Published: 09.05.2023

จะทำยังไงถึงจะลดอัตราการขโมยที่สูงในเมืองๆ หนึ่งได้?

ทำยังไงจึงจะรักษาให้ร่างกายเราอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีเสมอ

จะทำยังไงถึงจะเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยได้?

ประโยคคำถามเหล่านี้เรียบง่าย แต่ปัญหาเชิงระบบเหล่านี้มีรากปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวโยงและส่งผลต่อกัน อาจทำให้การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ในช่วงเวลาไม่กี่ปี ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้เวลาและกรอบการมองและแนวคิดการแก้แบบใหม่

มาดู 4 แนวคิดและหลักการในการเปลี่ยนระบบที่เราสามารถเริ่มทำได้กัน!

เปลี่ยนวิธีการมอง (Change Thinking): 

เปลี่ยนวิธีคิดที่เราเข้าใจปัญหาและระบบนั้นๆ นึกถึงภาพภูเขาน้ำแข็งว่าปัญหาหนึ่งมีสาเหตุจากหลายระดับ เช่น ในระดับตื้นสุด เราอาจถามว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้น ที่ผ่านมามีกระแสหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้น  เราเห็นรูปแบบอะไรซ้ำๆ ในปัจจัยเหล่านั้นหรือไม่ แล้วรูปแบบเหล่านั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร จากนั้นขุดลึกลงไปอีกว่า “คุณค่าหรือความเชื่อ” อะไรที่หล่อหลอมระบบและปัญหานั้นขึ้นมา เช่น ในเมืองที่มีอัตราการขโมยสูง หากเรามองแค่เบื้องต้น เราอาจแก้ไขโดยการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตาและจับกุม แต่หากเรามองลึกลงไป เราอาจเห็นว่าอาชญากรรมเหล่านั้นอาจมาจากปัญหาเศรษฐกิจหรือการว่างงานของคนในพื้นที่ ดังนั้นการแก้ปัญหาของเราอาจมุ่งเน้นไปที่การสร้างงานหรือส่งเสริมสวัสดิการให้ผู้คนสามารถอยู่ได้โดยไม่ก่ออาชญากรรมได้แทน

การตระหนักและรู้จักระบบ (System Awareness):

คือการถอยหลังจากการคิด เปลี่ยนจากการคิดว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรในฐานะปัจเจกหรือองค์กร เป็นลองคิดถึงระบบภาพรวมทั้งหมด และวางตำแหน่งใหม่ว่าเราและองค์กรของเรา “ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบ” เพื่อเห็นภาพว่าเราจะต้องแก้ไขจุดไหนบ้าง ระบบถึงจะไปต่อได้ มองหาจุดคานงัดเพื่อเปลี่ยน (leverage point) 

เช่น หากเราทำให้ร่างกายเราอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี แทนที่จะกำหนดกฎห้ามกินอาหารเพียงอย่างเดียว เราอาจต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้ “สุขภาพโดยรวม” ดีขึ้น นั่นอาจรวมไปถึงการออกกำลังกาย การนอน เปลี่ยนแนวคิดเรื่องการกิน รวมไปถึงเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการดูแลร่างกายและสุขภาพ

การมองอย่างไม่เป็นเส้นตรง  (Non-linear Approach):

คือการระบุปัจจัยต่างๆ ในระบบอย่างครอบคลุม เปลี่ยนวิธีที่เรานิยามปัญหาให้เชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ อย่างครอบคลุม มากกว่าการแยกคิดโดดๆ หรือเป็นแท่งๆ และหาทางแก้บนฐานของสิ่งที่เรามีหรือรู้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการคิดแบบ Linear Approach

ลองนึกภาพว่าเราต้องการปรับปรุงสายพันธุ์ต้นไม้ให้ต้านโรคจากแมลงได้ การแก้แบบ Linear Approach อาจเป็นการฉีดยาฆ่าแมลง หาผ้ามาคลุม ลงปุ๋ยพิเศษ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นการแก้ปัจจัยภายนอก แต่สำหรับการแก้แบบไม่เป็นเส้นตรง (Non-Linear Approach) เราต้องแก้ตั้งแต่พันธุกรรมที่กำหนดลักษณะให้พืชต้านโรคได้ ซึ่งเป็นการแก้โดยมองในมุมที่แตกต่าง โดยแก้ปัจจัยภายในควบคู่กันไป

การจัดการเชิงระบบนิเวศ (Ecosystem Approach):

หลังจากเราเข้าใจระบบ องค์กร หรืออุตสาหกรรรมที่เราอยู่แล้ว ลองมองภาพให้ใหญ่ขึ้นอีกว่าระบบของเราเชื่อมต่อกับใครบ้าง และเราจะสร้างแพลตฟอร์มอะไรที่จะกระตุ้นการร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้อย่างยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น กระจายการแก้ไขปัญหาไปหลายๆ จุดแทนการรอส่วนกลางแก้ไขอย่างเดียว ทำอย่างไรไม่ให้ทำงานเป็นระดับแนวตั้ง แต่ทำงานเหมือนเป็นเครือข่าย เช่น ถ้าหากเราอยากแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย นอกจากการนำเสนอการสอนใหม่ๆ ให้คุณครู เราสามารถเชื่อมต่อคุณครู นักการศึกษา รัฐ นักเรียน โรงเรียน นักศึกษาครู ฯลฯ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขหรือออกแบบนโยบายหรือแนวทางอะไรได้บ้าง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียง 4 หลักการและแนวคิดในการแก้ปัญหาเชิงระบบอันซับซ้อน หากเราเจาะจงแก้ไขปัญหาโดยมุมมองเดียวหรือวิธีเดียว โดยไม่ได้พิจารณาปัจจัยเชิงลึกอย่างรอบด้าน ก็เหมือนกับการพยายามถอนต้นไม้โดยการดึงต้นและใบออกจากด้านข้างเท่านั้น หากเราอยากถอนรากถอนโคนปัญหา เราต้องมองใหม่โดย “ขุด” ลงไปให้ถึงราก

เพื่อนำรากปัญหาออกและทำให้ต้นไม้เติบโตอย่างแข็งแรง







 





งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top