บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 01.10.2021

Key Insights

  • เคยจินตนาการไหมว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างไร? ชวนทำความรู้จัก Thailand Policy Lab
  • Thailand Policy Lab คือห้องปฏิบัติการนโยบายที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสภาพัฒน์กับ UNDP ด้วยความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนและเท่าเทียม
  • ชวนมาเล่น quiz ตอบคำถาม และจินตนาการไปพร้อมๆ กันกับเรา นโยบายคืออะไรกันแน่ และการออกนโยบายแบบไหนที่จะครอบคลุม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด

ถ้าบอกว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนสถานะจากประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีใครเชื่อบ้างไหม คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะทำได้อย่างไร

สมมติฐานข้างต้นมีความเป็นไปได้ เมื่อทุกอย่างในโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น เยาวชนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนสังคมมากขึ้น ความเจริญในทุกมิติจึงเป็นความฝันและความหวังที่เป็นจริงได้ ท้ายที่สุดไม่ว่าเป้าหมายของเราจะมาก่อนหรือหลัง 20 ปี ผลประโยชน์ของความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ปัจจัยอย่างหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อน และใช้เป็นตัวเร่งทางสังคมได้ดีคือ ‘นโยบาย’ คำใหญ่ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนหมกมุ่นครุ่นคิดเพื่อสร้างสรรค์นโยบายให้ออกมาดี เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี แต่น่าเสียดายที่หลายครั้งกระบวนการสร้างนโยบายยังไม่สามารถดึงประชาชนมามีส่วนร่วมได้มากพอ ไม่ว่าจะด้วยเวลาที่มีจำกัด หรือปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

ในโลกปัจจุบันที่ปัญหาและความท้าทายซับซ้อน และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การมีส่วนร่วมของประชาชนกับกระบวนการออกแบบนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้นโยบายที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ ด้วยเหตุนี้เองสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จึงร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก่อตั้ง Thailand Policy Lab ขึ้นในฐานะห้องปฏิบัติการที่ต้องการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบายให้รวดเร็ว ครอบคลุม และตอบโจทย์ และที่สำคัญที่สุดคือต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม

Thailand Policy Lab เป็นห้องปฏิบัติการทดลองทางนโยบายที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรที่เชี่ยวชาญและมีอำนาจโดยตรงในการกำหนดนโยบายอย่างสภาพัฒน์ และองค์กรระหว่างประเทศที่มีประสบการณ์ และเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาจากทั่วโลกอย่าง UNDP 

แม้ว่าห้องปฏิบัติการนโยบายจะเป็นสิ่งใหม่ในประเทศไทย 

แต่ Thailand Policy Lab ตั้งใจและเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรเช่นนี้ จะทำให้งานเราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ยั่งยืนและเท่าเทียม

ทีนี้ลองมามีส่วนร่วมเล่นควิซดู สมมติว่าเรามีสิทธิออกนโยบายได้ 1 เรื่อง ลองดูซิว่าเราเข้าใจมันดีไหม แล้วมีวิธีการออกนโยบายที่ดีกว่าตอนนี้แล้วหรือยัง?

Question 1

นโยบายคืออะไร?

Answer
เฉลย ตอบข้อไหนก็ถูก
Description

มีหลายคำอธิบายเพื่อนิยามคำว่านโนบายในมุมมองที่ต่างกัน แต่ถ้าให้สรุปเพื่อเห็นภาพ นโยบายเปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผู้กำหนดนโยบายต้องมีประสบการณ์ มีทิศทางที่ชัดเจน มีเป้าหมาย มีวิธีดำเนินงานที่ผนวกสังคมให้มีส่วนร่วม เพื่อให้นโยบายประสบผลสำเร็จได้เร็วที่สุด คุ้มค่าแก่การลงทุนของรัฐ อย่างไรก็ตามคนไทยจำนวนไม่น้อยมักเคยชินว่านโยบายเป็นสิ่งที่ออกมาจากภาครัฐเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วหน่วยงานไหนๆ ก็สร้างนโยบายขึ้นมาได้ทั้งนั้น ทุกคนสามารถเป็นนักออกแบบนโยบาย (Policy Designer) หรือสามารถมีส่วนร่วมได้

Question 2

คิดว่าอะไรคือปัญหาในการออกนโยบายแบบเดิม?

Answer
เฉลย ตอบข้อไหนก็ถูกอีกนั่นล่ะ
Description

ระยะเวลาเฉลี่ยของการออกนโยบายสักฉบับอยู่ที่ประมาณ 6 เดือนหรือมากกว่านั้น ระยะเวลานี้อาจไม่ตอบโจทย์ต่อบริบทโลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และไม่ชัดเจนอีกต่อไป ยกตัวอย่างวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งความล่าช้าที่ผ่านไปในแต่ละวันนั้นหมายถึงจำนวนประชากรที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และเสียชีวิตไปอย่างน่าเศร้า

วิกฤตโควิด 19 จึงตอกย้ำว่า เราต้องการกระบวนการนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างนโยบายบนพื้นฐานความเข้าอกเข้าใจ เพราะว่าหากมองว่าการสร้างนโยบายเป็น ‘การลงทุน’ การออกนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์ก็จะทำให้รัฐ ‘ขาดทุน’ ในที่สุด

Question 3

ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุดในการออกแบบนโยบาย?

Answer
เฉลย 4) ประชาชน
Description

ช่วงทศวรรษที่ 90 รัฐแคลิฟอร์เนียต้องเผชิญกับความสูญเสียของวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก หนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตคือการครอบครองปืนได้อย่างถูกกฎหมาย ส่งผลให้ในเวลาต่อมาเกิดนโยบายเพื่อผลักดันให้กฎหมายมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ไม่นานหลังจากนั้น ตัวเลขของวัยรุ่นที่เสียชีวิตจากการถูกยิงลดลงถึง 50%

ในบางประเทศมีนโยบายเรียกว่า ‘Bereavement Leave’ แปลได้ว่า ‘การลางานเนื่องจากความเศร้า’ นโยบายนี้อนุญาตให้ผู้ที่สูญเสียคนรัก และบางครั้งรวมถึงคนที่แท้งลูกและคู่ชีวิตของผู้ที่แท้งลูก สามารถลางานเพื่อดูแลจิตใจตนเองขณะที่ประสบกับความสูญเสีย ประเทศนิวซีแลนด์เพิ่งออกนโยบายนี้เมื่อต้นปีนี้ และบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเงินลูกจ้างตามปกติหากลูกจ้างลางานเพราะแท้งลูก

หรืออย่างในประเทศไทยเองก็มีนโยบายที่น่าสนใจอย่างเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ซึ่งมีงานวิจัยของ Unicef พิสูจน์ให้เห็นว่าว่าเงินอุดหนุนเด็กเล็กช่วยให้เด็กมีโภชนาการดีขึ้น และช่วยให้แม่ยากจนเผชิญความเครียดน้อยลง

นโยบายเป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงและมีส่วนได้ส่วนเสียที่สุด แต่ในขณะเดียวกันนโยบายก็ไปไกลกว่านั้น นโยบายที่ดีและมีประสิทธิภาพส่งผลดีกับปัจเจก และส่งผลดีต่อประเทศด้วย อย่างนโยบายดูแลเด็กเล็กนั้นไม่ได้ดีแค่กับเด็ก แต่มีงานวิจัยมากมายบอกเราว่าการที่ประเทศลงทุนกับเด็กเล็ก เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุด เพราะเด็กจะโตไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ส่งผลให้ประเทศพัฒนาและมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

Question 4

ถ้าหน่วยงานราชการอยากออกแบบนโนบายที่ดี ต้องคำนึงถึงปัจจัยไหน?

Answer
เฉลย ถูกทุกข้อ
Description

การออกแบบนโยบายที่ดี นอกจากจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ทันท่วงทีแล้ว ยังต้องคาดการณ์แนวโน้ม และความผันผวนของโลกและประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ สมมติว่าเรากำลังจะสร้างบ้านหลังหนึ่งที่จะอยู่ไปตลอดชีวิต ก็คงอยากได้ทั้งดีไซน์ที่สวย และเหมาะกับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กถึงผู้สูงอายุโดยไม่ต้องเสียเงินและเวลาปรับปรุงบ้านหลายๆ รอบ

ก่อนการลงมือสร้างบ้านจริงจึงจำเป็นควรสอบถามสมาชิกทุกคนถึงความต้องการ และเงื่อนไขในการดำรงชีวิต เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือความพิการ ส่วนความเหมาะสมสำหรับเด็กเล็กสามารถถามเพื่อนที่มีลูกแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ควรระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความมา หรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ทำให้ไม่เสียเวลา และงบประมาณในการออกแบบบ้านหลายๆ รอบ

บ้านก็เหมือนประเทศ มีประชาชนเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่วนเพื่อนบ้านคือประเทศอื่นๆ ที่เราสามารถขอเข้าไปดูข้อดีและข้อเสียของการออกแบบได้ สิ่งเหล่านี้คือ Mindset ที่ดีของนักออกแบบนโยบาย เราทุกคนรู้ดีว่าการออกแบบนโยบายเป็นสิ่งซับซ้อน นักนโยบายต้องทั้งทำความเข้าใจปัญหา หาข้อมูลราวกับเชอร์ล็อก โฮมส์ ต้องประสานงานข้ามหน่วยงาน ต้องฝ่าฝันระบบการทำงาน ฯลฯ แต่เราก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่าการออกนโยบายของประเทศสามารถพัฒนาก้าวกระโดดไปอีกระดับได้ หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากทั้งคนทำงานและสาธารณะ

Question 5

เคยได้ยินคำว่า Policy Lab ไหม คิดว่านวัตกรรมนี้คืออะไร?

Answer
เฉลย 3) ห้องปฏิบัติการที่เอาไว้ใช้สำหรับออกแบบและทดลองนโยบายก่อนใช้จริง
Description

Policy Lab คือนวัตกรรมนโบายซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึง และปรับใช้กันในหลายประเทศ ถ้าหากเปรียบเทียบอย่างง่าย Policy Lab เหมือนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ระดับประเทศ สามารถนำผลที่ได้จากการทดลองมาปรับใช้จริงเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะที่ดี

ขั้นตอนโดยทั่วไปของ Policy Lab ก็คือ วิเคราะห์ปัญหาเพื่อให้เข้าใจโจทย์ > ลงไปทำความเข้าใจที่มาของปัญหาทั้งต่อบุคคลและต่อสังคม > ระดมความคิดเพื่อสร้างนโยบายใหม่ให้แก้ปัญหาตรงจุด > ทดสอบนโยบายกับคนจริงๆ ก่อนนำไปใช้กับทุกคน

บางคนอาจรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หัวใจสำคัญของ Policy Lab ก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ในหนึ่งนโยบายอาจมีหลายหน่วยงานทั้งราชการ และเอกชนมาร่วมเสนอมุมมอง และวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ต้องเข้าไปสอบถามประชาชนให้เจอ Insight ไม่ใช่แค่การทำแบบสำรวจทั่วไป ก่อนออกนโยบายก็ต้องนำเสนอให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนว่าน่าจะเป็นประโยชน์จริงไหม หรือขั้นตอนพื้นที่ทดสอบ (Sandbox) ก็ต้องรับฟังทั้งข้อดี และข้อเสียจากผู้เข้าร่วมทุกคน

Policy Lab รื้อความคิดการออกแบบนโยบายจากคนส่วนน้อยเพื่อคนส่วนมาก ตามความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกยุคใหม่ โลกที่ให้ความสำคัญกับ User Experience (UX) มากขึ้น และวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ตอบสนองต่อความหลากหลายมิติวัฒนธรรม และแนวความคิดที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการส่งเสียงและแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชน

Thailand Policy Lab เชื่อมั่นในกระบวนการข้างต้น เราเชื่อมั่นในกระบวนการของ Policy Lab ที่ดำเนินการโดยมีนวัตกรรมเป็นฐาน และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระบวนการออกนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วมและครอบคลุมเท่านั้น จึงจะเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพได้

Question 6

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ข้อใดนิยามความเป็น Policy Lab ได้ดีที่สุด?

Answer
เฉลย ใช้ได้หมดเลยทุกข้อ
Description

วิกฤตการณ์โควิด - 19 เป็นตัวเร่งให้ทุกคนต้องปรับตัว โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงการทำงานในรูปแบบเดิมที่สร้างประโยชน์ได้น้อยลงหากไม่นำเอาความรู้ด้านดิจิทัลเข้าไปปรับใช้

องค์กรขนาดใหญ่ไม่สามารถแค่ทำความเข้าใจเรื่องดิจิทัลในระดับบนได้ แต่ต้องให้เวลากับบุคลากรในการปรับตัว ปรับ Mindset และปรับทักษะในการทำงานด้วย

Agile / Big Data / NextGen Work / Upskill / Reskill คำศัพท์เหล่านี้จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อโลกสมัยใหม่โดยเฉพาะในวงการสตาร์ทอัพ เพื่อแก้ไขปัญหาในการทำงานที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่นขนาดขององค์กรที่ใหญ่เกินความจำเป็น หรือบุคลากรที่มีทักษะจำกัด ตามโลกสมัยใหม่ไม่ทัน

ยกตัวอย่างเช่น หากกระทรวงการต่างประเทศต้องการสร้างนโยบายให้ชาวชาติสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ต้องประสานงานกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนเช่นนี้ สามารถใช้หลัก Agile (คล่องแคล่ว) เข้ามาทำงาน และทำแนวทางการทำงานให้เป็นแนวราบ (Flat) คนระดับปฏิบัติการสามารถออกความเห็นได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ผลงานที่มีคุณภาพและรวดเร็ว โดยแชร์ Big Data ชุดเดียวกัน และหาบุคลากรที่ถนัดเรื่องเฉพาะต่างๆ มาให้คำปรึกษา

การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน เช่นเดียวกับกระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะ ที่การเปลี่ยนแปลงย่อมต้องใช้เวลา แต่ขณะนี้กระแสธารแหล่งโลกสมัยใหม่ ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ และภาคส่วนต่างๆ ได้ไหล่บ่ามาพร้อมขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง นี่คงถึงเวลาแล้วเช่นกัน ที่เราจะออกวิ่งไปตามกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนวัฒนธรรมของการสร้างนโยบายให้ดีกว่าเดิม

มีหลายประเทศที่ก่อตั้ง ‘Policy Lab’ ขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกนโยบายให้สร้างสรรค์และมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง อย่างประเทศอังกฤษเองก็มี Policy Lab ที่เข้ามาทำหน้าที่เติมเต็มการออกนโยบายแบบดั้งเดิม ช่วยนำเสนอเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้การออกนโยบายมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น  Policy Lab ไม่ได้แค่เอาเครื่องมือใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีมาใช้ แต่พยายามปรับปรุงวัฒนธรรมและวิธีออกนโยบายทั้งกระบวนการ ซึ่งไปไกลกว่าเรื่องการใช้เทคโนโลยี 

Policy Lab ของอังกฤษเข้ามาตั้งคำถามแม้แต่ว่า “เราจำเป็นต้องมีการประชุมจริงๆหรือ?” การตั้งคำถามพื้นฐานเช่นนี้ช่วยกระตุ้นความคิดและชวนให้การประชุมหรือทรัพยากรเวลาที่ใช้ไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือในอีกกรณีหนึ่ง Policy Lab ของอังกฤษก็ชวนให้นำวิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) และการให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการออกแบบ (Co-design) มาทำความเข้าใจชีวิตจิตใจของมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังสถิติและตัวเลข เพื่อให้การออกนโยบายเข้าใจมนุษย์และมีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น แทนที่วิธีการออกนโยบายแบบเดิมๆ ทีอาจมองเห็นเพียงตัวเลขบนกระดาษ ในอีกกรณีหนึ่งก็มีการจัดเวิร์คช็อปให้เยาวชนมาเข้าร่วมออกแบบนโยบาย เพื่อให้นโยบายที่ออกมาเข้าใจเยาวชน อีกทั้งยังได้มุมมองและแนวคิดใหม่ๆ ที่คนที่ทำงานมานานอาจนึกไม่ถึง และนี่คือหนึ่งในไม่กี่ตัวอย่างการทำงานของ Policy Lab ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้ตั้งคำถาม ทดลอง และใช้วิธีการสร้างสรรค์เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด อันที่จริงในเมืองไทยมีหลายหน่วยงานที่เริ่มใช้กระบวนการ Policy Lab ไปบ้างแล้ว แม้ยังเป็นนวัตกรรมที่อยู่ในช่วงทดลอง แต่ก็ถือเป็นจุดรูปต้นที่ดีของกระบวนการสร้างนโยบาย

ทุกคนคงพอเริ่มเข้าใจแล้วว่านวัตกรรมนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้จากคนกลุ่มเดียว แต่คือความร่วมมือของทุกภาคส่วน กระจายอำนาจในการออกความคิด และตัดสินใจให้กับคนทุกระดับไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศนี้ก็ตาม เพื่อรวมพลังกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ถึงแม้ว่าวันนี้อาจจะล่าช้าไปบ้างหลายปี แต่ยังมีอนาคตของประเทศอีกมากที่รอคอยให้เราทุกคนนั้นสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พวกเขา

Thailand Policy Lab ก่อตั้งและดำเนินการด้วยความเชื่อเช่นนี้ เราเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างสภาพัฒน์กับ UNDP ตลอดจนการใช้นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกนโยบาย จะนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่เท่าเทียม มั่นคง และยั่งยืน 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top