อินโฟกราฟิก / เทคโนโลยี
Published: 01.08.2022

เชื่อไหมว่าในปีที่ผ่านมามีปริมาณอาหารจากขยะเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยทุกปีจะมีอาหารถูกทิ้ง 931 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคในครัวเรือนซึ่งคิดเป็น 63% จากร้านอาหาร 26% และจากห้างสรรพสินค้าอีก 13% ในขณะที่ยังมีประชากรร่วมโลกอีกมากมายมีอาหารไม่พอบริโภค ลองคิดดูสิว่าแค่เราลดการทิ้งอาหารจากขยะได้เพียง 1% = มีอาหารอีก 9 ล้านตันสำหรับแบ่งปันให้กับคนที่ต้องการอีกมากมาย

เครื่องมือที่ใช่ในเวลาที่ถูกต้อง = นวัตกรรมที่จับต้องได้สำหรับคนทุกคน

Milos Krivokuca ตัวแทนจาก UNDP ประเทศเซอร์เบียได้แชร์หนึ่งนวัตกรรมสำคัญในงาน Policy Innovation Journey – SIP of the South คุณมิลอสเล่าประสบการณ์จากเซอร์เบียในเรื่องการจัดการบริจาคอาหารผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อสร้างแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการบริจาคอาหาร กับ NGO ที่จะนำอาหารเหล่านั้นไปให้กับกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดการทิ้งขยะจากอาหารของร้านค้า

นวัตกรรมจึงไม่ใช่ความซับซ้อน แต่คือประดิษฐกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

การทำงานของแพลตฟอร์มไม่ยากเลย เริ่มจากผู้ใช้แสดงความต้องการว่าเป็นผู้บริจาคหรือเป็นหน่วยงาน NGO > จากนั้นดูจำนวนอาหารที่มีสำหรับบริจาค > หรือถ้าเป็น NGO ก็เข้ามาเลือกอาหารและกดจองไว้ >ข้อมูลจะแสดงรายละเอียดว่าอาหารปริมาณเท่าไหร่ มีอาหารประเภทอะไรบ้าง และให้มารับได้ภายใน 2 ชั่วโมง > ไม่อย่างนั้นระบบก็จะปล่อยคิวให้กับคนอื่นต่อไป

หลักการคล้ายแพลตฟอร์มซื้อขายทั่วไป แพลตฟอร์มนี้ดูได้ด้วยว่าร้านไหนบริจาคอะไร จำนวนเท่าไร โปร่งใสและรวดเร็วเพราะจัดการด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่สำคัญที่สุดคือ ลดปริมาณอาหารจากขยะ และทำให้ผู้ที่ขาดแคลนอาหารเข้าถึงอาหารจากการบริจาคได้มากขึ้น

ปัญหาและข้อจำกัด คือแหล่งกำเนิดของนวัตกรรม

ช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2021 กลุ่มคนดูกันเองจัดทำระบบง่ายๆ บนโลกออนไลน์เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่แคมป์โดนสั่งปิด และไม่อนุญาตให้พวกเขาออกมาข้างนอก ด้วยจำนวนตัวเลขของคนงานในแคมป์ที่ไม่แน่นอน และปัญหาด้านข้อจำกัดทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้สมาชิกเพียง 12 คนสร้างระบบเพื่อง่ายๆ ขึ้นมาโดยให้ประชาชนในแต่ละเขตออกสำรวจแคมป์แรงงานใกล้บ้าน แล้วปักลง Google Map จากนั้นเจ้าหน้าที่จิตอาสาจะกระจายข้อมูลเพื่อให้ผู้บริจาคในบริเวณนั้นเข้ามอบความช่วยเหลือได้ทันที

นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับอาสาสมัครอีกหลายตำแหน่งที่สำคัญ เช่น คนขับรถส่งของ แพทย์ และคนจัดยาสามัญ ซึ่งทุกคนสามารถสื่อสารกันผ่านไลน์กลุ่มซึ่งแยกกันออกไป เช่น กลุ่มผู้บริจาค กลุ่มผู้สำรวจพื้นที่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน และอัพเดทข้อมูลกันวันต่อวัน โดยกลุ่มคนดูแลกันเองทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อความรวดเร็วของขั้นตอน พวกเขาช่วยให้แรงงานกว่า 80,000 ชีวิตมีอาหารกิน พร้อมของบริโภคที่จำเป็นตลอดระยะเวลา 30 วันของคำสั่งปิดแคมป์แรงงาน โดยไม่เสียเวลาสร้างระบบที่ซับซ้อนเกินไป เพราะความหิวรอไม่ได้ และเป็นตัวอย่างอันเด่นชัดว่านวัตกรรมเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา

จุดร่วมของระบบลดการทิ้งอาหาร และการบริจาคเพื่อยังชีพคือ อาหารเหล่านั้นไม่ใช่ของเหลือ ไม่ใช่ของหมดอายุ ไร้คุณภาพ แต่เป็นทรัพยากรที่มีมากเกินไปและน่าจะสร้างประโยชน์ต่อไปได้ ถ้าวันหนึ่งมนุษย์บริโภค หรือครอบครองทรัพยากรอย่างพอดี การบริจาคที่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอาจไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วก็ได้

ที่มา: https://wedocs.unep.org/handle/20.500.11822/35280

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top