บทความ / การพัฒนาเมือง
Published: 11.04.2022

Key Insights

  • ณ ตอนนี้ผู้คนต่างคาดหวังว่าอนาคตของเมืองจะดีขึ้นกว่าเดิม โดยประชาชนจะไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัย แต่มีอำนาจในการช่วยกำหนดทิศทางต่อไปของเมือง
  • ชวนรู้จักที่มาของโมเดลการมีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองของบราซิล ที่เริ่มใช้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
  • นักออกแบบนโยบายจำเป็นต้องเข้าใจชีวิตที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขและข้อมูล

จนถึงปัจจุบันนี้ กทม. เผชิญหน้ากับวิกฤติหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มากับโรคระบาด ระบบการศึกษาที่ติดขัดและทำผู้คนตกหล่นระหว่างทาง โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด การคมนาคมที่โตไม่ทันจำนวนประชากร สถานการณ์มลพิษและลมฟ้าอากาศสุดโต่ง ซึ่งท้าทายระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอยู่ทุกฤดูและบ่อนเซาะที่อยู่อาศัย หรือเศรษฐกิจตกต่ำและความยากจนที่ทั้งแผ่ขยายและฝังรากลึกขึ้นเรื่อยๆ  จนนำไปสู่จำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกันกทม. เองก็ประกาศที่จะผลักดันเมืองให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้” (Smart City) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนผ่านพื้นที่ดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้ภาครัฐตอบสนองความต้องการประชาชนได้รวดเร็วขึ้น

ณ ตอนนี้ผู้คนต่างคาดหวังว่าพวกเขาจะไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัย แต่มีอำนาจในการช่วยกำหนดทิศทางต่อไปของเมือง 

ให้อำนาจประชาชนในการวางแผนงบประมาณเมือง

เพื่อให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ข้อมูลเกี่ยวกับแผนพัฒนาเมือง โครงการต่างๆ รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องถูกเปิดเผยสู่สาธารณชนในลักษณะที่โปร่งใส ในขณะเดียวกันเอง นอกเหนือจากเพิ่มช่องทางเข้าถึงข้อมูลต่างแล้ว ประชาชนยังสามารถตอบสนองหรือแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย

หนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือ “การวางแผนงบประมาณแบบมีส่วนร่วม” (participatory budgeting) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดทางให้ประชาชนเลือกว่าจะนำงบประมาณไปลงกับโครงการใด โดยผู้คนจะเข้าประชุมเพื่อนำเสนอและรับฟังแผนพัฒนาชุมชน จากนั้นร่วมกันเลือกแผนที่ตรงกับความต้องการของผู้คน โดยมีคณะกรรมการคอยกำกับดูแลกระบวนการนี้  

กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนเลือกวาระสำคัญประจำท้องที่ และกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตัวเอง มันยังช่วยให้คนจำนวนมากเข้ามาส่งเสียงเสนอความคิดเห็น โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งมักตกสำรวจและถูกกีดกันไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

มีการบันทึกว่า กระบวนการนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมครั้งแรกที่เมือง Porto Alegre ประเทศบราซิลในปี 1990 โดยผู้เข้าร่วมส่วนมากนั้นเรียนไม่จบระดับชั้นมัธยม ประกอบอาชีพรับจ้างหรืออยู่ในภาคบริการ มีรายได้น้อย และแทบไม่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเมืองมาก่อน ในตอนแรก แต่ละเขตจะจัดประชุม จากนั้นตัวแทนที่ได้รับเลือกจากแต่ละเขตจะพิจารณาทั้งข้อเสนอจากที่ประชุมและความต้องการในท้องที่ ท้ายที่สุดแล้ว สภางบประมาณประจำเทศบาล (Municipal Council of the Budget) ที่ประกอบด้วยตัวแทนแต่ละเขตจะโหวตเลือกข้อเสนอต่างๆ หลังจากกระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว ประชาชนผู้เข้าร่วมจะช่วยกันสะท้อนประการณ์การเข้าร่วม และแก้ไขระเบียบการตามนั้น

ณ ปัจจุบัน กระบวนการนี้แพร่หลายไปทั่วทั้งโลก Data Justice Lab รายงานว่า ในเมืองใหญ่ ๆ อย่าง ปารีส นิวยอร์ก และมาดริดได้กระจายงบประมาณจำนวนนับร้อยล้านให้กับการวางแผนงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม ส่วนรัฐบาลเวลส์และสกอตแลนด์ได้สนับสนุนการวางแผนงบประมาณในลักษณะนี้อย่างแข็งขัน โดยทางสกอตแลนด์ได้แบ่ง 1% ของงบประมาณท้องถิ่นให้กับการวางแผนงบประมาณแบบมีส่วนร่วมโดยเฉพาะ

กรุงมาดริด ประเทศสเปน ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า “Consul”  เพื่อเปิดให้ประชาชนร่วมนำเสนอแผนงบประมาณ ข้อกฎหมาย ข้อเสนอแนะ และข้อถกเถียงกับรัฐบาลท้องถิ่นได้โดยตรง โดย “สภาเมือง” (City Coucil) จะเป็นผู้พิจารณาความคิดเห็นโดยตรง อาทิ ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างเทศบัญญัติ  ซึ่งผลการวิเคราะห์โดย Participedia หรือแหล่งความรู้สำหรับการมีส่วนร่วมโดยสาธารณะชี้ว่า มีประชาชนจำนวนหลายร้อยคนเข้าไปทำความเข้าใจร่างเทศบัญญัติต่างๆ และฝากความคิดเห็นไว้จำนวนมากบนแพลตฟอร์มดังกล่าว

อย่าลืมอ่านชีวิตและความไม่เท่าเทียมใต้พื้นผิวของสถิติตัวเลข 

ในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม อย่างแรกที่เราต้องคิดพิจารณาคือ “ใคร” เป็นผู้เข้าร่วม

ก.ท.ม. คือเมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ นี่คือข้อเท็จจริงที่ควรใช้เป็นฐานในการแก้ปัญหาเมือง อำนาจในเมืองแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในแนวระนาบ แต่มีสูงมีต่ำลดหลั่นกันเป็นขั้นพีระมิด เมื่อพูดถึงคนแล้ว เราจึงต้องเห็นภาพชัดเจนว่าประชากรคือใครบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น เขาอยู่ในกลุ่มฐานะอย่างไร เป็นกลุ่มคนทำงานหาเช้ากินค่ำ ทำงานรับจ้าง ขาดความมั่นคงทางอาชีพ มีสหภาพคอยดูแลไหม? หรือเป็นกลุ่มชนชั้นกลางค่อนไปทางบน เป็นดิจิทัลโนแมด มีรายได้จัดอยู่ในระดับ 1% ของประเทศ หรือเขามาจากชุมชนอะไร? ที่อยู่อาศัยของเขาเสี่ยงต่อการโดนรื้อถอน เพิกถอนสัญญาเช่า หรือชำรุดทรุดโทรมไหม หรือเขาไม่เคยต้องกังวลในเรื่องนี้เลย? เขาเคยเผชิญหน้ากับข้อจำกัดในชีวิต สืบเนื่องจากสถานะพลเมืองหรือเชื้อชาติของเขาหรือไม่? เขาเป็นกลุ่มผู้ไม่พิการหรือไม่? อยู่ในช่วงอายุไหนกัน? เขามาจากกลุ่ม LBGTQ+ หรือมีความใกล้ชิดและสนับสนุนขนาดไหน? 

การเข้าใจชีวิตที่อยู่เบื้องหลังข้อมูล (Data) จะทำให้นักออกแบบนโยบายเข้าใจความคาดหวังของแต่ละกลุ่ม ไปจนถึงกลุ่มคนที่ตกสำรวจ ซึ่งจะทำให้นักออกแบบนโยบายสามารถออกแบบกระบวนการออกแบบนโยบายที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ต้องพิจารณาด้วยว่า การเข้าร่วมแบบไหนจึงจะทำให้คนสามารถเข้าร่วมได้มากที่สุด เพราะด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านเวลาของแต่ละกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน นักออกแบบนโยบายจำเป็นต้องออกแบบการเข้าร่วมที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม เช่น การเก็บข้อมูลนอกวงเฉพาะกิจ และการสร้างความสัมพันธ์และความไว้ใจกับคนบางกลุ่ม อย่างเช่น อาสาสมัครระดับชุมชน ที่สามารถช่วยรวบรวมข้อมูลของคนในชุมชนได้อย่างใกล้ชิด โดยนักวิชาการจากประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า หน่วยแพทย์ชุมชน ธนาคารอาหาร หรือโรงเรียนเป็นหน่วยประสานติดต่อกับชุมชนโดยตรง  ซึ่งจะช่วยทำให้นักออกแบบนโยบายทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาที่ลดลง

การพิจารณารับฟัง “ปัญหา” เป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนทำอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่ข้อมูลที่ได้มาจากการรับฟังจะถูกผลักดันเป็นนโยบาย ดังนั้นการมี ‘ส่วนร่วม’ จึงไม่ใช่แค่เพียงการ ‘รับฟัง’ แต่คือการ ‘ออกแบบ’ เมืองหรือนโยบายไปด้วยกัน

 

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top