Published: 06.12.2022

“Portfolio Approach” คืออะไรกันนะ?

โลกปัจจุบันนี้แสนจะวุ่นวาย หันไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหาพัวพันกันอลหม่าน ไหนจะโรคระบาด ไหนจะสงคราม ไหนจะเศรษฐกิจถดถอย ไหนจะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ร้อยล้านปัญหาก็หมายถึงร้อยล้านทางแก้ ดังนั้นแล้วคนทำงานสังคมหรือนักนโยบายจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร จะต้องเริ่มจากตรงไหนท่ามกลางปัญหาและทางออกมากมายเหลือคณานับกันนะ?

“Portfolio Approach” คือคำตอบหนึ่งของโลกอันแสนวุ่นวาย Portfolio Approach คือวิธีคิดและเครื่องมือที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัญหาในสังคมปัจจุบันนั้นทั้งวุ่นวายและซับซ้อน ลองนึกถึงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ปัญหาที่เราเผชิญมักจะมีลักษณะดังนี้

  1. มีพลวัตหรือเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คาดเดาไม่ได้: เช่น ไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์เรื่อยๆ ซึ่งให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พัฒนาไปเรื่อยๆ เช่นกัน
  2. รากของปัญหาเกิดจากสังคมขาดฉันทามติ: เช่น สังคมเห็นไม่ตรงกันว่าเราควรให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ระหว่างการป้องกันโรค กับเศรษฐกิจ
  3. ไม่สามารถจำกัดความปัญหาได้ และทางแก้จึงหนีหายไปเรื่อยๆ: เหมือนว่าเราจะกำจัดเจ้าไวรัสได้แล้ว แต่มันก็กลับมาอีก สุดท้ายเราต้องอยู่กับมันยังไงกัน? 

ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ “แผ่ไปเป็นวงกว้าง และ เป็นปัญหาเชิงระบบ” ดังนั้นแล้วทางแก้จึงต้องแผ่ไปเป็นวงกว้าง และแก้ปัญหาเชิงระบบได้เช่นกัน “Portfolio Approach” คือแนวทางแก้ปัญหาที่ช่วยให้เราเห็นพลวัตของสิ่งต่างๆ ในสังคมที่ส่งผลต่อปัญหาที่เราเผชิญอยู่ วิธีการทำงาน หรือ วิธีวิทยาของ Portfolio Approach คือการพยายามพัฒนา / ทดสอบ / เรียนรู้ วนไปเรื่อยๆ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยช่วยให้เราโฟกัสกับทางแก้หลายช่องทางในเวลาเดียวกัน และช่วยให้เราเห็นหนทางการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมและส่งผลต่อระบบได้ในวงกว้างขึ้น

คิด “เชิงระบบ” เพื่อ “เปลี่ยนแปลงระบบ”

Portfolio Approach เป็นวิธีการที่ประกอบไปด้วยชุดเครื่องมือหลายอย่าง แต่ก่อนที่เราจะทำความรู้จักกับเครื่องมือเหล่านั้นในบทความถัดๆ ไป เราควรทำความเข้าใจแนวคิดซึ่งเป็นรากฐานของ Portfolio Approach เสียก่อน ซึ่งคือ “Systems Thinking” หรือ “ความคิดเชิงระบบ” 

ในการคิดเชิงระบบ จะมีมุมมองว่า:

  • ระบบหรือสิ่งต่างๆ ที่ดำเนินไปในสังคมต่างมีความเชื่อมโยงกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม 
  • ระบบเหล่านั้นไม่ได้ดำเนินไปแบบเป็นเส้นตรง (linear) คือไม่ได้เป็นไปตามสเต็ป 1-10 แบบที่เราอยากให้เป็น สาเหตุอาจไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์แบบที่เราคิด เพราะมีปัจจัยต่างๆ อีกมากมายมารบกวนการดำเนินไปของสิ่งต่างๆ 

แค่ผัดกะเพราราคาแพง ก็เป็นระบบ 

เพื่อให้เห็นภาพของระบบต่างๆ ในสังคมที่เชื่อมโยงกัน ลองนึกถึง “ผัดกะเพรา” ถึงแม้จะดูเป็นอาหารตามสั่งง่ายๆ ที่คนไทยชอบกินกัน แต่ผัดกะเพราก็โยงใยกับระบบอีกมากมาย เช่น

ข้าว = เกษตรกร, โรงสี, ระบบจัดการน้ำ, สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, ภาวะสงคราม ใบกะเพรา = เกษตรกร, ระบบจัดการน้ำ, สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไข่ = ฟาร์มไข่ไก่, โรคระบาดในปศุสัตว์, การผูกขาดการเลี้ยงไก่น้ำปลา = ….อื่นๆ = ….

ลองดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกะเพราแค่จานเดียว จะพบความเชื่อมโยงกันมากมายในระบบ สมมติว่าหากเกิดสงครามพร้อมกับภาวะโลกร้อน เกษตรกรผลิตข้าวได้ยากขึ้น ราคาข้าวสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้ราคากะเพราหนึ่งจานสูงขึ้น ยังไม่นับว่าหากมีการผูกขาดการผลิตไข่ไก่ในประเทศ ราคาไข่ดาวก็อาจส่งผลให้กระเพรา (ไข่ดาว) ของเราราคาสูงขึ้นได้อีก… จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะควบคุมราคากะเพรา เพราะเราต้องคิดถึง “ระบบทั้งหลายที่โยงใยกับผัดกะเพรา” และเมื่อมองเห็นทั้งระบบ เราจะเห็นจุดที่เราเข้าไปแทรกแซง ที่สามารถออกนโยบายได้ ซึ่งอาจมีหลายจุด และแต่ละจุดอาจสร้างผลกระทบในวงกว้างที่แตกต่างกันไป

ดังนั้นการแก้ปัญหา จึงต้องคิดเชิงระบบ เพราะถ้าเราแก้ปัญหาโดยไม่นึกถึงระบบ และเราคิดว่า การตัดสินใจลำดับที่ 1 นำไปสู่ผลลัพธ์ลำดับที่ 2 แต่จริงๆ แล้วมันอาจนำไปสู่ ‘cascading effects’ หรือผลกระทบทางลบที่เราไม่ได้คาดการณ์เอาไว้ เช่น เกิดโรคไข้หวัดนก ส่งผลให้ราคาไข่ไก่สูงขึ้น รัฐจึงออกนโยบายจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรที่สูญเสียผลผลิต แต่เมื่อโรคระบาดเบาบางลง ราคาไข่ไก่กลับไม่ลดลงตาม เพราะเกษตรกรรายย่อยไม่มีเงินทุนเหลือมากพอที่จะมาลงทุนเลี้ยงไก่ต่อ เหลือเพียงแต่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่ตรึงราคาไข่เอาไว้ ราคาผัดกะเพราจึงสูงขึ้นตามไปด้วย ในกรณีเช่นนี้ นักนโยบายควรคิดนโยบายที่ครอบคลุมขึ้น เช่น ในการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย อาจต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการกลับมาลงทุนเลี้ยงไก่ หลังจากไก่ทั้งฟาร์มตายไปเพราะโรคระบาด เป็นต้น

คิด “เป็นระบบ” เพื่อ “เปลี่ยนแปลงระบบ” 

การคิดเชิงระบบ = การประเมินความซับซ้อนของระบบ การวิเคราะห์พลวัตของระบบนั้นๆ และการตัดสินใจให้เกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุด การคิดเชิงระบบจึงเป็นการสำรวจว่าสิ่งต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน มันคือการมองหาความเป็นไปได้และความเกี่ยวโยงของสิ่งต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากข้อมูลที่อยู่ตรงหน้า หรือว่าความรับรู้โดยทั่วไป 

ดังนั้นการแก้ปัญหาใดก็ตาม ต้องมองภาพรวมทั้งระบบ เพราะการคิดเชิงระบบช่วยให้แก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพ ตรงจุดมากขึ้น และส่งผลและแรงกระเพื่อมทั้งระบบได้ การคิดและจินตนาการไปไกลกว่าสิ่งที่ตาเห็นเช่นนี้คือพื้นฐานของ Portfolio Approach เครื่องมือและวิธีคิดที่เราจะสำรวจและเรียนรู้กันต่อไป 

ที่มา:

https://www.undp.org/sites/g/files/zskgke326/files/2022-03/UNDP-RBAP-System-Change-A-Guidebook-for-Adopting-Portfolio-Approaches-2022.pdf
งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top