Published: 04.01.2023

โดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงการทำวิจัยเชิงชาติพันธ์ุวรรณนา (ethnography) เรามักจะนึกถึงแต่งานมานุษยวิทยาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันการทำนโยบายสาธารณะได้ผสมผสานวิธีคิดจากศาสตร์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงชาติพันธ์ุวรรณนาด้วย

ในโลกที่เต็มไปด้วยประเด็นซับซ้อน เราไม่สามารถใช้สูตรตายตัว หรือสมการเพียงหนึ่งเดียวสำหรับจัดการปัญหา โดยเฉพาะเมื่อปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง สภาพสังคมเปลี่ยนไปอย่างไร ปัญหามักจะแปรผันตามอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งที่ชาติพันธุ์วรรณนาให้เราได้ในโลกที่ผันแปรไวคือ เลนส์สำหรับสังเกตและเข้าใจพฤติกรรมของผู้คน 

เราอาจจะระบุได้ว่าปัญหาคือ “อะไร” แต่เราเข้าใจหรือยังว่า “ทำไม” ปัญหาถึงเกิดขึ้น แล้ววิธีการแก้ปัญหาของเรามุ่งเน้นไปยังปลายเหตุอย่างเดียว หรือมันสามารถเปลี่ยนแปลงรากสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่แรกได้ด้วย?

แต่กระบวนการวิจัยเชิงชาติพันธ์ุวรรณนาเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและอาศัยเวลา เพราะเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ ที่จำเป็นต้องพูดคุยกับผู้คนมากมายและใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ด้วยเงื่อนไขการทำนโยบายที่มีข้อจำกัดด้านเวลาและและทรัพยากรอื่นๆ ชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วน (rapid ethnography) จึงถือกำเนิดขึ้น วิธีนี้ช่วยย่นระยะเวลาด้วยการสกัดข้อมูลที่เราต้องการจริงๆ แต่ก็ยังคงหัวใจของการศึกษาเชิงมานุษยวิทยาเอาไว้ 

“ชาติพันธุ์วรรณนาคือ การทำความเข้าใจมนุษย์และเงื่อนไขชีวิตของเขาโดยปราศจากการตัดสิน สิ่งนี้ช่วยดึงข้อมูลที่การวิจัยเชิงปริมาณทั่วไปหาไม่เจอ”

ชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วน–ทำอย่างไร?

ศูนย์นวัตกรรมประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก UNDP ได้ถอดบทเรียนจากการทำชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วนในเขตเมโทร มนิลา ในประเด็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดขยะ ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าสิ่งแรกที่ผู้วิจัยต้องมีคือ ethnographic mindset หรือการคิดแบบนักชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของ

  • การเปิดกว้างทางความคิด เน้นสังเกตมากกว่าตัดสินด้วยประสบการณ์ของเรา 
  • ผู้วิจัยต้องมีทักษะการสังเกต เพื่อจะได้รู้ตัวอยู่เสมอว่าสถานการณ์รอบข้างเป็นอย่างไร
  • เข้าใจความคิดและความรู้สึกของคู่สนทนาได้ เมื่อผู้วิจัยสามารถทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเชื่อมโยงได้ จะเกิดการแลกเปลี่ยนทรรศนะอย่างโปร่งใสและมีจริยธรรม 

สิ่งที่ทำให้การทำชาติพันธุ์วรรณนาแบบเร่งด่วนต่างจากการทำชาติพันธุ์วรรณนาทั่วๆ ไป คือ ระยะเวลา โดยทีมวิจัยของ UNDP ได้แนะนำให้ใช้เวลา 3 เดือนในการเตรียมการและดำเนินการ ซึ่งแบ่งเป็น

  • เตรียมการ (จัดตั้งทีมวิจัย คำถามสัมภาษณ์ พื้นที่วิจัย และรายชื่อกลุ่มคนที่ต้องสัมภาษณ์) 1 เดือน
  • ทำวิจัย 1 เดือน
  • วิเคราะห์ข้อมูล 1 เดือน

สำหรับจำนวนกลุ่มสัมภาษณ์ ทาง UNDP ระบุว่าการสัมภาษณ์ 10-15 กลุ่มคือจำนวนที่เหมาะสม เน้นทรรศนะที่หลากหลายและมาจากกลุ่มคนที่มักถูกมองข้าม ในการวิจัยในเขตเมโทร มนิลา ผู้วิจัยได้นัดสัมภาษณ์ทั้งสิ้น 23 ครั้ง แบ่งเป็นการสัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยในระดับครัวเรือน เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาสังคมและสตาร์ทอัพ ภาคธุรกิจ นักศึกษา และผู้ทำงานเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้เวลาสัมภาษณ์ 3 อาทิตย์

สิ่งสำคัญลำดับต่อมาคือ คำถามสัมภาษณ์ ที่ทำให้เราเข้าใจคู่สนทนามากขึ้น สามารถรู้ได้ว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร และทำไมถึงคิดอย่างนั้น (หรืออะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีทรรศนคติเช่นนั้น) ยกตัวอย่างเช่น 

ผู้ให้สัมภาษณ์มองปัญหาวิจัยของเราอย่างไร? 
– มองว่าสำคัญ/ไม่สำคัญหรือไม่ และอะไรทำให้คิดเช่นนั้น?
– ในสายตาของผู้ให้สัมภาษณ์ เขาเชื่อมโยงประเด็นวิจัยของเรากับประเด็นไหนอีกบ้าง หรือมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับเรื่องใด?
พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ให้สัมภาษณ์เป็นอย่างไร? (ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ UNDP พยายามค้นหาว่าผู้ให้– สัมภาษณ์มีพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคและรีไซเคิลอย่างไร) 
พฤติกรรมของเขามีผลกระทบเชิงบวก/ลบอย่างไร?
ทำไมถึงเลือกที่จะทำ/ไม่ทำสิ่งต่างๆ? (หาอุปสรรคและปัจจัยส่งเสริมพฤติกรรมต่างๆ)
– อะไรจะเป็นแรงจูงใจให้คนทำ/ไม่ทำสิ่งนั้น ?

เราจะเห็นได้ว่าคำถามเหล่านี้ไม่ได้รีบเร่งระบุว่าปัญหาคืออะไร หรือใครคือตัวการก่อปัญหา แต่ช่วยให้คนแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต สิ่งที่ตามมาคือ ผู้คนบอกเล่าเหตุผลเบื้องหลังการกระทำต่างๆ การชูทรรศนะของผู้คนเช่นนี้คือสิ่งที่ขาดหายไปจากงานวิจัยทั่วไป ซึ่งเน้นข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา หรือตีกรอบชี้ชัดลงไปเลยว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยด้านประชากรไทย เรามักจะให้ความสนใจกับอัตราการเกิดที่ต่ำ และมาตรการที่กระตุ้นอัตราภาวะเจริญพันธุ์ (เช่น นโยบายลูกสามคนของประเทศจีน) โดยมักอ้างกันว่าการที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้คนไม่นิยมแต่งงานและมีลูก 

แม้งานวิจัยต่างๆจะไม่ได้ประสงค์ร้าย แต่เมื่อเราอ้างว่า การทำงานนอกบ้านของผู้หญิง คือสาเหตุของ 

“ปัญหา” อาจเป็นการผลักภาระมาให้ผู้หญิง การตั้งกรอบ “ปัญหา/ทางแก้” ขึ้นมาแข็งๆ เช่นนี้ได้ปิดโอกาสในการถามผู้คนว่า “ทำไมพวกเขาถึงไม่ทำในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ?” ยกตัวอย่างเช่นขบวนการเฟมนิมิสต์ชื่อ “6B4T” ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน จุดยืนของเฟมินิสต์กลุ่มนี้คือ ต่อต้านระบบชายเป็นใหญ่  ปฏิเสธความคาดหวังที่สังคมมอบให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการบีบบังคับให้เป็นแม่และภรรยา ต้องยอมรับสถานะที่เป็นรองกว่าผู้ชาย ซึ่งกลุ่ม 6B4T มองว่าการแต่งงานที่พวกเขาเจอ เป็นการแต่งงานที่เกิดขึ้นในสังคมที่ลิดรอนอำนาจผู้หญิง 

และมองว่าการแต่งงานเป็นหนึ่งในกลไกทางสังคมที่ควบคุมผู้หญิงให้อยู่ในกรอบ ที่ถูกผูกไว้กับการมีลูก ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงในจีนบางส่วนจึงต่อต้านการให้กำเนิด

นอกจากนี้เรายังขาดโอกาสในการทบทวนกับตัวเองด้วยว่า “สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น เป็นปัญหาสำหรับคนอื่นหรือเปล่า?” เช่น เรามองว่าการไม่มีลูกคือปัญหา แต่เราได้คิดไหมว่า การมีครอบครัวในสังคมที่ขาดความเท่าเทียมทางเพศ และขาดกลไกส่งเสริมการเลี้ยงดูลูก ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสหรือส่งผลกระทบต่อผู้สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างไรบ้าง หากกลับไปดูงานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจให้คนมีลูก เราจะพบว่า “ปัจจัยด้านการเงินและเวลาที่มีจำกัด” คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนไม่มีลูก และแนวทางในการส่งเสริมอัตราภาวะเจริญพันธุ์สำคัญ คือเพิ่มสวัสดิการทางสังคม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เอื้อให้คนเลี้ยงลูกได้สะดวก ช่วยให้เด็กเติบโตโดยไร้ข้อติดขัดในชีวิต

มิติเศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งท่ามกลางมิติปัญหาต่างๆ เท่านั้น เรายังไม่ได้พูดถึงวัฒนธรรมและความเชื่อที่เปลี่ยนไปต่อการแต่งงาน 

เรายังไม่ได้พูดถึงภาวะพิการ สถานะพลเมือง ชาติพันธุ์ และชีวิตของผู้คนนอกบรรทัดฐานชาย/หญิง ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะมีลูกหรือไม่ ปัจจุบันเรายังมองประชากรในฐานะองคพายพก้อนใหญ่ๆ ไม่ใช่ปัจเจกหรือกลุ่มแยกย่อย ที่จริงๆ แล้วประกอบด้วยประสบการณ์ชีวิตนับล้าน มีสถานะทางสังคมต่างๆ ระคนกันไป มีอุปสรรคในชีวิตที่แตกต่างกัน 

ในระหว่างทางเรากำลังสาละวนอยู่กับการผลิตข้อมูลวิจัยและนโยบายต่างๆ โดยไม่รู้เลยว่ารายละเอียดแห่งชีวิตเหล่านี้ได้ตกหล่นไป ทำให้เกิดนโยบายในลักษณะบนลงล่าง และเกิดช่องว่างระหว่างผู้วางแผนนโยบายกับประชาชนผู้เป็นกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นการวางแผนนโยบายต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น และออกแบบนโยบายที่โอบรับความซับซ้อนนั้นได้ ไม่ใช่นโยบายที่เขยื้อนโลกไปในทิศทางที่ึคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องการ แต่ทิ้งผู้คนมากมายไว้เบื้องหลัง

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top