บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 11.04.2023

เรารู้กันดีว่าในช่วงเวลาสี่ปี มีรัฐบาลบริหารประเทศไทยได้เพียงชุดเดียวเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม ธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการบ้านเมืองนั้นปะปนไปด้วยหลักการหลายชุดในเวลาเดียวกัน ประวัติศาสตร์ของนโยบายสาธารณะแสดงให้เราเห็นว่ารูปแบบหรือโมเดลการบริหารจัดการกิจการสาธารณะ (public administration) นั้นพัฒนาอยู่เสมอ บางโมเดลเป็นระบบแข็งทื่อ มีลำดับชั้นชัดเจน บางโมเดลยึดประสิทธิภาพ หรือ “การบริหารแบบภาคธุรกิจ” เป็นหลัก โมเดลการบริหารแต่ละแบบก็มีจุดประสงค์และแนวคิดว่าด้วยผลประโยชน์สาธารณะที่แตกต่างกันไป เรามารีวิวย้อนดูโมเดลการบริการจัดการรัฐในแต่ละยุคผ่านการจินตนาการถึงสถานการณ์ในบ้าน 5 หลังต่อไปนี้กัน

  • บ้านอำนาจนิยมยุคโบราณกาล (การบริหารจัดการกิจการสาธารณะในยุคโบราณ)

ในบ้านหลังนี้ ผู้ปกครองนั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ และนั่งอยู่ที่เดิมมาเป็นเวลานานแสนนานแล้ว ก่อนที่บ้านจะถูกสร้างขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ อำนาจในการบริหารจัดการและสะสางกิจเป็นของผู้ปกครองคนเดียว สิ่งที่ผู้ปกครองทำคือควบคุมความสงบเรียบร้อยและรักษาอำนาจของตนเอาไว้จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้สืบทอดอำนาจต่อเพื่อให้อำนาจของตนแข็งแกร่ง ผู้ปกครองจะควบคุมผู้คนด้วยความกลัว ซึ่งมักปลูกฝังให้ผู้คนเชื่อฟังและจงรักภักดี และเพราะว่ากฎในบ้านถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนอำนาจของผู้ปกครอง ความต้องการของคนอื่นๆ ในบ้านจึงมักไม่ได้รับความใส่ใจจริงจัง หากว่าผู้ปกครองเมตตา คนในบ้านก็จะมีน้ำดื่ม มีไฟฟ้าใช้ มีหลังคาคุ้มหัว แต่อาจจะไม่ได้รับอะไรมากไปกว่านี้

  • บ้านสำนักงาน (การบริหารจัดการกิจการสาธารณะแบบดั้งเดิม)

เมื่อบ้านเผด็จการยุคโบราณกาล ที่มีแค่คนเดียวเป็ยศูนย์กลางของทุกอย่างถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถได้รับการยอมรับจากประชาชนเสมอไป ยุคสมัยจึงเดินทางมาถึงบ้านที่เน้นการบริหารที่เป็นขั้นเป็นต้อน หรือบ้านแห่งระบบราชการที่ดำเนินไปด้วยลำดับชั้นและขั้นตอนอันแสนซับซ้อน ผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนี้มีสิทธิในการโหวตและมีสิทธิในความต้องการพื้นฐาน (เช่น ที่อยู่ อาหาร การรักษาพยาบาล)

บ้านสำนักงานแห่งนี้ปกครองด้วยนิติธรรม ที่ช่วยยืนยันว่าคนทุกคนมีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย 

ผู้คนในบ้านหลังนี้เชื่อว่าวิถีทางที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการบ้าน คือการตามหายาวิเศษครอบจักรวาลที่จะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ไม่ว่าปัญหานั้นจะซับซ้อนเพียงใดก็ตาม ขอเพียงแค่ทำตามกฎ สิ่งร้ายก็จะกลายเป็นดี ซึ่งแนวคิดนี้อาจใช้ไม่ได้แล้วในโลกปัจจุบัน

  • บ้านบริหารแนวใหม่ (การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ หรือ New Public Management)

และเมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก การบริหารจัดการภาครัฐจึงได้เริ่มพัฒนาเป็น ‘บ้านบริหารแนวใหม่’

เตรียมใจให้พร้อม บ้านหลังนี้คือบ้านแห่งประสิทธิภาพและการแข่งขัน! เสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) คือปรัชญาหลังบ้าน บ้านจึงกลายเป็นบริษัทที่คิดถึงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ “สิ้นสุดยุคของเอกสารราชการและลำดับชั้นที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนแล้ว นี่คือยุคของการบริหารจัดการตนเอง” ผู้บริหารกล่าว เราจะไม่ค่อยเห็นคนมากมายในบ้านหลังนี้ และคนที่โผล่หน้ามาทักทายต่างก็อยู่ภายใต้ความกดดันว่าจะต้องทำให้ดีที่สุดอยู่ตลอดเวลา เพราะผลงานของทุกคนจะถูกติดตามและบันทึกอย่างละเอียดถี่ยิบ ผ่านไปอีกไม่กี่เดือน เมื่อเรามาเยือนบ้านหลังนี้อีกครั้ง ก็อาจไม่ได้เจอใบหน้าที่คุ้นเคยแล้ว เพราะพวกเขาเป็นแค่พนักงานสัญญาจ้าง ก็เลยหมดสัญญาไปแล้วน่ะสิ

เมื่อมาถึงบ้านหลังนี้ เราจะถูกปฏิบัติราวกับว่าเป็นลูกค้า เมื่อถามหาบริการ พวกเขาก็จะตอบกลับว่า “คำขอของคุณคืองานของเรา” เมื่อเดินเข้าไปในบ้าน ก็จะยิ่งเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สิ่งต่างๆ ที่เคยเป็นแค่ของภาครัฐ เริ่มมีเอกชนเข้ามาจับจองเป็นเจ้าของ เช่น ประปาและไฟฟ้า

  • บ้านปกครองแนวใหม่  (การจัดการปกครองสาธารณะแนวใหม่ หรือ New Public Governance)

ได้ยินผองชนร้องเพลงไหม ร่ำร้องบทเพลงแห่งความร่วมมือ?

ในบ้านหลังนี้ เราจะไม่ได้พบเห็นผู้ปกครองคลั่งอำนาจ หัวหน้าที่อยู่ในลำดับสูงสุดของระบบราชการ หรือผู้จัดการบริษัท กลับกัน เราจะได้รับการต้อนรับโดยทีมผู้ประสานงาน ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือและความเชื่อใจระหว่างภาคส่วนต่างๆ (ในบ้านหลังนี้ ภาคเอกชนไม่ได้อยู่ด่านหน้าอีกต่อไปแล้ว ภาคประชาสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาท) คนเหล่านี้ชอบเจรจา แต่พวกเขาไม่ได้แค่ชอบพูดนะ ความกระตือรือร้นของพวกเขาขับเคลื่อนโดยคุณค่าประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของพลเมือง เราอาจจะได้ยินผู้ประสานงานพูดถึงธรรมาภิบาลและการกระจายทรัพยากรให้ตอบสนองความต้องการของทุกคน เมื่อเรามาเยี่ยมบ้านหลังนี้ พวกเขาคาดหวังให้ผู้มาเยือนหยิบปากกาและกระดาษขึ้นมาเขียนไอเดียให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ใครจะไปรู้ล่ะ สักวันไอเดียของเราอาจจะเข้าไปอยู่ในวาระของบ้านก็ได้! 

  • บ้าน SDGs (การบริหารจัดการที่สมาร์ทและยั่งยืน)

แล้วเมื่อการพัฒนาของโลกดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง โลกของเราเริ่มตระหนักว่า จะรุดหน้าและวิ่งให้เร็วอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเดินหน้าอย่างยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย

บ้านหลังนี้ไม่มีกำแพง และประตูก็เปิดให้ทุกคนเข้ามาอยู่เสมอ พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งถูกแบนในบ้านหลังนี้ ตามสไตล์เกรต้า ธันเบิร์กเลยล่ะ บ้านถูกออกแบบให้เป็นแบบนี้เพื่อสร้างความยั่งยืนและบรรยากาศที่โอบรับคนทุกคน เพียงก้าวเท้าเข้ามาในบ้านแค่ไม่กี่ก้าว ก็จะเห็นได้ว่าไม่มีใครนั่งหัวโต๊ะ สมาชิกทุกคนในบ้านเท่าเทียมกันและทุกคนก็ถูกรับฟัง คนทุกคนที่เข้ามาในบ้านหลังนี้จะได้รับการสนับสนุนให้แสดงความต้องการให้เป็นที่รับรู้ 

เราจะเห็นได้ว่าทุกคนในบ้านหลังนี้ทำงานเป็นทีม ทุกคนรับฟังและไม่พูดขัดขณะที่เรากำลังแสดงความเห็น พร้อมที่จะพาเราไปหาผู้คนที่สามารถช่วยส่งเสริมเราได้ และพยายามคิดออกแบบทางแก้ปัญหาให้เหมาะกับปัญหาที่แต่ละคนเผชิญ

นี่คือพัฒนาการของการบริหารจัดการสาธารณะที่ดำเนินเปลี่ยนผ่านมาถึง 5 รูปแบบ ที่ยังมีข้อบกพร่องและยังต้องพัฒนาต่อไปไม่สิ้นสุด

เนื้อหาบทความนี้เป็นส่วนย่อจากคู่มือนวัตกรรมนโยบายที่พัฒนาร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (School of Public Policy, Chiang Mai University) สามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่นี่



งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top