้นโดยไม่รู้ตัว ทีมวิจัยจึงลองแจกแว่นให้กับเด็กๆ ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากผ่านไป 6 เดือนคือคะแนนสอบของพวกเขาดีขึ้น 18% ปัญหานี้สามารถแก้ได้ง่ายๆ จากการใส่แว่น แต่พ่อแม่ชาวจีนส่วนใหญ่เชื่อว่าแว่นคือตัวการของสายตาสั้น สิ่งใส่ยิ่งสั้น พวกเขาอยากให้ลูกๆ ตื่นมาบริหารสายตาทุกวันซึ่งน่าจะช่วยได้มากกว่า อันที่จริงเด็กๆ เหล่านี้มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐ แต่ไม่รวมถึงเรื่องสายตา สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนอาจเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างแว่นตาซึ่งจะเปลี่ยนโลกการมองของเด็กๆ ได้ทันที แต่ก็ต้องทำงานควบคู่กับบริบททางวัฒนธรรมที่ความเชื่อบางอย่างก็ไปขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์

Question 4

Q: ในอนาคต หาก AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างชาญฉลาดแล้ว จะส่งผลให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องในเรื่องข้อมูลจริงหรือไม่

Answer
เฉลย ทั้งจริงและไม่จริง
Description

มนุษย์มีอัลกอริธึ่มเป็นของตัวเอง แต่ละคนมีกระบวนการประเมินว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำจากประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา แต่ความเคยชินอาจส่งผลให้การทำงานตรงนั้นผิดพลาดไป อาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก้ชื่อเซนทิลสนใจประเด็นเรื่องความยุติธรรมในสังคม เขาตั้งคำถามว่าปัจจุบันผู้พิพากษาในนิวยอร์กตัดสินคดีได้ดีแล้วหรือยัง เพราะยิ่งกระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใสน้อยก็จะยิ่งสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นตามมาอย่างไม่รู้จบ สิ่งที่เขาทำก็คือวัดฝีมือในการฝากขังของผู้พิพากษาทุกคนจากฐานข้อมูล 7 แสนเคส พบว่ามีจำเลยที่ถูกปล่อยตัวไปก่อคดีซ้ำถึง 40% เซนทิลจึงนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงในเบื้องต้น แล้วให้ผู้พิพากษาพิจารณาจากหน้างานอีกทีว่าควรจะปล่อยตัวหรือฝากขัง ซึ่งเป็นงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร เพราะต้องยอมรับว่ามนุษย์มีอคติ และจำนวนงานที่มากเกินกว่าจะพิจารณาทุกคดีอย่างถี่ถ้วน การฝากขังได้ถูกคนจะช่วยลดอาชญากรรม และการใช้ทรัพยากรในห้องขังได้ในเวลาเดียวกัน

Question 5

Q: หากรัฐบาลอยากใช้ข้อมูลอย่างจริงจัง ควรจัดวางให้ข้อมูลอยู่ในส่วนไหนของกระบวนการ

Answer
เฉลย ข้อมูลเป็น ‘เครื่องมือ’ สำหรับออกแบบแนวทางการแก้ปัญหา
Description

ลองนึกตามดูว่า เจ้าของร้านอาหารจะรู้ได้อย่างไรว่าควรซื้อวัตถุดิบชนิดไหนเพิ่มถ้าไม่เห็นข้อมูลการขายที่ผ่านมา ข้อมูลเป็น ‘เครื่องมือ’ สำหรับออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาซึ่งใช้กันมานานแล้ว ยิ่งข้อมูลที่เก็บมามีคุณภาพมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้คนออกแบบทางแก้เห็นภาพมากขึ้นเท่านั้น ทางเลือกในการแก้ปัญหาการศึกษาอาจมีมากมาย ตั้งแต่แจกเงิน ซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัย ลดภาระครู ลดชั่วโมงเรียน แต่การทำทุกอย่างไปพร้อมกันอาจไม่ส่งผลดี ข้อมูลจะช่วยให้จัดลำดับความสำคัญได้ว่าสิ่งใดเร่งด่วนและควรทำก่อน สิ่งใดต้องรีบทำเพื่อความยั่งยืน ข้อมูลที่เข้าใจความเป็นมนุษย์จะช่วยดึงทุกคนให้เข้ามารับผลประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้ทั้งเรื่องเฉพาะหน้า และการพัฒนาในระยะยาว

เมื่อเห็นความสำคัญของชีวิตเบื้องหลังข้อมูลขนาดนี้แล้ว นักนโยบายยุคใหม่ย่อมเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่างานนโยบายไม่ใช่เพียงการหาข้อมูลและคิดคำนวณสถิติ แต่คือการทำความเข้าใจชีวิตและมิติอันหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลเหล่านั้น และความเข้าใจเช่นนั้นก็พาเราไปไกลกว่าสุดขอบฟ้าที่สายตามองเห็น เพราะความเข้าใจมนุษย์ในการออกนโยบาย จะพานักออกนโยบายให้ไปหาข้อมูลได้ถูกที่ คุยกับคนถูกคน ทำให้ออกนโยบายได้ดีและตรงกับความต้องการของประชาชน

สุดท้ายแล้วนโยบายที่มีประสิทธิภาพคือการเข้าใจเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายใต้ปัญหาและความท้าท้ายที่มนุษย์กำลังเผชิญ

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top