บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 18.10.2021

Key Insights

 

ยิ่งเวลาเดินหน้ามาไกล โลกก็ยิ่งเจอความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี การสั่นสะเทือนของภูมิรัฐศาสตร์โลก หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และในช่วง 1-2 ปีมานี้ วิกฤตโควิด-19 ก็ยิ่งเข้ามาทวีความซับซ้อนและเร่งให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นไปอีก เมื่อโลกผันแปรเปลี่ยนไปมากและรวดเร็วขนาดนี้ แนวคิดของรัฐในการวางนโยบายแบบเดิมๆ ที่อาจไม่ยืดหยุ่น รวมศูนย์ และไม่ฟังเสียงประชาชน จึงไม่อาจตอบโจทย์อีกต่อไป หลายประเทศทั่วโลกจึงกำลังมองหาแนวทางการออกแบบนโยบายด้วยรูปแบบใหม่ๆ และแนวทางหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจก็คือ ‘ห้องปฏิบัติการนโยบาย’ (Policy Lab)

Policy Lab คือพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงนโยบายที่มีการนำเครื่องมือ เทคโนโลยี หรือวิธีการใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เปิดให้มีการลองผิดลองถูก และถือเป็นพื้นที่กลางสำหรับการออกแบบนโยบายร่วมกันอย่างบูรณาการทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน หัวใจสำคัญของ Policy Lab คือการมองประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมออกแบบนโยบาย ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่ประชาชนต้องการออกเสียงกำหนดทิศทางของท้องถิ่นหรือประเทศตัวเองมากขึ้น และต้องการนโยบายที่ตอบโจทย์ตัวเองได้อย่างแท้จริง

ภาครัฐหลายประเทศเริ่มนำแนวคิด Policy Lab ไปปรับใช้แล้ว เช่น UK Policy Lab ภายใต้รัฐบาลสหราชอาณาจักร และ Innovation Lab ภายใต้กองบริการสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยรูปแบบของ Policy Lab อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละองค์กรหรือแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับภารกิจและโครงสร้างการทำงาน

ขณะที่ประเทศไทยก็เพิ่งก่อตั้ง Policy Lab แห่งแรกของประเทศไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2563 โดยใช้ชื่อว่า Thailand Policy Lab

เพราะโลกซับซ้อน Thailand Policy Lab จึงเกิดขึ้น

“Thailand Policy Lab เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสององค์กรคือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) จากแนวคิดที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ล้วนกำลังเจอความท้าทายที่หลากหลาย ซับซ้อน และผันเปลี่ยนไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่แนวทางดำเนินนโยบายแบบเดิมดูเหมือนไม่เพียงพอที่จะพาประเทศไปสู่เป้าหมายต่างๆ ได้อีกต่อไป ขณะเดียวกัน พลเมืองก็มีความคิดก้าวหน้ามากขึ้นเพราะมีการศึกษาที่ดีขึ้นและได้เห็นโลกภายนอกกว้างขึ้น พวกเขาต้องการที่จะเห็นประเทศมีการพัฒนามากขึ้นด้วย เมื่อสองปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกัน การมีหน่วยงานที่สามารถคิดค้นหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างถึงแก่น และสอดรับความต้องการประชาชน จึงต้องเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด” เรอโน เมแยร์ (Renaud Meyer) ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทยกล่าว

Renaud Meyer, Resident Representative of UNDP in Thailand

“การมีหน่วยงานที่สามารถคิดค้นหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างถึงแก่น และสอดรับความต้องการประชาชน จึงต้องเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด”

ขณะที่สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสภาพัฒน์ฯ และ UNDP ภายใต้ความริเริ่มนี้ว่า “Thailand Policy Lab เป็นความริเริ่มโดยสภาพัฒน์ฯ โดยมีการทำงานร่วมกับ UNDP ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าถึงเครือข่ายความรู้และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก UNDP ช่วยเสริมสร้างความรู้ความเชี่ยวชาญให้เราได้ในหลายด้าน โดยที่สภาพัฒน์ฯ ของเราเป็นผู้ปฏิบัติการที่แท้จริง และเนื่องจากเรามีกลไกที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงหน่วยงานต่างๆ ของรัฐได้ เราก็สามารถไปหนุนเสริมให้หน่วยงานต่างๆ มีความเข้มแข็งในเชิงการทำเครื่องมือทางนโยบายแบบใหม่ไปประยุกต์ใช้ได้”

เรอโนเล่าถึงรูปแบบความร่วมมือเพิ่มเติมว่า “UNDP เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีสำนักงานอยู่เกินกว่า 130 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเราก็รู้ดีว่าแต่ละประเทศเจอปัญหาแตกต่างกันไป แต่ก็อาจจะมีบางปัญหาที่คล้ายกันหรือส่งผ่านถึงกัน สมมติประเทศไทยเอง ตอนนี้อาจจะยังไม่เจอปัญหาบางอย่างที่ประเทศอื่นเจอ แต่ก็อาจจะเจอปัญหานั้นขึ้นมาได้วันใดวันหนึ่ง พอถึงวันนั้น ผมก็สามารถติดต่อหาสำนักงานในประเทศอื่นๆ ที่อาจเคยมีประสบการณ์ในประเด็นมาก่อน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการหาทางออกในประเด็นเหล่านั้นได้ ขณะเดียวกัน เราก็สามารถนำประสบการณ์หรือความสำเร็จจากประเทศไทยไปแลกเปลี่ยนหรือเป็นตัวอย่างให้ชาติอื่นๆ ได้ ทำให้ทั่วโลกได้รับประโยชน์จาก Thailand Policy Lab ด้วย”

“มันไม่ใช่ว่าเรา (UNDP) คอยสั่งว่า Thailand Policy Lab ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ Thailand Policy Lab สามารถออกแบบการทำงานด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เราทำก็คือการผลักดันให้ Thailand Policy Lab รู้จักกระบวนการทางนโยบายในแบบของ Policy Lab จากนั้นก็แล้วแต่ว่าจะนำไปประยุกต์ใช้กันแบบไหน” เรอโนกล่าว

เนื่องจาก Thailand Policy Lab ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ณ ปัจจุบันมีสมาชิกที่ทำงานภายใต้โครงการอยู่ 5 คน หนึ่งในนั้นคือนิทัสมัย รัญเสวะ Head of Thailand Policy Lab โดยเธอเล่าว่าทีมงานล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์และความถนัดที่แตกต่างหลากหลายมาก แต่สามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างดีเมื่อมาทำงานร่วมกัน

นิทัสมัยพูดถึง Thailand Policy Lab จากมุมมองของเธอว่า “Thailand Policy Lab ตั้งขึ้นมาเพื่อหาคำตอบให้กับความท้าทายที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีความซับซ้อนและมีหลายมิติมากจนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการเดียว Thailand Policy Lab เลยตั้งขึ้นมาเพื่อนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ตอบปัญหาที่เรากำลังเจอ”

“เท่าที่ศึกษามา ส่วนใหญ่แล้ว หน่วยงานอื่นๆ ก็ใช้นวัตกรรม แต่อาจจะเน้นไปที่นวัตกรรมทางสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังไม่ค่อยเห็นที่ไหนใช้นวัตกรรมเชิงนโยบาย บางที่อาจจะใช้เป็นส่วนๆ ไม่ได้ใช้แบบครบวงจร ตรงนี้จึงไม่เหมือน Thailand Policy Lab ที่เราใช้นวัตกรรมเข้ามาจับตั้งแต่ต้นกระบวนการ เริ่มจากขั้นตอนของการออกแบบนโยบาย การทดสอบ และขั้นที่ออกมาเป็นข้อเสนอนโยบาย” นิทัสมัยกล่าว

“ตรงนี้จึงไม่เหมือน Thailand Policy Lab ที่เราใช้นวัตกรรมเข้ามาจับตั้งแต่ต้นกระบวนการ เริ่มจากขั้นตอนของการออกแบบนโยบาย การทดสอบ และขั้นที่ออกมาเป็นข้อเสนอนโยบาย”

“เราไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนกระบวนการออกนโยบาย แต่สิ่งที่เราทำคือเรานำนวัตกรรมเข้ามาจับในแต่ละขั้นตอนมากกว่า สมมติในขั้นตอนแรกอาจจะเป็นการทำประชาพิจารณ์หรือทำแบบสำรวจ เราก็จะนำเครื่องมื่อใหม่ๆ เข้ามาใช้ อย่างเช่นการทำ Social Listening, Deep Listening หรือ System Mapping แล้วเอาผลที่ได้จากเครื่องมือพวกนี้ไปวิเคราะห์หาแนวทาง ซึ่งเราก็ใช้เครื่องมืออย่าง System Thinking, Foresight, Portfolio Design หรือเครื่องมืออื่นๆ เข้ามา ทำให้เราสามารถมองโจทย์ในหลายมิติพร้อมๆ กัน นำไปสู่คำตอบที่ตอบโจทย์มากขึ้น” นิทัสมัยกล่าว

เปิดโอกาสลองผิดลองถูก-ประชาชนมีส่วนร่วม
หัวใจการออกแบบนโยบายแบบ
Thailand Policy Lab

แน่นอนว่าการสร้างสรรค์นโยบายออกมาสำเร็จเสร็จสิ้นได้หนึ่งนโยบาย ย่อมไม่ได้มีกระบวนการระหว่างทางเพียงรูปแบบเดียว Thailand Policy Lab ก็ต้องใช้หลายวิธีการผสมผสานกันในการคิดออกแบบนโยบายต่างๆ แต่ก็มีหลักการทั่วไปคือเริ่มจากการหาและกำหนดประเด็นปัญหา (Identify Problems) ตามด้วยการหาชุดทางเลือกของแนวทางแก้ปัญหา (Portfolio of Solutions) จากนั้นจึงนำแนวทางที่เหมาะสมไปทดลองแบบจำกัดพื้นที่ ก่อนขยายสู่วงกว้างหากแนวทางนั้นได้ผลลัพธ์ที่ดี

นิทัสมัยยกตัวอย่างให้ฟังว่า “สมมติเราทำประเด็นเกี่ยวกับเยาวชน ขั้นตอนแรกก็ต้องหาก่อนว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดคืออะไร พอได้หัวข้อตรงนั้นมาแล้ว ก็ต้องลงลึกไปอีกว่าปัญหาของหัวข้อนั้นในรายละเอียดคืออะไรบ้าง มีมิติอะไรซ้อนทับกันอยู่บ้าง ซึ่งเราก็จะได้ข้อมูลตรงนี้จากกระบวนการรับฟังสังคม (Social Listening) เช่นมีการพูดคุยสอบถามจากเยาวชน แล้วหลังจากนั้น เราก็มาคิดหาคำตอบ ซึ่งก็เปิดให้เยาวชนเข้ามารวมตัวช่วยกันคิด เราอาจจะจัดเป็นลักษณะแฮกกาธอน (Hackathon) คือการระดมสมองร่วมกันจนได้วิธีแก้ปัญหาต่างๆ ออกมา แล้วมาดูกันว่าแต่ละอันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการนำไปใช้ แล้วจากนั้นเราก็นำวิธีการ (Solutions) ที่เหมาะสมไปทดลองในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง (Sandbox) ดูว่าใช้ได้ผลดีแค่ไหน มีอะไรต้องปรับเปลี่ยน ถ้าได้ผล ก็นำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อออกมาเป็นนโยบายขยายวงไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”

ขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้นำนโยบายไปทดลองใช้ ก่อนจะขยายไปใช้จริงในวงกว้าง ถือเป็นจุดเด่นสำคัญจุดหนึ่งของ Thailand Policy Lab

“ประเทศไทยยังไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า Lab ในกระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะ ความหมายคือเราไม่เคยทำนโยบายในลักษณะของการทดลองก่อนแล้วค่อยนำไปขยายผลใช้จริง ที่ผ่านมาอาจจะมีลักษณะเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) แต่ปัญหาคือบ้านเราไม่ค่อยยอมรับความล้มเหลว เลยไม่ได้เกิดกระบวนการในลักษณะของการทดลองจริงๆ ขณะที่ Policy Lab จะเปิดพื้นที่ให้ทดลองได้ นี่คือสิ่งที่ Policy Lab ต่างจากการทำนโยบายแบบดั้งเดิม” สุริยนต์ให้ความเห็นเสริม

Suriyon Thunkijjanukij, Senior Advisor of NESDC

“ถ้าเราคิดแบบ Policy Lab เราจะเข้าใจได้ว่า สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อความล้มเหลวและความสำเร็จของนโยบายได้ เพราะฉะนั้น เราถึงต้องทดลองมันก่อน ก่อนที่จะขยายไปสู่วงกว้าง แล้วต้องทดลองตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงผลสัมฤทธิ์ นี่คือความสำคัญของ Policy Lab” สุริยนต์กล่าว

แต่นั่นไม่ใช่จุดเด่นเพียงจุดเดียว หากมองลึกลงไปในกระบวนการที่นิทัสมัยบรรยายให้ฟังทั้งหมด จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่ากระบวนการสร้างสรรค์นโยบายของ Thailand Policy Lab เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการทำนโยบาย

“หัวใจสำคัญของเราอย่างหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของสังคมและประชาชน (Citizen Engagement) ที่ต้องไม่ใช่แค่ว่าทำประชาพิจารณ์อย่างเดียว แต่ต้องนำทุกคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันออกแบบนโยบาย หาคำตอบร่วมกันเลย การนำประชาชนที่กำลังอยู่กับปัญหานั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย จะตอบโจทย์ปัญหานั้นได้ตรงจุดชัดเจนมากขึ้น” นิทัสมัยกล่าว พร้อมชี้ว่าโซเชียลมีเดียกำลังเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่งในการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การออกแบบสำรวจออนไลน์ไปตามแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีการอื่นควบคู่กันไปด้วย เพื่อที่จะดึงประชาชนจากหลากหลายพื้นที่หลายบริบทเข้ามามีส่วนร่วมได้

ด้านหนึ่ง การดึงประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ออกแบบนโยบาย เพราะทำให้การกำหนดนโยบายทำได้ตรงจุดมากขึ้น อีกด้าน ประชาชนเองก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน เพราะท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนไทยทุกวันนี้กำลังมีความตื่นตัวที่จะเห็นสังคมเดินไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดด โดยที่พวกเขาไม่ได้อยู่เฉยให้ภาครัฐคิดแทนทั้งหมดอีกต่อไป แต่ต้องได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมส่งเสียงกำหนดทิศทางอนาคตของสังคมตัวเองด้วย

“แนวคิดของเราคือการทำให้กระบวนการตัดสินใจและออกแบบนโยบายมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาส่งเสียงของตัวเองต่อประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีรายได้ระดับไหน ทำอาชีพอะไรก็ตาม เราเชื่อว่าทุกคนย่อมมีอะไรที่เป็นประโยชน์มาแลกเปลี่ยนร่วมมือกัน” เรอโนกล่าว

“แนวคิดของเราคือการทำให้กระบวนการตัดสินใจและออกแบบนโยบายมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาส่งเสียงของตัวเองต่อประเด็นต่างๆ”

“เราต้องหยุดความคิดที่ว่าประชาชนไม่รู้เรื่องอะไร หรือความคิดที่ว่าประชาชนบางคนบางกลุ่มช่วยเหลือพึ่งพาอะไรไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว คนทุกคนมีประโยชน์ ผมยกตัวอย่างตอนเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาล ตอนนั้นเราพยายามคิดวางแผนที่จะสร้างอาคารบ้านเรือนใหม่หลังจากได้รับความเสียหาย แต่จุดหนึ่งเราก็มาฉุกคิดได้ว่าคนที่เข้ามาทำงานนี้ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกหรือวิศวกร ล้วนแต่เป็นผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงเลย ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้หญิงมักใช้ชีวิตอยู่บ้านมากกว่าผู้ชายอีก พวกเธอรู้ดีว่าแต่ละส่วนของบ้านมีฟังก์ชันการทำงานอย่างไร ควรตั้งอยู่ตรงไหน ทำให้เราต้องเริ่มพาผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วม ก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” เรอโนเสริม

ขณะที่สุริยนต์มองว่า “Policy Lab จะช่วยปฏิรูปประเทศได้ เพราะปกติการกำหนดนโยบายมักเป็นอำนาจหน้าที่ของชนชั้นนำ”

“สิ่งที่เราไม่ค่อยพิจารณาในการกำหนดนโยบายก็คือว่านโยบายของเราจะทำให้คนเดือดร้อนอย่างไร แล้วเวลาประชาชนได้รับความเดือดร้อน เขาก็ยิ่งอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐ ถึงแม้คนธรรมดาทั่วไปอาจจะไม่ได้รับการฝึกฝนหรือมีความรู้ในศาสตร์เชิงนโยบายมาก่อน ซึ่งก็อาจจะไม่ได้มีการแสดงออกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ความทุกข์และความคาดหวังของพวกเขาเป็นของจริง” สุริยนต์กล่าว

“การใช้วิธีการรับฟังเสียงจากสังคม (Social Listening) จะช่วยตีความคนในเชิงจิตวิทยาได้มากขึ้น แสดงให้เห็นได้ว่าคนรู้สึกหรือคาดหวังอะไร ซึ่งก็ต้องมาพร้อมกับค่านิยมในกระบวนการพัฒนาประเทศที่เห็นความเป็นมนุษย์ของประชาชน ต้องเคารพในความเป็นพลเมืองของเขา มองว่าเขามีสิทธิอันชอบธรรมที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แม้เขาจะมีภาษาที่แตกต่างจากเรา อาจจะไม่ได้พูดภาษาวิชาการ แต่เราก็ต้องฟังให้เข้าใจให้ได้ นี่คือหัวใจที่แท้จริงของคำว่า Policy Lab แล้วเราจะเห็นระบบราชการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีกระบวนการออกแบบนโยบายที่แคร์ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่มองประชาชนเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กน้อยของนโยบายอีกต่อไป” สุริยนต์กล่าว

ตอบโจทย์เยาวชน ในยุคคนรุ่นใหม่ตื่นตัว

เมื่อต้องฟังเสียงจากประชาชน Thailand Policy Lab จึงมีโจทย์ในมือที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง เพราะประชาชนต่างคนย่อมส่งเสียงบอกเล่าประเด็นปัญหาสำคัญรอบตัวแตกต่างกัน โดยการจะหยิบคัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาเดินหน้า มีกรอบอย่างกว้างๆ คือเป็นโจทย์ที่สอดรับกับเป้าหมายทั้งตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสภาพัฒน์ฯ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่ขับเคลื่อนโดย UNDP

นิทัสมัยเล่าว่า Thailand Policy Lab ได้ตั้งโจทย์ไว้ราว 4-5 ประเด็นใหญ่ๆ ในขั้นต้น เช่น ความไม่เท่าเทียม การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยว ความเท่าเทียมทางเพศ และอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังเป็นโจทย์นำร่องสำคัญก็คือ ‘เยาวชน’

ประเด็นเยาวชนกำลังอยู่ในความสนใจของสภาพัฒน์ฯ เพราะถือเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2566 เป็นโจทย์ใหญ่โจทย์แรก ที่สภาพัฒน์ฯ ส่งผ่านไปยัง Thailand Policy Lab โดยกำลังอยู่ในช่วงของการสำรวจว่ามีประเด็นของเยาวชนเรื่องใดบ้างที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่หรือกำลังอยู่ในความสนใจของเยาวชน

การตั้งโจทย์เรื่องเยาวชนขึ้นมานี้ยังเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะสังคมและการเมืองไทยที่ความแตกต่างทางความคิดระหว่างวัย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่และท้าทายของสังคมไทย และคนรุ่นใหม่ก็กำลังเรียกร้องที่จะให้เสียงของพวกเขาได้รับการรับฟังมากขึ้น กระบวนการของ Thailand Policy Lab อันมีหัวใจสำคัญคือการฟังเสียงประชาชนและเปิดให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ จึงอาจเข้ามาเป็นหนึ่งในพื้นที่รับฟังความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ ในช่วงเวลานี้

“ในช่วงที่ผ่านมา ความคิดของเยาวชนกับความคิดของคนที่คุมอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศไม่สอดคล้องกัน มันมีความแตกต่างกันมาก ถ้าหากเราจะเดินหน้าประเทศต่อไปให้ได้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม ให้เสียงของเขาได้รับการรับฟัง” สุริยนต์กล่าว

นิทัสมัยก็คิดสอดคล้องกัน โดยกล่าวว่า “เยาวชนเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อน และช่วยหาคำตอบในประเด็นต่างๆ ได้ พวกเขาคืออนาคตของประเทศซึ่งกำลังอยู่ในวัยที่มีความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้ สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และคือกลุ่มคนที่พร้อมจะเป็นกระบอกเสียงให้กับประเด็นต่างๆ เพราะฉะนั้น การดึงเขามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรก ให้เขาได้พูดถึงประเด็นปัญหาที่เขากำลังประสบพบเจออยู่ไปพร้อมๆ กัน จะทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคม (Ownership) มากขึ้น มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะเริ่มมองจากกลุ่มเยาวชนก่อน เพราะเราจะนำอะไรไปต่อยอดได้อีกหลายด้าน”

“ดีใจที่คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มีความตื่นตัวและสนใจในเรื่องนโยบายสาธารณะ เพราะเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่กำลังเจอปัญหาหลายๆ ด้านอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะไม่ได้เข้าใจถึงกระบวนการออกนโยบายของภาครัฐมากนัก เพราะไม่ได้เห็นด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ พวกเขาจะรู้เพียงแค่ว่านโยบายที่ออกมาไม่ได้ตอบโจทย์เขาหรือไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น การนำพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมเลยจะทำให้เขาได้เห็นว่าการออกนโยบายมีลำดับขั้นตอน มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง เขาจะได้เรียนรู้ว่าการจะเกิดข้อสรุปในแนวทางที่จะตอบโจทย์คนทุกคนได้ไม่ใช่เรื่องง่าย พอพวกเขาได้เข้ามาเห็นตรงนี้ด้วยตัวเอง ก็จะเข้าใจได้มากขึ้นว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้บ้าง” นิทัสมัยกล่าว

เช่นเดียวกับสุริยนต์ที่มองว่า “พวกเขาควรจะได้เข้าใจว่าธรรมชาติของการทำงานในกระบวนการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในความเป็นจริงมีความซับซ้อน แต่ฝั่งคนวางนโยบายเองก็ต้องทำความเข้าใจเยาวชนเช่นกันว่าสิ่งที่พวกเขาพูดไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ไม่ใช่ว่าเห็นเขาประสบการณ์น้อยกว่าแล้วจะไม่ฟังเขา แต่สิ่งที่เขาพูดหลายอย่างก็สะท้อนความจริงของยุคสมัย ซึ่งก็สำคัญมากต่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ เราต้องฟังสัญญาณตรงนั้นให้ออก”

“แต่ฝั่งคนวางนโยบายเองก็ต้องทำความเข้าใจเยาวชนเช่นกันว่าสิ่งที่พวกเขาพูดไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ไม่ใช่ว่าเห็นเขาประสบการณ์น้อยกว่าแล้วจะไม่ฟังเขา”

ทลายกำแพงราชการ ยกระดับนโยบายไทย เดินหน้าสู่โมเดลของอาเซียน

ด้วยระยะเวลาเพียงราวๆ 6 เดือนนับตั้งแต่ Thailand Policy Lab เริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง หลายโครงการในมือจึงยังคงอยู่ในช่วงตั้งไข่ นับว่ายังเร็วเกินไปหากจะชี้วัดความสำเร็จ เส้นทางของ Policy Lab แห่งแรกของไทยนี้ยังคงอีกยาวไกลและท้าทายไม่น้อย

“อยากให้ Thailand Policy Lab เป็นแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แค่ต่อกลุ่มผู้ออกแบบนโยบายหรือนวัตกรเท่านั้น แต่อยากให้เป็นแรงบันดาลใจของคนทั่วๆ ไปด้วย เราต้องการให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ให้นโยบายที่ออกมาเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยพลเมือง (Citizen-Driven) อย่างแท้จริง” นิทัสมัยกล่าว

นอกจากการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ Thailand Policy Lab ยังตั้งเป้าที่จะบ่มเพาะศักยภาพให้กับเหล่าคนทำงานด้านนโยบายสาธารณะในประเทศไทย ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคการศึกษา รวมทั้งทำแพลตฟอร์มสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงนวัตกรเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดย Thailand Policy Lab ได้เริ่มดำเนินการส่วนนี้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว เช่น การจัดกิจกรรมอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมนโยบายร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และยังมีอีกหลายโครงการที่จะตามมาหลังจากนี้

Thailand Policy Lab ไม่ได้วางเป้าความสำเร็จแค่ในระดับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหวังที่จะให้ Thailand Policy Lab สามารถเป็นโมเดลให้กับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เป็นแหล่งข้อมูลและทรัพยากรสำหรับภูมิภาค เพื่อให้ประเทศอื่นๆ เรียนรู้และนำไปปรับใช้กับประเทศตัวเองได้ เพราะทุกวันนี้ชาติอาเซียนต่างก็กำลังเจอปัญหาหลายเรื่องที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปเป็นโมเดลให้กับประเทศอื่นๆ ได้ แน่นอนว่า Thailand Policy Lab ต้องสร้างความสำเร็จให้เห็นเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยเองให้ได้ก่อน

“สูงสุดที่เราคาดหวังไว้คือ กำลังพลส่วนหนึ่งในระบบราชการของเราจะมีทักษะความรู้ในการใช้เครื่องมือ Policy Lab ในการทำนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสถานะของ Thailand Policy Lab จะต้องเป็นที่ยอมรับในวงการว่าเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการนโยบายสาธารณะของประเทศ” สุริยนต์กล่าว

แต่การจะทลายข้อจำกัดนานับประการที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมการทำงานของระบบราชการไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย การผลักดันแนวคิดกระบวนการทำนโยบายและวัฒนธรรมองค์กรในแบบ Policy Lab ซึ่งถือว่าแปลกใหม่สำหรับระบบราชการไทย นี่จึงอาจเป็นข้อท้าทายมากที่สุดสำหรับ Thailand Policy Lab

“ถ้าถามว่านี่ถือเป็นความท้าทายหนึ่งของเราไหม ส่วนตัวมองว่าระบบราชการของเรามีทั้งข้าราชการรุ่นใหม่และรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็มีอยู่เยอะ เลยเชื่อว่าข้าราชการรุ่นใหม่ในภาครัฐจะเป็นคนที่ช่วยผลักดันวัตถุประสงค์ของเราได้ และเชื่อด้วยว่าการที่เรามีสภาพัฒน์ฯ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งก็เหมือนเรามีผู้ช่วยเบิกทางให้เราทำอะไรง่ายขึ้นในระดับหนึ่ง” นิทัสมัยกล่าว

“คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็มีอยู่เยอะ เลยเชื่อว่าข้าราชการรุ่นใหม่ในภาครัฐจะเป็นคนที่ช่วยผลักดันวัตถุประสงค์ของเราได้”

ขณะที่สุริยนต์กล่าวว่า “การที่ Thailand Policy Lab มาอยู่ใต้สภาพัฒน์ มีข้อดีตรงที่ว่าหน่วยงานเราทำได้ทุกเรื่องและประสานงานได้กับทุกหน่วยงาน ทุกคนก็พร้อมที่จะฟังเราอยู่แล้วด้วยความที่เราถือเป็นหน่วยงานกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ของตัวเอง มีแต่ผลประโยชน์ของส่วนรวม”

“ถึงอย่างไร Policy Lab หนีออกจากระบบราชการไม่ได้ เพราะเราต้องยอมรับว่าระบบราชการยังคงเป็นกลไกหลักที่รับผิดชอบเรื่องนโยบาย ไม่ว่าจะประเทศไหนก็เป็นแบบนี้ แต่ว่าระบบราชการของประเทศไทยเองก็มีปัญหา ทำให้เราต้องมาคิดว่าแล้ว Policy Lab ของเราจะเป็นแบบไหน เราก็เลยตั้ง Policy Lab ขึ้นมาเป็นกลไกที่แยกออกจากระบบราชการสักเล็กน้อย ทำให้มันมีอำนาจหน้าที่บางอย่างที่จะทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ติดระเบียบราชการบางอย่าง เพียงแต่ในกระบวนการออกแบบ วิเคราะห์ และทดลองนโยบาย Thailand Policy Lab ก็ยังคงต้องไปร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในประเด็นนั้นๆ อยู่” สุริยนต์กล่าว

ถึงแม้ Thailand Policy Lab จะมีกลไกที่เอื้อให้ทำงานได้อย่างมีอิสระในระดับหนึ่งภายใต้ระบบราชการไทย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความท้าทายเลย โดยเรอโนมองว่ากำแพงขนาดใหญ่ที่ Thailand Policy Lab จะต้องทลายให้ได้ก็คือกรอบวิธีคิดและวิถีการทำงานบางอย่างที่ยังฝังรากลึกในระบบราชการไทย

“สิ่งหนึ่งที่ท้าทายมากที่สุดก็คือแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม การจะโน้มน้าวคนให้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการจูงใจให้เปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีการทำงาน คือสิ่งที่ไม่ง่าย” เรอโนกล่าว “สมมติเราอาจจะชวนเขามาเข้าร่วมงานอบรมหรืออีเวนท์ต่างๆ ของ Thailand Policy Lab ได้ แต่ถ้าเขามาด้วยใจที่ไม่เปิดรับเหมือนเป็นน้ำที่เต็มฟองน้ำ มันก็ยากอยู่ดี นี่คืออุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งของเรา”

“สิ่งที่ผมต้องการจะทำในตอนนี้คือการพยายามผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่คนคอยตั้งคำถามหรือตั้งโจทย์ให้กับตัวเองเสมอ และวัฒนธรรมการทำงานที่คนหรือองค์กรทำงานร่วมกันมากขึ้น” เรอโนกล่าว

“ต้องย้ำอีกครั้งว่า ทุกวันนี้ประชาชน องค์กร หรือรัฐบาลล้วนแต่กำลังเจอปัญหาหลายอย่างที่ซับซ้อนขึ้น เราจึงไม่อาจใช้สูตรสำเร็จเดิมๆ มาแก้ปัญหาใหม่ๆ เหล่านั้นได้อีกต่อไป แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องคิดใหม่ทำใหม่” เรอโนกล่าว

 

 

 

 

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top