บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 07.11.2022

ศิลปะเป็นแรงบันดาลใจ ที่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถนำมาใช้ได้กับการ ‘ออกแบบ’ นโยบาย

นักวิเคราะห์ข้อมูลในองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำได้เปรียบเปรยการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และสื่อสารมันออกมา กับการต่อเลโก้ คือหลังจากที่คุณเทตัวต่อทุกชิ้นออกจากกล่องแล้ว ตัวต่อเลโก้เปรียบเสมือนกับข้อมูล (Data) จำนวนมาก ที่มีหลากหลายสีและขนาด ขั้นตอนต่อไปของการต่อเลโก้จึงคือการแยกสี (Sort) และจำแนกตามขนาด (Arrange) ดังนั้นการต่อเลโก้ให้เป็นรูปร่างต่างๆ จึงคล้ายกับการเลือกหยิบยกข้อมูลมาเล่าเรื่องให้เห็นภาพ ที่เกิดจากการปะติดปะต่อข้อมูลจากหลายส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้พบเห็น และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

รู้จัก 3 หน้าที่ของศิลปะ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบาย

  1. เล่าข้อมูลได้กว้างกว่า น่าติดตาม

สมมติว่ามีนักนโยบายสักคนอยากสร้างการรับรู้เรื่องการเปลี่ยนทางสภาพภูมิอากาศให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะระดับผู้บริหารซึ่งมีอำนาจตัดสินใจขับเคลื่อนนโยบาย ถ้าต้องเลือกระหว่าง

ก) พรีเซนท์เทชั่นข้อมูลต่างๆ มากมายที่ได้มาจากการลงพื้นที่สำรวจความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ที่มาภาพ: bluenotes.anz.com

ข) อินโฟกราฟิกนำเสนอตัวเลขความเปลี่ยนแปลง และมูลค่าของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเพิกเฉยต่ออุณภูมิที่สูงขึ้น

ที่มาภาพ: futurelearn.com

ค) แผ่นกระจกสกรีนภาพถ่ายทางอากาศของผืนป่าที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แล้วนำมาซ้อนกันจนเห็นอัตราส่วนที่แท้จริง

ที่มาภาพ: https://www.srgbennett.com

คิดว่าข้อไหนน่าจะสร้างความรู้สึกร่วมของผู้ที่กำลังฟังการนำเสนอได้มากกว่ากัน? 

จริงๆ แล้วการนำเสนอข้อมูลทั้ง 3 ทางข้างต้นล้วนมีประโยชน์และมีบทบาทต่างกัน แต่เมื่อนำ ‘ศิลปะ’ มานำเสนอข้อมูลในแบบที่สร้างสรรค์ขึ้น อย่างเช่น ในข้อ ค) จะช่วยทำหน้าที่ในการสร้างความรู้สึกร่วมได้มากขึ้น ในระยะหลัง การเล่าข้อมูลให้เป็นเรื่องแบบ Data Visualisation จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่วยสร้างอารมณ์ร่วมได้ ยิ่งผู้คนมีส่วนร่วมหรือจับต้องกับรูปธรรมของข้อมูลได้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีความรู้สึกร่วมได้มากขึ้นเท่านั้น การสร้างเสียงในหัวของคนฟังว่า “ฉันควรทำอะไรซักอย่างเพื่อให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น” ไม่ได้เกิดจากข้อมูลจำนวนมาก แต่เกิดจาก “ศิลปะในการนำเสนอเรื่องราว” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของนักนโยบาย

  1. สร้างอนาคต และความเป็นไปได้

คงไม่ใช่ครั้งแรกที่นักนโยบายได้ยินคำว่า ‘ออกแบบ’ หลายครั้งที่กระบวนการออกแบบนโยบายเชื่อมโยงกับ ‘การคิดเชิงออกแบบ’ (Design Thinking) หรือบางครั้งอาจไปไกลถึงการออกแบบผลลัพธ์ (Outcome) ของนโยบาย เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้จริง ดังนั้นเราจึงสามารถใช้การออกแบบและศิลปะในการช่วยตั้งคำถามและแก้ปัญหาเชิงนโยบายได้

ยกตัวอย่างเช่น ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ทางม้าลาย ป้ายจราจร ทุกอย่างล้วนผ่านกระบวนการคิดซึ่งมีศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น ลองจินตนาการถึงทางม้าลาย 3 มิติดูสมจริงในเวลาตอนกลางคืน ที่คนไม่ชินทางอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งที่เป็นทางม้าลายที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อลดอุบัติเหตุ การออกทางม้าลายแบบ 3 มิติจึงควรคำนึงถึงผู้ใช้ในทุกสถานการณ์โดยใช้การรับรู้ทางศิลปะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวกำหนด เช่น สีที่คนเห็นแล้วสบายใจ รูปทรงที่สะดุดตาแต่ไม่ทำให้คนตกใจ

  1. ช่วยกำหนดนโยบาย เพิ่มพลังแห่งการสร้างสรรค์

แทนที่การใช้วิธีนั่งคุยเพื่อพิจารณาถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักนโยบายกลุ่มหนึ่งได้ทดลองทำงานร่วมกับนักแสดง ที่ใช้ศิลปะการละครมาถ่ายทอดชีวิตและเรื่องราวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเน้นมิติความเป็นมนุษย์และยังทำให้นักออกแบบนโยบายจินตนาการได้กว้างไกลขึ้น 

หรืออีกตัวอย่าง เช่น แทนที่ตำรวจจราจรจะใช้เพียงสถิติจากข้อมูลหลังบ้านมาแก้ปัญหารถติด พวกเขาได้รับเชิญจากนักนโยบายให้ร่วมกันเขียนผังเมืองในฝันลงบนกระดานขนาดใหญ่ โดยใช้ปากกาหลากสีแทนประเภทของยานพาหนะ และเส้นทางในเมือง การขีดเขียนและจินตนาการถึงผังเมืองในฝันทำให้ตำรวจจราจรเห็นวิถีชีวิตของพลเมือง 2 ข้างทางนอกจากรถบนท้องถนน และช่วยให้พวกเขาตระหนักว่าไม่ใช่แค่เพียงแก้ปัญหารถติด แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถดีขึ้นได้ด้วยการจราจรที่ปลอดภัย ซึ่งไอเดียริเริ่มนั้นมาจากการเขียนอะไรก็ได้ลงบนกระดานแล้วค่อยมาถกเถียงกันในขั้นตอนต่อไป 

ศิลปะจึงไม่ได้เป็นเพียงภาพวาดหรือการใช้สีในงานกราฟิกเท่านั้น ตราบใดที่ความคิดสร้างสรรค์ในชีวิตประจำวันสามารถสร้างความรู้สึกร่วมให้กับคนรอบข้างได้ สิ่งนั้นถือเป็นศิลปะแล้ว นักนโยบายที่เห็นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการออกแบบจึงมีศิลปะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ลองถามคนรอบตัวดูสิว่า เคยเห็นโปสเตอร์หลอดเสียบจมูกเต่าข้างล่าง ที่เล่นกับข้อความว่า “Don’t suck the life from our oceans” (อย่าสูบชีวิตไปจากท้องทะเล) ถ้าได้เห็นแล้ว และลังเลที่จะหยิบหลอดพลาสติกขึ้นมาใช้ในครั้งต่อไปที่ซื้อกาแฟดื่ม  แสดงว่างานศิลปะทำงานอยู่ตลอดเวลาในชีวิตของเรา

ที่มาภาพ: https://brandsawesome.com/





 









งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top