บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 20.04.2022

คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เราเริ่มมองตนเองเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ หรือไม่ก็มีส่วนร่วมในแคมเปญต่างๆ ที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาบ้านเมือง แต่ก็มีหลายประเทศนะที่เขาใช้กลไกการมีส่วนร่วมของพลเมืองกันมาพักใหญ่ๆ แล้ว แล้วรู้ไหมว่าประชาชนในประเทศเหล่านั้นรับบทเป็นอะไรกันบ้าง?

สหราชอาณาจักรให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ

หนึ่งในประเทศที่ทำประชามติบ่อยมากเพราะเคารพการตัดสินใจของประชาชน นับว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก แต่เมื่อตัดสินใจด้วยกันแล้วก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นการออกจากสหภาพยุโรปหรือ EU ที่โหวตเอง ออกเอง ช็อกโลกกันไปหนึ่งแมตช์ 

ด้วยเหตุนี้ ชาวอังกฤษจึงมีสำนึกว่าตัวเองคือส่วนสำคัญของประเทศ และมีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจในการออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ 

สิงคโปร์ให้ประชาชนเป็นนายจ้าง

“เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ฉะนั้นเราต้องมีวิธีใหม่ๆ ที่ดีกว่าเพื่อรับใช้ประชาชนของเรา” หนึ่งในวรรคทองกินใจจากเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศสิงโปร์ที่ได้มาแชร์นวัตกรรมทางนโยบายให้เราฟังในงาน Policy Innovation Exchange 2 เขาบอกว่าบริการของรัฐควรครอบคลุมชีวิตประชาชนตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวันสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้… เท่มาก!

ในปี 2050 ประชากร 1 ใน 6 ของประเทศสิงคโปร์จะมีอายุ 65 ปี โดยพวกเขาเตรียมพร้อมดูแลผู้สูงอายุด้วยนโยบายต่างๆ เช่น ใช้เซ็นเซอร์คอยตรวจจับการเคลื่อนไหว เมื่อไหร่ก็ตามที่เซ็นเซอร์ไม่พบความเคลื่อนไหว “แบบปกติ” ก็เดาได้ว่าผู้สูงอายุอาจประสบอุบัติเหตุเข้าแล้ว รัฐจึงสามารถส่งความช่วยเหลือไปให้ทันเหตุการณ์

กำลังคิดว่ารัฐรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวมากเกินไปใช่ไหม?  กลับกัน นโยบายความเป็นส่วนตัวคือสิ่งสำคัญที่สิงคโปร์คำนึงถึง สิ่งที่รัฐต้องการคือข้อมูลทั่วไปสำหรับการดูแลประชาชน แต่รัฐก็จะปิดข้อมูลเหล่านั้นไว้เป็นความลับ พวกเขาแค่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาดูแลประชาชนเสมือนว่าเป็นนายจ้างของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลและไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง

เกาหลีใต้ให้ประชาชนเป็นเพื่อนคู่คิด

การเปลี่ยนประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัลไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าไม่มีพลเมืองเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลเกาหลีใต้จึงก่อตั้ง “หน่วยงานเพื่อเพิ่มโอกาส และสนับสนุนระบบดิจิทัล” ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 90 ส่งผลให้ชาวเกาหลีใต้กว่า 80% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเวลาต่อมา

แต่ภารกิจหลักของรัฐบาลคือทำอย่างไรให้ผู้ด้อยโอกาส หรือคนในพื้นที่ห่างไกลสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลเปิดคอร์สสอนให้ชาวเกาหลีใต้มากกว่า 10 ล้านคนสามารถส่งเมล ค้นหาเว็บ และดาวน์โหลดไฟล์ได้ด้วยตัวเอง นี่รวมไปถึงผู้พิการ ผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน และผู้ยากไร้ซึ่งรัฐบาลสรรหาคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้วกว่า 160,000 เครื่องมาให้พวกเขาได้ฝึกฝนจนถนัด

ซน ยอนกี ผู้อำนวยการหน่วยงานดังกล่าวเคยส่งข้อความถึงประธานาธิบดีโอบามาว่า “ถ้าคุณจริงจังกับเรื่องอินเตอร์เน็ต ก็ต้องจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลให้ได้” เช่นเดียวกับพลเมืองชาวเกาหลีใต้ที่ร่วมกันต่อสู้บนหนทางแห่งประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 1988 เพราะถ้าอยากได้ดีด้วยกันก็ต้องช่วยผลักดันให้ถึงที่สุด

เอสโตเนียให้ประชาชนเป็นตัวของตัวเอง

ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เปลี่ยนระบบการทำงานของรัฐบาลมาเป็น E-Government ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะเอสโตเนียเริ่มให้ความสำคัญกับระบบดิจิทัลหลังจากที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียต เอสโตเนียออกนโยบายดิจิทัลอย่างแข็งขันและนำมาประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน

คนที่ได้ผลประโยชน์สูงสุดก็คือประชาชน เพราะรัฐอำนวยความสะดวกทุกอย่างผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ลดความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐให้เป็นเพียงผู้ให้บริการ และออกนโยบายหลายๆ อย่างภายใต้แนวคิด “มนุษย์มองมนุษย์” ข้อมูลทุกอย่างของรัฐสามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบที่ใช้ร่วมกันทั้งประเทศ ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงและปกป้องข้อมูลของตัวเอง จะมีการแจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาดูข้อมูล ซึ่งประชาชนสามารถเลือกอนุญาตได้ว่าจะให้เจ้าที่รัฐเห็นหรือไม่เห็นข้อมูลอะไร เช่น ให้หมอเข้ามาดูประวัติการรักษาที่ผ่านมา

จะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนสามารถเข้ามาหาประโยชน์จากข้อมูลของประชาชนได้ พวกเขาสามารถใช้ชีวิตของตัวเองอย่างปลอดภัย ภายใต้ข้อตกลงในรัฐธรรมนูญว่ารัฐจะปกป้องประชาชนอย่างสุดความสามารถ



งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top