Event

นวัตกรรมเพื่อมองเห็นอนาคตและเข้าถึงสังคม: TIJ ร่วมกับ Thailand Policy Lab ส่งต่อความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับผู้สอนในมหาวิทยาลัย

รายละเอียดอีเวนต์
  • LOCATION: Online Conference
  • DATE: Friday, 23/07/2021 - Saturday, 24/07/2021
  • TIME: ทั้งวัน
  • Status: Close

ในยุคโควิด-19 ที่โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ‘นวัตกรรม’ ได้ถูกหลายภาคส่วนดึงมาใช้เพื่อคิดและมองไปยังอนาคต และค้นคิดวิธีการแก้ปัญหาหรือนโยบายที่ตอบโจทย์ ครอบคลุม และเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

‘นวัตกรรม’ ไม่ใช่แค่เพียงเทคโนโลยี แต่นวัตกรรมคือไอเดีย กรอบความคิด จนถึงวิธีการและเครื่องมือใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทำให้เราแก้ปัญหา หรือก้าวผ่านความท้าทายได้ดีขึ้น

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice) ร่วมกับ Thailand Policy Lab ความริเริ่มด้านห้องปฏิบัติการด้านนโยบาย ซึ่งก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดกิจกรรม “ส่งต่อความรู้ด้านนวัตกรรม: การฝึกอบรมเครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายและความยุติธรรมสำหรับผู้สอน” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านนวัตกรรม จนถึงแนวคิดและวิธีการสอนระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้อาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยส่งต่อความรู้และทักษะไปยังนักศึกษา และส่งผลให้เกิดสังคมแห่งนวัตกรขึ้นในประเทศไทย

ภายในกิจกรรม คุณสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาประจำสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ถ่ายทอดมุมมองในฐานะคนที่ทำงานด้านนโยบายมาหลายปีว่ากระบวนการออกแบบและสร้างนโยบายจำเป็นมีส่วนร่วมจากสาธารณชน เพื่อให้ได้นโยบายที่เข้าใจผู้ที่ประสบปัญหาอย่างแท้จริง 

ขณะที่คุณเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ตอกย้ำให้ประเทศไทยต้องเข้าใจว่านโยบายอะไรที่ประเทศต้องการ และจะสร้างนโยบายให้แก้ไขปัญหาที่เยาวชนเผชิญได้อย่างไร เช่นเดียวกับคุณอณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการประจำสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ที่เน้นย้ำการเข้าใจบริบทของสังคม เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนโยบายและด้านยุติธรรมสามารถปรับตัวทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป 

‘นวัตกรรมกับด้านความยุติธรรมและนโยบาย เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น’ 

ในกิจกรรมส่งต่อความรู้ครั้งนี้ สถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทยและ Thailand Policy Lab ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมจากหลากหลายสาขามาแบ่งปันความรู้  

ในด้านของความยุติธรรมและนโยบาย คุณปริชา ดวงทวีทรัพย์ อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้นำนวัตกรรมอย่างกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการคิดเชิงอนาคต (Future Thinking) มาใช้กับการมองเรื่องความยุติธรรมให้เข้าใจบริบทของปัญหาอย่างลึกซึ้งขึ้น และให้ผู้ออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาไม่นำตัวเองเป็นศูนย์กลางของปัญหา ไปจนถึงการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้คนที่ทำงานด้านยุติธรรมหรือด้านที่เกี่ยวข้องสามารถปรับตัวได้ทัน 

ขณะที่ด้านของการออกแบบนโยบาย ซึ่งเป็นงานหลักของ Thailand Policy Lab ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการคิดเชิงระบบ (System Thinking) มาปรับใช้ให้นักศึกษาหรือผู้ออกแบบนโยบายสามารถถอดความเข้าใจของปัญหาได้ในเชิงระบบ ก่อนจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายได้อย่างครอบคลุม เช่นเดียวกับผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุศบงก์ รองผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มองว่าในโลกปัจจุบัน ทุกคนสามารถเป็นผู้ออกแบบนโยบายได้ (Policy Designer) อีกทั้งนำเสนอว่า การออกแบบนโยบายควรเป็นมากกว่าแค่การระบุปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา แต่ต้องเป็นนโยบายที่จุดประกายความหวังและต่อสู้กับความกลัวได้ 

ซึ่งการนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับความยุติธรรมและการออกแบบนโยบาย นอกจากจะช่วยให้เข้าใจปัญหาได้อย่างครอบคลุมแล้ว ยังช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบายและผู้ทำงานด้านความยุติธรรมสามารถออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างเข้าอกเข้าใจผู้ที่ประสบปัญหาอยู่ได้อย่างลึกซึ้ง 

 ‘การคิดและมองเห็นอนาคต เพื่อรับมือกับปัญหาอย่างเท่าทัน’ 

ในกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่ถูกนำมาแลกเปลี่ยนแล้ว การคาดการณ์อนาคต (Foresight) เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในหลากหลายสาขาวิชา ตั้งแต่การการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ จนถึงการออกแบบและพัฒนาเมือง 

ในสาขาวิชาการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ผศ.ดร.สิพิมพ์ ศรบัลลังก์ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และคุณวศิน ปั้นทอง อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเครื่องมืออย่างการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศออกมาเป็นหลายๆ สถานการณ์ เพื่อให้นักศึกษาที่ต่อไปอาจเป็นผู้ทำงานในสายนี้สามารถออกแบบนโยบายที่เท่าทันอนาคต 

ขณะที่ในด้านการออกแบบและพัฒนาเมืองคุณว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาใช้ควบคู่กับการจำลองบุคลิกลักษณะ (Persona) ของผู้ใช้นโยบาย หรือคนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในเมือง เพื่อให้เข้าใจพลวัตของเมืองมากขึ้นว่าคนแต่กลุ่มมีความคาดหวัง หรือเผชิญกับปัญหาแตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะออกแบบและพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ 

 ‘ธุรกิจในยุค New Normal ต้องมีแผนระยะยาว’ 

นอกจากภาคสังคมและนโยบายแล้ว ผศ.ดร.กุลเชษฐ์ มงคล อาจารย์คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ได้พูดถึงความจำเป็นของการการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ในภาคธุรกิจว่า ผู้บริหารยุคใหม่ไม่สามารถวางแผนธุรกิจแค่เพียง 2-3 ปีได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องมีแผนระยะสั้น กลาง และยาว และต้องมองไกลกว่าแค่เรื่องของบริษัทตัวเอง แต่จำเป็นต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อมีแผนธุรกิจที่รัดกุมและรอบคอบ โดยผู้บริหารสามารถวางแผนธุรกิจที่ตั้งอยู่บนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) ซึ่งผศ.ดร.กุลเชษฐ์ ได้นำเสนอ 5 มิติที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นฐานในการมองความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ 1.สังคมและวัฒนธรรม 2.เทคโนโลยี  3.เศรษฐกิจ 4.สิ่งแวดล้อม และ 5.การเมืองและกฎหมาย 

 ‘ไอเดียที่ดี คือไอเดียที่ทำ เพราะการทดลองคือสิ่งสำคัญ’ 

เมื่อนวัตกรรมคือไอเดีย กรอบความคิด หรือวิธีการใหม่ๆ ดังนั้นนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งที่อาจไม่มีใครเคยนำมาใช้ ความผิดพลาดในการนำนวัตกรรมมาใช้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่คุณญัฐพล ราธี Head of Experimentation ของ Accelerator Lab ประจำโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย (UNDP Thailand) ได้เสนอมุมมองในกิจกรรมส่งต่อความรู้ว่า ในการลองทำสิ่งใหม่ๆ นั้น การทดลองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้เรารู้โดยเร็วที่สุดว่าไอเดียของเราใช้ได้จริงหรือไม่ ดังนั้นนวัตกรไม่ควรกลัวผิดในการลองใช้ไอเดียใหม่ๆ เพราะสิ่งที่สำคัญคือกระบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับไอเดียใหม่ๆ ให้ใช้ได้จริง 

คุณณัฐพลมองว่า การทดลองยังสำคัญกับคนทำธุรกิจ Start-Up เพราะว่าธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมักมีแผนการที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องดำเนินธุรกิจอย่างไร แต่คนทำ Start-Up ที่ตั้งใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการทดลองไอเดียเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด 

นอกจากนี้คุณณัฐพลยังพูดถึงในมิติการทำนโยบายหรือการคิดค้นแนวทางการแก้ปัญหาว่า บางครั้งแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีอาจไม่ได้มาจากหน่วยงานที่กำหนดนโยบายเท่านั้น แต่หลายๆ ครั้งคนในชุมชนเองมีแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ใช้กันอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่านวัตกรรมจากรากหญ้า (Grassroots Innovation) ที่คนออกแบบนโยบายจำเป็นต้องเข้าไปสำรวจและทำความเข้าใจนวัตกรรมในพื้นที่ด้วย 

สถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และ Thailand Policy Lab ต้องการจะจัดกิจกรรมส่งต่อความรู้ด้านนวัตกรรมอีกเรื่อยๆ เพื่อทำให้เกิดสังคมแห่งนวัตกรขึ้นในประเทศไทย หากสถาบัน องค์กร หรือท่านใดสนใจความรู้เกี่ยวกับด้านนวัตกรรมและนโยบาย สามารถติดต่อ Thailand Policy Lab ได้ทาง [email protected] 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top