Published: 14.12.2022

กรอบ (frame) ในการมองโลก

เราทุกคนมี “กรอบ” ในการมองโลกของตัวเอง และกรอบก็แตกต่างกันออกไปตามจุดยืนและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน เหมือนกับว่าเรามีเลนส์คนละเลนส์ บางคนอาจจะมีเลนส์ขยายมองใกล้ๆ บางคนอาจจะมีเลนส์สำหรับมองระยะไกลมาจากบนท้องฟ้า เรามองปัญหากันจากคนละมุม จึงอาจเห็นทางแก้คนละทาง 

สมมติว่าเรากำลังพยายามแก้ปัญหาประชากรเกิดน้อยลง และเอาไปคุยกับนักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ นี่อาจเป็นกรอบคำถามที่เกิดขึ้น

A: “แรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีลูกคืออะไร? เลี้ยงลูกหนึ่งคนต้องลงทุนเท่าไหร่? แล้วอัตราค่าครองชีพในประเทศเพียงพอให้คนมีครอบครัวไหม?”

B: “ลักษณะประชากรเป็นอย่างไร เพศ อายุ? ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมก็อาจส่งผลให้ผู้หญิงไม่อยากมีลูกได้เหมือนกันนะ”

พอจะทายได้ไหมว่า A และ B ประกอบอาชีพอะไร? ในที่นี่ A คือนักเศรษฐศาสตร์ ส่วน B คือนักสังคมศาสตร์ คนสองคนสามารถมองปัญหาเดียวได้แตกต่างออกไป เนื่องจากประสบการณ์ชีวิต และกรอบความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา

ลองเปลี่ยนกรอบในการมองปัญหา (reframe)

การเปลี่ยนหรือขยายกรอบการมอง หรือ การเปลี่ยนเลนส์การมองปัญหา (reframe) เป็นส่วนหนึ่งของ Portfolio Approach เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ เมื่อเราเปลี่ยนหรือขยายกรอบในการมองปัญหา หมายความว่าเรามองไปไกลกว่าแนวคิดเดิม เราพยายามหาหนทางใหม่ในการทำความเข้าใจปัญหา รวมไปถึง “หนทางใหม่ในการแก้ปัญหา” ด้วย  

การเปลี่ยนกรอบในการมองปัญหาไม่ใช่การค้นพบคำจำกัดความปัญหาที่สมบูรณ์แบบ แต่คือการค้นหาความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อปัญหา ซึ่งไม่ใช่การวิเคราะห์ปัญหา เพราะเราไม่ได้กำลังพยายามถามว่า “ทำไมจึงเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น?” แต่เรากำลังตั้งคำถามว่า เรากำลังแก้ปัญหาอะไร? เราควรแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่ปัญหาอื่นใช่ไหม? เราตั้งโจทย์กับปัญหาอย่างถูกต้องแล้วใช่ไหม?  คำถามทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้นก่อนเราจะวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา เป็นขั้นตอนที่เราพยายามมองปัญหาจากกรอบที่ใหญ่ขึ้นและแตกต่างออกไปจากเดิม 

บทความ Reframing — A Very Powerful Tool for Problem Solving ยกตัวอย่างการเปลี่ยนกรอบการมองปัญหาจากปัญหาลิฟต์เก่าและช้า 

ปัญหา: ลิฟต์ที่ตึกช้าเกินไป ผู้เช่าตึกต่างก็บ่นเป็นเสียงเดียวกัน บางออฟฟิศในตึกถึงขั้นบอกว่า ถ้าไม่แก้ปัญหานี้ ก็จะย้ายออก ไม่เช่าต่อแล้วนะ 

หากเรามองปัญหานี้จากกรอบปัญหาปกติ เราก็คงคิดว่าต้องแก้ปัญหาตามนี้: 

  • ทำให้ลิฟต์ไวขึ้น
  • หาลิฟต์ตัวใหม่มาแทนตัวเก่า
  • เปลี่ยนระบบลิฟต์ให้ไวขึ้น

แต่นั่นคือการมองปัญหาที่ดีที่สุด หรือประหยัดสำหรับเจ้าของตึกแล้วหรือเปล่า? 

เปลี่ยนกรอบแนวคิด: 

  • ทุกออฟฟิศในตึกพักเที่ยงเวลาเดียวกันนี่น่า เราขอให้บริษัทต่างๆ ขยับเวลาพักเที่ยงให้ไม่ตรงกันได้ไหม?
  • เราทำให้การรอลิฟต์เป็นประสบการณ์ที่ดีขึ้นได้ไหม? เช่นมีโซฟาให้คนนั่งพัก เปิดเพลงให้ฟังระหว่างรอลิฟต์ 

ในกรณีนี้ โดยเฉพาะถ้าลิฟต์ของตึกยังใหม่ ใช้งานได้เป็นอย่างดี เพียงแต่มาช้าเท่านั้น การมองปัญหาในมุมที่แตกต่างออกไปจะช่วยแก้วิกฤตได้ แทนที่จะเสียเงินซื้อและติดตั้งลิฟต์ใหม่เสียทั้งหมด การเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาว่า ปัญหาอาจไม่ใช่ “ลิฟต์ที่มาช้า” แต่คือ “ประสบการณ์ในการรอลิฟต์” ดังนั้นการเปลี่ยนช่วงเวลาพักกลางวันของแต่ละบริษัท และสร้างบรรยากาศการรอลิฟต์ให้รื่นรมย์ สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ไปได้เลย ทั้งหมดนี้เกิดจากการมองปัญหาในมุมที่แตกต่างออกไป แทนที่จะมองว่าปัญหาอยู่ที่ตัวลิฟต์ แต่หันมามองว่าปัญหาอยู่ที่การที่คนต้องรอนาน และไม่มีอะไรให้ทำระหว่างรอต่างหาก 

แหกกรอบการมองโลกด้วยกระบวนการทำซ้ำ

กระบวนการเปลี่ยนกรอบแนวคิดการมองปัญหา เป็นกระบวนการที่เราต้องทำซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อเปลี่ยนกรอบแนวคิดของคนที่เกี่ยวข้อง ให้พวกเขาค่อยๆ ตั้งคำถามในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม กระบวนการ reframing ที่ต้องทำซ้ำไปเรื่อยๆ ตลอดกระบวนการแก้ปัญหา มี 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

  1. กำหนดกรอบปัญหา (frame): จำกัดความปัญหาที่เราพยายามแก้
  1. เปลี่ยนกรอบการมองปัญหา (reframe): พิจารณาปัญหาในมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยลองวิธีการดังต่อไปนี้
    • มองออกไปนอกกรอบเดิม: ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ในกรอบแต่แรก เราต้องลองมองออกไปนอกกรอบ บางทีที่เราเปิดไฟไม่ติดก็ไม่ได้เป็นเพราะหลอดไฟตรงหน้า แต่เป็นที่สายไฟใต้ดินต่างห่าง 
    • มองหาคนที่เชี่ยวชาญไม่เหมือนเรา: ถ้าปกติเราใช้สายตานักเศรษฐศาสตร์มองปัญหา ลองไปคุยกับนักมานุษยวิทยา หรือคนที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือพื้นเพที่แตกต่างออกไป เพื่อให้ได้มุมมองที่กว้างไกลไปกว่าตัวเรา 
    • มองหาแสงสว่าง (bright spots): ลองศึกษาสังคมหรือชุมชนที่ไม่ได้มีปัญหาหนักเท่าเรา หรือมีปัญหาไม่เหมือนกับเราเลย เพราะนั่นคือที่ที่เราสามารถเรียนรู้ได้ว่า พวกเขาทำอย่างไรจึงไม่เกิดปัญหาแบบเรา
    • มองเข้าไปในกระจก: อย่าลืมสำรวจตัวเองให้ดี บางทีปัญหาอาจเกิดจากตัวเรา 
  1. เดินไปข้างหน้า: มองหาทางแก้ให้กับปัญหา หลังจากที่เราเปลี่ยนกรอบการมองมาแล้ว 

    การเปลี่ยนกรอบแนวคิดเป็นกระบวนการที่เราทำซ้ำไปได้เรื่อยๆ ตลอดการพยายามแก้ปัญหาใดๆ เพราะมันช่วยให้เรามองปัญหาได้ตรงจุดขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักนโยบายที่ต้องแก้ปัญหามากมายในโลกอันซับซ้อน การเปลี่ยนกรอบแนวคิดช่วยให้มี “ทางเลือกของโจทย์ปัญหามากขึ้น” และย่อมทำให้มี “ทางเลือกในการแก้ปัญหา” มากขึ้นเช่นกัน  

    ดาวน์โหลดแบบฝึกหัด

    อ่าน Portfolio Approach 101: คิด “เชิงระบบ” เพื่อ “เปลี่ยนแปลงระบบ”

    ที่มา:

    https://www.undp.org/sites/g/files/zskgke326/files/2022-03/UNDP-RBAP-System-Change-A-Guidebook-for-Adopting-Portfolio-Approaches-2022.pdf

    https://feelinspired.medium.com/a-very-powerful-tool-for-problem-solving-reframing-9141863a40b1

    https://www.infoq.com/articles/problem-reframing-method/

    งานของเรา
    สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
    คลังความรู้
    เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
    ร่วมกับเรา
    ออกแบบนโยบายกับเรา
    Back to Top