บทความ / การพัฒนาเมือง, เทคโนโลยี
Published: 26.07.2022

เอากุญแจมาเปิดประตูสวนสาธารณะให้หน่อย! ซ่อมผิวถนนที่ขรุขระ! เก็บสายไฟที่ยุ่งเหยิง! นี่เป็นตัวอย่างคำร้องเรียนที่เราพบเจอจากกระแสการใช้แพลตฟอร์ม ‘Traffy Fondue’  หากรับฟังดีๆ ทั้งหมดทั้งมวลสะท้อนความตื่นตัวอยากดูแลเมือง อยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ไม่ปลงตกเฉื่อยชาแล้วหันไปใช้ชีวิตตามลำพัง 

ท่าทีของผู้คนในการใช้แอปพลิเคชัน Traffy Fondue สอดคล้องกับงานวิจัยเมื่อปี 2019 ซึ่งพบว่าเทคโนโลยีช่วยลดช่องว่างระหว่างรัฐและประชาชน และเอื้อให้ทั้งสองฝั่งสื่อสารกันราบรื่น อย่างเช่นที่เมืองลินซ์ (Linz) ประเทศออสเตรีย หน่วยงานรัฐท้องถิ่นได้เปิดแพลตฟอร์มชื่อ “MyLinz” เพื่อระดมพลังสมองจากประชาชนในการพัฒนาเมือง หลังจากเปิดใช้งานแพลตฟอร์มนี้แล้ว มีประชาชนสะท้อนว่า ข้อมูลจากภาครัฐเข้าถึงคนมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น เนื่องจากไม่ต้องผ่านกระบวนการราชการที่ซับซ้อน และคนทั่วไปมีช่องทางให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของภาครัฐ ทำให้คนเชื่อมั่นในภาครัฐมากขึ้น อยากมีส่วนร่วม และพูดคุยกันเรื่องทิศทางการเติบโตของเมืองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากดูดีๆ ข้อเรียกร้องของประชาชนไม่ได้มีแต่สิ่งที่เกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นวัตถุไร้ลมหายใจ แต่ยังคาบเกี่ยวกับมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่อยู่ในสถานะสังคม-เศรษฐกิจที่เพี่ยงพล้ำ ซึ่งสะท้อนผ่านคำร้องเรียน เช่น “ช่วยเอาผู้ค้าแผงเร่หาบลอยออกไปจากถนนที” หรือ “ช่วยกำจัดเครื่องนอนและทรัพย์สินต่างๆ ที่คนไร้บ้านวางทิ้งไว้หน่อย” 

ความเหลื่อมล้ำเก่าๆ อาจถูกผลิตซ้ำโดยเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทีได้

แน่นอนว่า ประเทศไทยไม่ใช่ที่เดียวที่ใช้เทคโนโลยีกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเป็นเจ้าของเมือง หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีกลายเป็นดาบสองคม บทความนี้จึงขอเชิญผู้อ่านตามมาดูบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ว่าในการใช้เทคโนโลยีให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม มี Do และ Don’t อย่างไรบ้าง

เทคโนโลยีก้าวหน้า คนยากจนโดนทิ้งไว้ข้างหลัง: กรณีศึกษาฟิลิปปินส์และอเมริกา

E-government ประเทศฟิลิปปินส์

ประเทศฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลก หน่วยงานรัฐท้องถิ่นและภาคประชาสังคมจึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในแง่ต่างๆ ไล่ตั้งแต่การใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสจนไปถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น 

  • รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี Benigno Aquino III (2010-2016) สร้างแพลตฟอร์ม “Check My School” ให้ประชาชนเข้ามาดูว่าโรงเรียนต่างๆ มีจำนวนนักเรียนกี่คน และเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนแล้ว การใช้งบประมาณลงทุนกับทรัพยากรสมเหตุสมผลไหม โดยจุดประสงค์ของแพลตฟอร์มนี้คือ การให้ประชาชนเข้ามาจับตาการใช้งบประมาณที่ตุกติกได้
  • ในจังหวัด Palawan ธุรกิจสกัดทรัพยากรธรรมชาติมีปัญหาเรื่องการลักลอบตัดไม้ ทำสัมปทานเหมืองในพื้นที่หวงห้าม และการติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทำลายหลักฐานเกี่ยวกับธุรกิจเหล่านี้ ชุมชนบนเกาะ Palawan และองค์กรไม่แสวงหากำไรท้องถิ่นจึงถ่ายรูปหลักฐานที่มีอยู่ จากนั้นใช้ระบบ ​GPS และ GIS เพื่อฝังพิกัดที่เกิดเหตุและเวลาที่ถ่ายรูปลงไปในรูปถ่าย รูปภาพเหล่านั้นจึงเป็นหลักฐานที่ใช้สู้คดีได้ แทนที่หลักฐานอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐลอบทำลาย

อย่างไรก็ตาม ถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีจะมีบทบาทในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ แต่ไม่ใช่ทุกโครงการการมีส่วนร่วมผ่านเทคโนโลยีจะประสบความสำเร็จ และไม่ใช่ทุกคนจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลไม่ครอบคลุมทุกคน งานวิจัยโดย Tony Roberts และ  Kevin Hernandez (2017) ระบุว่ามีประชากรถึง 21.5% ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มี 3G โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยบนเกาะซึ่งขาดสัญญาณโทรคมนาคม ส่วนสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ไร้ความเสถียร จนผู้คนต้องเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อไปจุดที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต 

อย่างไรก็ตาม บทสนทนาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีต้องไปไกลกว่า “ใครเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้าง?” เพราะสัญญาณแห่งความยากจนไม่ได้มีแต่ภาวะขาดแคลน  Roberts และ  Hernandez แนะให้นำกรอบ “5A” มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ดังนี้

  • Availability หรือ วิธีที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และแหล่งที่มาของอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (เช่น เข้าถึงได้สะดวกมากน้อยเพียงใด พึ่งพาไวไฟส่วนบุคคลหรือสาธารณะ) 
  • Affordability หรือ คุณภาพของอุปกรณ์เทคโนโลยีในประจำวัน อาทิ สมาร์ทโฟน และความแรงกับความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยคุณสมบัติเหล่านี้แปรผันตามราคา 
  • Awareness หรือ ความตื่นตัว รู้ว่ามีเทคโนโลยีที่สนับสนุนสิทธิพลเรือน เข้าถึงข่าวสารบนพื้นที่ออนไลน์ได้
  • Abilities หรือความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้โดยคล่องแคล่ว ไม่รู้สึกประหม่าหรือต่อต้าน 
  • Accessibility หรือรูปแบบของแพลตฟอร์มที่ไม่กีดกันผู้คนออกไป เช่น คำนึงถึงข้อจำกัดทางสุขภาพร่างกายของผู้ใช้ มีภาษาที่หลากหลาย

เนื่องจากเงื่อนไขเหล่านี้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ผลตอบรับเทคโนโลยีในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม “Check My Barangay” (ตรวจสอบหมู่บ้านของฉัน) เปิดให้ประชาชนเลือกว่าจะสนับสนุนโครงการพัฒนาท้องถิ่นโครงการใดบ้าง ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ในช่วงแรกหลังจากเปิดตัว พบว่ามีคนเข้ามาใช้งานต่ำกว่าความคาดหมาย เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากไม่ใช้สมาร์ทโฟนและไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำต้องเช่ารถเครื่องเสียงและเข้าไปป่าวประกาศเชิญชวนให้คนร่วมกันใช้แพลตฟอร์มนี้ถึงในพื้นที่ ไม่ใช่แค่ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ออนไลน์เท่านั้น

แพลตฟอร์มร้องเรียนโดยประชาชน ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อข้ามมาฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกา เราจะพบ “SeeClickFix” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในลักษณะบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service) กล่าวคือ ประชาชนในแต่ละเมืองจะเข้ามาช่วยปักหมุดพื้นที่ที่ต้องการให้แก้ไข ส่วนหน่วยงานรัฐเองก็รับเรื่องไปจัดการต่อ

Erhardt Graeff นักออกแบบเทคโนโลยีภาคประชาชน (civic technologist) ระบุว่า จุดเด่นของ SeeClickFix คือกลุ่มผู้ดีไซน์แพลตฟอร์มเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และทำงานด้านการให้บริการทางสังคม เช่น เป็นนักวิชาการด้านศาสนาและจริยธรรม หรือรับผิดชอบโครงการ YMCA ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับเยาวชนและการบริหารจัดการรัฐ  อย่างไรก็ตาม เลนส์ทางสังคมไม่ได้การันตีว่าโครงการนั้นจะรับใช้ทุกคนในสังคมได้ เมื่อ Graeff ลองวิจัยเรื่องกลุ่มประชากรผู้ใช้ SeeClickFix กลับพบว่า ผู้ใช้ส่วนมากเป็นชายวัยกลางคนขึ้นไป และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ

ตัวอย่างทั้งสองนี้ทำให้เราเห็นว่า โลกออนไลน์ที่ดูไร้พรมแดนหรือกำแพงขวางกั้น จริงๆ แล้วยังไปไม่พ้นความเหลื่อมล้ำทางสังคม หากเราไม่ย้อนกลับไปดูว่าใครถูกทิ้งไว้นอกกรอบ (สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์) ไม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจนอินเทอร์เน็ตเป็นของทุกคนจริงๆ และละเลยการลงพื้นที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในแบบ “ออฟไลน์” เทคโนโลยีก็ไม่อาจสะท้อนเสียงของทุกคนได้ และอาจผลักไสคนยากจนออกไปวงนอกกว่าเดิมเสียอีก

 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top