บทความ , อินโฟกราฟิก / การพัฒนาเมือง
Published: 03.08.2022

เห็นน้ำท่วมบ่อยขนาดนี้ แต่รู้หรือเปล่าว่ากรุงเทพไม่ได้เป็นเมืองหลวงที่อยู่ต่ำจากระดับน้ำทะเลที่สุดในโลกนะ ปัจจัยที่ทำให้เมืองหลวงของเราน้ำท่วมทุกครั้งที่ฝนตกมีหลายสาเหตุมาก ทั้งปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติในบางครั้ง น้ำทะเลที่หนุนสูง แต่นอกเหนือจากที่ธรรมชาติบันดาลให้แล้ว ความหาทำของมนุษย์ก็ส่งผลให้น้ำท่วมกรุงเทพได้เร็วขึ้น และใช้เวลานานกว่าจะระบายออกจนหมด เช่น การทิ้งขยะลงในท่อระบายน้ำ ผังเมืองที่ไม่เป็นระบบ หรือแม้กระทั่งการใช้น้ำบาดาลที่มากเกินไปจนแผ่นดินทรุดลงเรื่อยๆ 

ถ้าดูความสูงวัดจากระดับน้ำทะเลแล้ว หลายพื้นที่ของกรุงเทพในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเจอน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพชั้นใน เช่น ถนนสุขุมวิทที่ถนนมีระดับความสูงเท่ากับระดับน้ำทะเลปานกลาง ถือเป็นถนนที่ต่ำที่สุดในกรุงเทพฯ ในขณะที่ถนนเพชรบุรีก็มีความเสี่ยงจากน้ำท่วม แม้ว่าจะสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 8 เซนติเมตร แต่เพราะอยู่ใกล้คลองแสนแสบซึ่งเป็นช่องทางระบายน้ำเหนือออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกปัจจัยที่ช่วยให้พื้นที่กรุงเทพชั้นในน้ำท่วมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น คือพื้นที่ในเขตฝั่งธนที่ค่อนข้างสูงและเป็นด่านกันน้ำชั้นแรกให้ชาวกรุงได้ แต่! ผลการวิจัยของศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศพบว่า พื้นดินในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางพื้นที่ทรุดลงปีละ 3 เซนติเมตร!

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องการจัดการน้ำที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่ามีประสิทธิภาพมากๆ หรือแม้กระทั่งอุโมงค์ยักษ์ของประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบระบายน้ำได้ปริมาณมหาศาล ทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจที่อยากเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกระดับ ทั้งภาคการเมือง ภาคเอกชน และประชาชนทั้งประเทศ เพราะไม่เพียงแต่ผู้อาศัยในเมืองหลวงเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ทางตรง แต่การจัดการเมืองให้ขับเคลื่อนไปได้โดยไร้อุปสรรคย่อมสร้างเสถียรภาพในอีกหลายด้านให้กับประเทศได้อย่างดี เนเธอร์แลนด์สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เพราะมีการจัดการเรื่องน้ำที่ดีมาก ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบอาชีพอย่างมั่นคง เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่ประหยัดงบประมาณในการฟื้นฟูจากภัยธรรมชาติ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีน้ำมาเป็นอุปสรรค

ลงทุนในนวัตกรรม ลงทุนในนโยบาย กำไรคือเมืองหลวงที่มีความยั่งยืน

มีใครเคยได้ยินข่าวน้ำท่วมที่สิงคโปร์บ้าง? ประเทศที่ล้อมรอบด้วยทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระดับเดียวกับน้ำทะเล มีเพียง 30% เท่านั้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 5 เมตร แน่นอนว่าความอยู่รอดปลอดภัยจากน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากดวงหรือโชคที่ดี แต่สำนักงานน้ำแห่งชาติ (The Public Utilities Board) ได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อลดโอกาสการเกิดอุทกภัยหนัก พวกเขาสร้างระบบทั้งหมดให้เชื่อมโยงกัน เช่น มีอุโมงค์กักเก็บน้ำ 2 แห่ง รับน้ำรวมกันได้ 53,000 ลูกบาศก์เมตร และกำลังสร้างอีก 1 แห่งที่จะเสร็จในปี 2025 พวกเขาใช้เทคโนโลยีควบคุมการระบายน้ำที่รับมาจากน้ำฝนเพื่อไม่ให้น้ำไหลแรงเกินไปจนส่งผลกระทบกับภาคส่วนอื่น ในอีกด้านหนึ่ง สิงคโปร์ก็สร้างสวนซึ่งใช้เป็นพื้นที่รับน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถชะลอความเร็วและกรองน้ำเพื่อความสะอาดได้ในเวลาเดียวกัน ท่อระบายน้ำและคูคลองทั้งประเทศมีความยาว 8,000 กิโลเมตร และเผื่อพื้นที่สองข้างทางไว้แล้วเพื่อรอรับการขยายในอนาคต – ทั้งหมดนี้รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ พวกเขามีบทเรียนจากช่วงปี 1960s – 1980s ซึ่งเกิดอุทกภัยหลายครั้ง จนสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ สิงคโปร์จะสร้างชาติจนเป็นมหาอำนาจแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างไรในเมื่อโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ดี คุณภาพชีวิตประชากรยังไม่มีประสิทธิภาพ 

หลังจากการก่อสร้างระบบกักเก็บ และระบายน้ำเสร็จเรียบร้อย สิงคโปร์ก็ยังคงเผชิญกับน้ำท่วมขังอยู่บ้างจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปกติโดยเฉพาะในช่วงมรสุม แต่ทุกปัญหาเป็น ‘Learning’ (การเรียนรู้) ที่สำคัญของทุกคน พวกเขาเรียนรู้ ปรับปรุง แก้ไข ต่อยอดสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก รวดเร็วในการตัดสินใจและลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วที่สุด รางวัลด้านการพัฒนาที่พวกเขาได้รับมากมายไม่ใช่ความสำเร็จที่ใฝ่ฝัน แต่คือบทเรียนที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้เกื้อกูลกันและกัน ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์รู้ดีว่าควรใช้งบประมาณกลางไปกับเรื่องอะไร เรื่องไหนสำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน 

เมื่อคนเวนิสจับมือกันสู้กับภัยน้ำท่วม เพื่อลูกหลานของตัวเอง

ฉายา ‘เวนิสตะวันออก’ ของกรุงเทพไม่ได้มาเพราะความบังเอิญ นอกจากจะเป็นเมืองท่าแห่งการค้าแล้ว ยังน้ำท่วมเก่งพอๆ กันเลย คุณคงเคยเห็นรูปนักท่องเที่ยวถือถุงแบรนด์เนมลุยน้ำในช่วงทะเลหนุนแล้วอดขำกับความคลั่งไคล้ในทุนนิยมไม่ได้ แต่เชื่อไหมว่าภาพน้ำท่วมอยู่คู่กับชาวเวนิสมาไม่ต่ำกว่า 1,200 ปี! การคิดแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยการใช้เทคโนโลยีจากระบบวิศวกรรมเข้ามาช่วยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980s และมาใช้งานได้จริงเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา กว่า 50 ปีของการเรียนรู้และลองผิดลองถูก คนเวนิสตระหนักแล้วว่านี่ไม่ใช่งานของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภาระของทุกคน

ครั้งหนึ่งพวกเขาระบายน้ำทะเลที่ท่วมไปเก็บไว้ในทะเลสาบ ผลปรากฏว่าทำให้พืชน้ำบางชนิดตาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อนกและปลาที่กินพืชชนิดนั้นเป็นอาหาร ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพืชน้ำจากมหาวิทยาลัยเวนิสต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ งบประมาณที่บานปลายออกไปอย่างไม่มีสิ้นสุดยังทำให้ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างต้องหยุดคิด และหาทางออกร่วมกับคนในพื้นที่ พวกเขารู้สึกว่าเงินส่วนใหญ่หมดไปกับการซื้อและนำเข้าวัสดุสร้างเขื่อนจากที่อื่น ในทางกลับกัน พวกเขาสามารถให้ชาวประมงทุกคนมีส่วนร่วมโดยใช้ธรรมชาติมาปกป้องตัวเอง เช่น การปลูกต้นไม้เป็นแนวรับน้ำ ซึ่งสร้างความยั่งยืนได้มากกว่า ราคาไม่แพง และส่งต่อความภาคภูมิใจนี้ให้กับลูกหลานเพื่อปกป้องเมืองเวนิสต่อไป

การเข้าไปยุ่งกับธรรมชาติคือการจัดการระบบนิเวศใหม่โดยมนุษย์ ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานเพื่อลดผลกระทบในระยะยาวให้ได้มากที่สุด โดยยึดถือแนวคิดการอยู่ร่วมกัน และไม่ทิ้งภาระไว้ให้พลเมืองรุ่นต่อไป โครงการ MOSE (Modulo Sperimentale Elettromeccanico) ที่เริ่มใช้งานในปีที่ผ่านมาทำให้เวนิสน้ำไม่ท่วมได้จริง โดยหลักการก็คือการสร้างกำแพงใต้น้ำที่ยกตัวขึ้นมาได้ในเวลาที่ต้องการ เพื่อสร้างแรงต้านกลับไปหาคลื่นที่กำลังพัดเข้าเมือง อ้อ ต้องไม่ลืมว่าตลอด 50 ปีของโครงการ มีการจ้างงานคนในพื้นที่ และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น นโยบายหรือแผนการพัฒนาที่ถูกวางอย่างเป็นระบบควรนำประโยชน์มาสู่พลเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม เค้กก้อนนี้ควรเป็นของทุกคน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่กรุงเทพจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้ทันที เพราะถนน ซอย และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ก็ยากเกินจินตนาการว่าพอจะมีวิธีใดบ้างที่จะทำให้เมืองเทพสร้างแห่งนี้น่าอยู่ขึ้น ใช่แล้ว เราอาจจะยังขาดจินตนาการชุดเดียวกันว่าสิ่งที่ดีกว่าตอนนี้มีหน้าตาเป็นแบบไหน แต่ถึงที่สุดแล้ว รัฐควรเป็นตัวกลางของการพัฒนา และจัดสรรทรัพยากรให้พลเมืองทุกคนอย่างแท้จริง

อ้างอิง

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top