บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 23.04.2022

Vanessa Lefton และ Pina Sadar ประจำห้องปฏิบัติการนโยบาย (Policy Lab) ของอังกฤษอธิบายว่า Policy Lab ของสหราชอาณาจักร เป็นทีมนวัตกรรมของรัฐบาลที่ประกอบด้วยสหวิชาชีพ เช่น ศิลปิน นักออกแบบ ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และ นักชาติพันธุ์วิทยา ที่บางครั้งพวกเราเรียกตัวเองว่า “กระทรวงแห่งจินตนาการ”  

Policy Lab ทำงานอย่างไร

หลักๆ มีด้วยกัน 4 วิธี  

  1. การร่วมมือกับหลายภาคส่วน 
  2. การออกแบบและกำหนดนโยบายร่วมกับรัฐบาล ทั้งในระยะยาวและระยะสั้น
  3. การฝึกอบรมและการสร้างการเรียนรู้ และการนำเสนอต้นแบบของนโยบาย
  4. การวางแผนนโนบายสำหรับอนาคต

การออกแบบที่ “ล้มเร็ว ลุกเร็ว”

ตั้งแต่ปี 2014 UK Policy Lab ทำมาแล้วมากกว่า 100 โครงการ ที่ร่วมกับข้าราชการมากกว่า 1,000 คน โดยทั่วไปแล้ว UK Policy Lab ทำงานร่วมกับรัฐบาลกลางของอังกฤษ แต่มีบางครั้งที่ทำงานร่วมกับนานาชาติ โดยครอบคลุมนโยบายที่แตกต่างหลากหลาย

UK Policy Lab เน้นการออกแบบที่ “ล้มเร็ว ลุกเร็ว” ซึ่งหมายถึง เราจะพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อหาหลักฐานเชิงประจักษ์ และหาแนวคิดใหม่ๆ การวิเคราะห์แบบดั้งเดิมมักจะเริ่มจากการวิจัยไปสู่หนทางแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ แต่วิธีการของเราจะมุ่งไปที่การเรียนรู้และทบทวนแบบกลับไปกลับมาเกี่ยวกับปัญหานั้นๆ เพื่อทดสอบและทดลองว่านโยบายของเรามีปัญหาหรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไร เพื่อเข้าใจและตอบสนองต่อประเด็นนโยบายนั้นๆ ได้ดีขึ้น

การออกแบบนวัตกรรมนโยบายต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

การออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยมีวิธีการศึกษาปัญหาแบบใหม่ ที่มีกรอบการทำงานแบบ Double Diamond ซึ่งมี 2 ขั้นตอนคือ ค้นหาเพื่อระบุปัญหา พัฒนาแนวคิด และส่งมอบแนวคิดเหล่านั้น

การกำหนดนโยบายแบบเปิด

  • การค้นพบ ขั้นตอนนี้เป็นการเปิดความคิด ค้นหาหลักฐาน และตั้งสมมุติฐาน ซึ่งเป็นวิธีที่เรียบง่ายและเห็นภาพชัดเจน ที่สามารถกำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเด็นนั้นๆ ได้แม่นยำ เพื่อร่วมทบทวนและนำเสนอความคิดและหลักฐาน
  • นิยามปัญหา ก่อนจะนิยามปัญหา เราต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่หลากหลาย และผ่านการทำวิจัยแบบชาติพันธุ์วิทยา ซึ่งจะช่วยให้สามารถตั้งคำถามต่อปัญหานั้นๆ ได้แม่นยำยิ่งขึ้น เพราะการถามคำถามที่ถูกต้องมีผลอย่างมากต่อการกำหนดนโยบาย
  • พัฒนาแนวคิด 
    • เครื่องมือที่ 1 คือ การสร้างแนวคิด เรามักพบว่าการใช้คำถาม “สมมุติว่า” สามารถช่วยให้ความคิดใหม่ๆ ปรากฎออกมาได้ ในขั้นตอนนี้ เราพยายามคิดถึงแนวคิดที่มีความหลากหลายไว้ก่อน มากกว่าจะค้นหาแนวคิดในอุดมคติเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นคำตอบของปัญหา บ่อยครั้งความคิดที่แตกต่างกันอาจมาประสานกันหรือเป็นแรงบันดาลใจได้
    • เครื่องมือที่ 2 คือ การสร้างแนวคิดอย่างรวดเร็ว นี่จะเป็นการลดเวลาที่แต่ละคนต้องใช้ในการคิด และเกือบจะคล้ายกับการเล่นเกมส์ คุณเพียงให้เวลาผู้เข้าร่วมเขียนหรือร่างแนวคิดออกมา และทำซ้ำหลายๆ ครั้ง อาจจะหกหรือเจ็ดครั้ง เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ มากมายได้อย่างรวดเร็ว
    • เครื่องมือที่ 3 คือ การวางรูปแบบการดำเนินการของรัฐบาล เป็นกรอบที่ช่วยให้เราเข้าใจและออกแบบวิธีต่างๆ ที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ คุณจะเห็นบทบาทต่างๆ ที่รัฐบาลสามารถเป็นได้จากบนลงล่าง ตั้งแต่บทบาทของการออกกฎหมายไปจนถึงการดำเนินการที่นุ่มนวลกว่า เช่น การร่วมมือกับผู้อื่นหรือทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ
    • เครื่องมือที่ 4 คือ บัตรคำแห่งการเปลี่ยนแปลง คือเกมส์ที่คุณสามารถทดลองเล่นได้ในข้อจำกัดต่างๆ เพื่อสามารถพิจารณาสถานการณ์ทั้งหลายที่ต่างกันออกไป 
    • เครื่องมือที่ 5 คือ การ co-design เป็นเครื่องมือที่ดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาสู่ขั้นตอนการออกแบบหรือการพัฒนานโยบาย ซึ่งมักเป็นพลเมือง ผู้ใช้นโยบาย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ที่จะแสดงให้เห็นถึงบันไดแห่งการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ในแต่ละขั้นตอน
  • นำเสนอแนวคิด เป็นขั้นตอนที่นำเสนอแนวคิดหลังจากผ่านการออกแบบแล้วข้างต้น และอาจนำไปสู่การทดสอบกับกลุ่มประชากรจำนวนจำกัด เพื่อเห็นผลลัพธ์ก่อนที่จะประกาศหรือบังคับใช้

กฎของการออกแบบนโยบาย คือการใช้กระบวนการอำนวยความสะดวกแทนที่จะชี้นำ

เทคนิกทั้งหมดจะมุ่งเน้นการดึงเสียงของประชาชนให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการกำหนดนโยบาย และกฎของการออกแบบนโยบาย คือการใช้กระบวนการอำนวยความสะดวกแทนที่จะชี้นำ และเป็นการทำงานกับประชาชนที่มุ่งสนับสนุนให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของนโยบาย ที่สร้างขึ้นและนำมาปรับใช้ในบริบทของพวกเขา

กระบวนการกำหนดนโยบายที่กำลังสำรวจและค้นคว้าอยู่ในขณะนี้

  • จินตภาพทางศีลธรรม คือการคิดเกี่ยวกับนโยบายโดยมองผ่านเลนส์ระยะยาว และให้ผู้คนมีส่วนร่วมในบทสนทนาเกี่ยวกับแนวทางระยะยาวนั้นๆ
  • โรงละครนิติบัญญัติ เป็นวิธีใหม่ในการใช้ละครและการแสดง ที่เปิดให้ประชาชนมามีส่วนร่วมและส่งเสียงร่วมกับหน่วยงาน และสร้างบทสนทนากับผู้มีอำนาจตัดสินใจ กระบวนการนี้ได้มีการนำไปปฎิบัติจริงในระดับท้องถิ่น 
  • Metaverse ที่เกี่ยวกับการจำลองโลกจริงในรูปแบบดิจิตอล เพื่อให้คาดการณ์ได้ดีขึ้นว่ารัฐบาลควรจะตอบรับหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร
  • การออกแบบปฏิรูปใหม่ ที่มองถึงบทบาทของรัฐบาลในการฟื้นฟูระบบธรรมชาติ เป็นแนวคิดในการทำ “ดี” ให้มากขึ้น มากกว่าทำ “ไม่ดี” ให้น้อยลง



งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top